ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคคาดสัปดาห์หน้าสรุปตัวเลขผู้ป่วยโควิด19 ช่วงปีใหม่ ขณะที่ก่อนเทศกาลเฉลี่ยป่วยรายใหม่ 594 คน/สัปดาห์ ย้ำ! วัคซีนโควิดฉีดกระตุ้นภูมิฯ เน้นกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก ส่วนประชาชนทั่วไปฉีดได้ยังไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่ชุดตรวจATK หากปริมาณเชื้อน้อยอาจไม่เจอ  สิ่งสำคัญคืออาการไม่รุนแรง รักษาไม่ต่างจากหวัดธรรมดา

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ว่า    ขณะนี้ต้องรอสรุปตัวเลขรายสัปดาห์ก่อนว่า ช่วงก่อนและหลังเทศกาลปีใหม่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน คาดว่าน่าจะสัปดาห์หน้าจะสรุปตัวเลขแน่ชัดว่า ผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นช่วงเทศกาลหรือไม่ อย่างไร เพราะตอนนี้ตัวเลขที่สรุปยังไม่ครบสัปดาห์ จะเป็นสถานการณ์ก่อนปีใหม่ที่มีการเก็บจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ระหว่างวันที่ 24 -30 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เฉลี่ยมีผู้ป่วย 594 คน

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันอาการโควิดไม่รุนแรง ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ยังคงปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก(WHO) คือ ฉีดกระตุ้นเฉพาะกลุ่มเสี่ยง  คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ส่วนประชาชนทั่วไปหากต้องการฉีดวัคซีนก็สามารถทำได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่กลุ่มเสี่ยงมีความจำเป็นมากกว่า 

เมื่อถามว่ากรณีประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต้องการฉีดวัคซีนโควิดต้องทำอย่างไร นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขอให้สอบถามโรงพยาบาลตามสิทธิของตนเองจะดีที่สุด

ถามต่อกรณีมีอาจารย์แพทย์บางท่านให้ข้อมูลว่า วัคซีนโควิดชนิด mRNA มีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกัน นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นรายงานวิจัยออกมา แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขยึดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำแนะนำใดๆ  ที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนดังกล่าวจำนวนมากก็ยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงที่แตกต่างไปจากเดิม  ที่ต้องถามคือ วัคซีนจะป้องกันได้มากน้อยแค่ไหนในสายพันธุ์ชนิดใดมากกว่า ซึ่งปัจจุบันเป็นการกระตุ้นก็สามารถป้องกันได้ แม้จะไม่ได้ 100% แต่ช่วยป้องกันอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวถามถึงชุดตรวจ ATK ยังตรวจเชื้อโควิดได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันบางรายตรวจพบเชื้อตอนใกล้หายป่วยแล้ว นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ชุดตรวจ ATK ยังตรวจได้สำหรับเชื้อโอมิครอน แต่บางรายตรวจไม่เจอ เพราะไม่ใช่โควิด รวมไปถึงปัจจุบันเชื้อโควิด มีอาการน้อยมาก และบางครั้งการตรวจไม่ตรงกับช่วงเวลา เชื้อโควิดมีปริมาณน้อยอาจตรวจไม่เจอ  ต้องมีปริมาณเชื้อมากพอสมควรจึงจะตรวจเจอ  บางคนป่วยมาก่อน 2-3 วันแต่เพิ่งตรวจพบเชื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะแพร่เชื้อได้ เพราะอาจเป็นซากเชื้อ หมดประสิทธิภาพในการแพร่โรคแล้ว

“ปัจจุบันเชื้อโควิดไม่ได้มีอาการรุนแรงแล้ว การรักษาก็จะเหมือนโรคไข้หวัดธรรมดา หากอาการไม่มากแทบไม่แตกต่างจากหวัดเลย” ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรมควบคุมโรคเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ภายในประเทศรายสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 24 -30 ธันวาคม 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 594 คน เฉลี่ยรายวัน 84 คนต่อวัน สะสม 38,457 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 3 คน ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 29 ธ.ค.66  พบผู้ป่วยปอดอักเสบ 120 คน ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจมี 74 คน