ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแจ้ห่ม จ.ลำปาง ชี้ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง "HPV self-sampling" เป็นปัจจัยหลักเอื้อให้คัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้ครบ 100% ในพื้นที่รับผิดชอบ

วันที่ 30 ม.ค. 2567 นพ.สิปปภาส เพ็งพะยม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแจ้ห่ม จ.ลำปาง หนึ่งในโรงพยาบาลที่สามารถทำผลงานคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ครบ 100% ของกลุ่มประชากรกลุ่มเป้าหมาย กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานว่า ในส่วนของการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่เดิมเมื่อตามตัวกลุ่มเป้าหมายมาที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน มักจะมีปัญหากลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้หญิง มีความเขินอายเจ้าหน้าที่ ประกอบกับส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร แต่เวลาคัดกรองคือเวลาราชการ ทำให้ว่างไม่ตรงกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปลี่ยนมาใช้ชุดตรวจ HPV self-sampling หรือชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA test โดยการตรวจด้วยตนเองที่สามารถเก็บสิ่งส่งตรวจที่บ้านได้แล้วค่อยเอามาส่งให้โรงพยาบาลในภายหลังได้ ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่รู้สึกอายและสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจได้ในเวลาที่สะดวก จึงทำให้รับการตรวจได้มากขึ้นจนสามารถตรวจได้ครบ 100% ในพื้นที่ที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ

“ในการสื่อสาร เราสื่อสารผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยในแต่ละหมู่บ้าน อสม. 1 คนจะรับผิดชอบ 10 หลังคาเรือน เมื่อได้รับกลุ่มเป้าหมายแล้ว อสม. จะทราบดีว่าหลังคาเรือนไหนมีกลุ่มเป้าหมายบ้าง แล้วเข้าไปอธิบายเบื้องต้นให้รับทราบถึงประโยชน์ของการตรวจคัดกรอง และเมื่อกลุ่มเป้าหมายยินยอมรับการตรวจ ก็จะนัดเข้ามาพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่ออธิบายเทคนิคการเก็บสิ่งส่งตรวจและการนำส่งตัวอย่างว่าต้องทำอย่างไรบ้าง” นพ.สิปปภาส กล่าว

นพ.สิปปภาส กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ผลตรวจเป็นลบก็รอตรวจใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ถ้าผลบวก จะนัดวันไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อส่องปากมดลูกด้วย colposcopy ที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปางหรือโรงพยาบาลเกาะคา ทำให้ครอบคลุมทั้งการตรวจและการดูแล

“คีย์เวิร์ดคือ self-sampling หรือการตรวจด้วยตนเองที่ช่วยลดความอายต่อเจ้าหน้าที่และสะดวกทำได้ที่บ้าน เป็นแนวทางที่ดีมากที่ สปสช. เปลี่ยนมาใช้วิธีนี้ ทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้เยอะขึ้น” นพ.สิปปภาส กล่าว

ในส่วนของการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก จังหวัดลำปางจะแบ่งกลุ่มเป้าหมายในแต่ละอำเภอ เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายมาแล้ว ทีมงานของโรงพยาบาลก็ดูว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ในพื้นที่ไหน เช่น อายุ 11-20 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ป.5 จนถึงมัธยม รวมทั้งประชาชนทั่วไปอีกบางส่วน 

ในกรณีของนักเรียนจะใช้วิธีนัดเข้าไปให้บริการที่โรงเรียน โดยจะนัดผู้ปกครองมาด้วย เพื่ออธิบายถึงข้อดีของวัคซีนว่าจะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ขนาดไหน ถ้าผู้ปกครองให้ความยินยอมก็จะได้ฉีดให้เลย ซึ่งส่วนใหญ่หลังจากที่ผู้ปกครองได้รับรู้ข้อมูลและเมื่อเทียบราคากับการที่ต้องเสียเงินเอง ก็จะยินดีให้ลูกหลานรับวัคซีนทั้งหมด เช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนทั่วไป หลังจากที่ได้รับรู้ถึงประโยชน์ของวัคซีนก็ยินดีให้ฉีด ไม่ว่าจะมาที่โรงพยาบาล หรือที่ รพ.สต. ในพื้นที่

“การดำเนินการ ในส่วนของการตรวจคัดกรองจะไม่เร่งรัดผู้รับการตรวจ ถ้าช่วงไหนมีเวลาว่างค่อยเก็บสิ่งส่งตรวจมาให้เรา ทำให้ใช้เวลาตลอดทั้งปีงบประมาณ แต่ในส่วนของการฉีดวัคซีนใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ก็เสร็จหมด เพราะเราพยายามตอบสนองนโยบาย Quick win ของกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินงานให้แล้วเสร็จใน 100 วันแรก” นพ.สิปปภาส กล่าว

นพ.สิปปภาส กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องขอชื่นชม สปสช. เพราะการเปลี่ยนจากการตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์มาเป็น HPV self-sampling ถือเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ทำให้ประชากรหญิงกลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างรวดเร็ว ช่วยลดความเขินอาย คัดกรองง่ายและสะดวก ไม่ต้องรอให้มีอาการก่อน ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางมากขึ้น เชื่อว่าในระยะยาวจะเพิ่มอัตราการรักษามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นได้อีกมาก

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง