ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ร่วมรณรงค์ “1 ธ.ค. วันเอดส์โลก ปี 2566” บรรจุสิทธิประโยขน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอช/เอดส์อย่างครอบคลุมทุกมิติ ปี 2566 บอร์ด สปสช. เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่ “บริการชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง” ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการ พร้อมหนุน “ทุกภาคส่วน ร่วมกัน ยุติเอดส์” เผยมี “องค์ภาคประชาสังคมที่ให้บริการด้านเอชไอวี” และ “ศูนย์องค์รวม” รวมเป็นหน่วยบริการผู้ติดเชื้อฯ แล้ว 39 แห่ง

วันที่ 1 ธ.ค. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ทุกวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAIDS กำหนดให้เป็น “วันเอดส์โลก”  เพื่อให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญและตระหนักต่อปัญหาเอดส์ร่วมกัน รวมถึงสิทธิความเท่าเทียมของผู้ติดเชื้อ โดยในปี 2566 เป็นการรณรงค์ชูคําขวัญ “ทุกภาคส่วน ร่วมกัน ยุติเอดส์” (Let Communities Lead) เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงบทบาทของชุมชนที่มีต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยยุติปัญหาเอดส์ได้สำเร็จตามเป้าหมาย
 
กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” สนับสนุนบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงการดูแลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ที่บรรจุให้บริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์เป็นสิทธิประโยชน์บริการภายใต้กองทุนฯ ช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ขณะนั้น ได้เข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยข้อมูลปี 2550 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 107,011 ราย เป็นผู้รับยาต้านไวรัส 79,185 ราย ทำให้ช่วยแก้วิกฤติสถานการณ์เอชไอวี/เอดสในตอนนั้น และช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้


 
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สปสช. มีการพัฒนาการดูแลผู้ติดเชื้อเอขไอวี/เอดส์ มาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมในทุกด้านและทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชนฺด้านการรักษา ได้แก่ บริการยาต้านไวรัสทั้งสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา บริการการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหรือติดตามการรักษา การตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เป็นต้น 
สิทธิประโยชน์ด้านการป้องกันการติดเชื้อ อาทิ บริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารก บริการให้คำปรึกษาและการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ บริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ยา PrEP) บริการป้องกันการติดเชื้อหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ยา PEP) บริการถุงยางอนามัยสำหรับผู้ที่เข้ารับบริการให้คำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจและกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่มารับบริการติดตามการรักษาที่หน่วยบริการ เป็นต้น 

“ส่วนในปี 2566 สปสช. ได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองโดยชุดตรวจ HIV Self test ซึ่งบอร์ด สปสช. ได้มีมติอนุมัติเมื่อเดือนมีนาคมทีผ่านมา เพื่อให้ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงสามารถตรวจการติดเชื้อได้ด้วยตนเอง และเข้าสู่การรักษาโดยเร็วหากผลตรวจพบเชื้อ โดยในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อและต่อรองราคา เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทาง สปสช. จะแจ้งประชาชนให้รับทราบอีกครั้ง ส่วนการบรรจุยาฮอร์โมเพื่อให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในชุดสิทธิประโยชน์ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สปสช. ได้สนับสนุนการเข้าถึงบริการให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์และกลุ่มเสี่ยง โดยขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย โดยขึ้นทะเบียนองค์ภาคประชาสังคมที่ให้บริการด้านเอชไอวี/เอดสและศูนย์องค์รวม ร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี/เอดส์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดูแลและให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ด้วยกัน ปัจจุบันมีจำนวน 39 แห่ง ซึ่งจะลดภาระงานและหนุนเสริมการทำงานของโรงพยาบาล ซึ่งจะมีความเข้าใจในปัญหา อารมณ์ และจิตใจของผู้ติดเชื้อด้วยกัน ทั้งมีศักยภาพในการติดตามผู้ติดเชื้อได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนที่นำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้ เพราะแม้ว่าวันนี้สถานการณ์เอชไอวี/เอดส์จะดีขึ้นมากแล้ว มีการเปิดรับที่มากขึ้น แต่ยังคงมีความอคติต่อผู้ติดเชื้ออยู่บ้าง ซึ่งกลไกของศูนย์องค์รวมจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาร่วมสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาในส่วนนี้       

 “เอชไอวี/เอดส์วันนี้ก็เป็นเหมือนกับโรคเรื้อรัง ไม่ร้ายแรงเหมือนในอดีต เพียงแต่ผู้ป่วยต้องกินยาต้านไวรัส ดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่ง สปสช. ก็มีสิทธิประโยชน์รองรับดูแลที่ครบทุกมิติ ข้อมูลในระบบบัตรทอง ปีงบประมาณ 2566 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง 305,527 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 102.04 ของเป้าหมาย และดูแลกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับบริการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อฯ 3,372,839 คิดเป็นร้อยละ 107.58 ของเป้าหมาย ซึ่ง สปสช. ยินดีที่จะสนับสนุนและพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติม พร้อมร่วมรณรงค์วันเอดส์โลกในปีนี้ ทั้งเพื่อให้ประเทศไทยมุ่งไปสู่เป้าหมายยุติเอดส์ ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 ให้สำเร็จ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว