ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.มอบ 2 สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค “แมมโมแกรมมะเร็งเต้านม-คัดกรองพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะ” โดยตรวจได้ทุกสิทธิสุขภาพที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามเงื่อนไข ด้าน รมว.ชลน่าน ย้ำโครงการนี้หนุนนโยบาย ‘มะเร็งครบวงจร’ ช่วยเข้าถึงบริการที่จำเป็น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค

 

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม บอร์ด สปสช.  ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 2 สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข ประกอบด้วย

1. การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ปีละ 1 ครั้ง ในสตรีกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไปทุกสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม กำหนดเป้าหมายบริการตรวจคัดกรองในปี 2567 จำนวน 40,600 ราย ใช้งบประมาณ 87.36 ล้านบาท โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอของบกลางดำเนินการ

“การตรวจคัดกรองดังกล่าว เป็นการสนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจรของรัฐบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งและผู้ที่มีความเสี่ยงให้เข้าถึงบริการที่จำเป็น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค ส่วนที่กำหนดให้สิทธิบริการผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปนั้น เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงเน้นตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงเพราะจากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะอยู่ในกลุ่มอายุ 50-59 ปี มากที่สุด ซึ่งทางการแพทย์การตรวจคัดกรองญาติสายตรงต้องลบอายุจากญาติที่เป็นมะเร็งเต้านมออก 10 ปี และควรตรวจทุก 1 ปี” รมว.สาธารณสุข กล่าว

2. การตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ ด้วยการตรวจปัสสาวะ OV-Rapid Diagnosis Test (OV-มRDT) เป็นเทคนิคใหม่ที่ตรวจหาแอนติเจนหรือดีเอ็นเอก่อโรคจากปัสสาวะ ซึ่งเทคนิคเดิมเป็นการตรวจจากอุจจาระ ซึ่งหากพบความผิดปกติจะได้ทำการตรวจรักษาขั้นต่อไป เช่นอัลตราซาวด์บริเวณตับ ท่อน้ำดี เนื่องจากโรคพยาธิใบไม้ตับมีผลโดยตรงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้ และมักพบมากในผู้ชายวัยแรงงานอายุ 45-55 ปี พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ หากตรวจคัดกรองได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงและรักษาให้หายได้

ด้านนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ข้อเสนอที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบสิทธิประโยชน์ตรวจมะเร็งเต้านมในกลุ่มเสี่ยง พิจารณาข้อมูลจากผลการศึกษาการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ฯ และข้อเสนอจาก Service plan สาขาโรคมะเร็ง สธ. โดยหากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการรักษาระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตสูง (ระยะแรกที่ 1 อัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ 94.40% ระยะที่ 2 อยู่ที่ 85% ระยะที่ 3 อยู่ที่ 56.60% และระยะที่ 4 อยู่ที่ 28.30%) ผลการรักษาดี ภาวะแทรกซ้อนต่ำ และสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าโครงการตรวจคัดกรองทั้ง 2 ชนิดตรวจได้ฟรีทั้งสามสิทธิสุขภาพใช่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า  ได้ทุกสิทธิอยู่แล้ว โดยการตรวจสุขภาพดังกล่าวอยู่ในสิทธิการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่สิทธิสุขภาพใดก็ตาม ก็สามารถมาตรวจคัดกรองได้ แต่ต้องอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่กำหนด