ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"กรมอนามัย - สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย - สช. - สสส." ร่วมมือพัฒนาและสร้างสุขภาวะปฐมภูมิด้วยการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลัก 3D เพื่อปชช.มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน     

วานนี้ 29 มกราคม 2567 แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุม “บูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายการปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมสู่การยกระดับระบบสุขภาวะที่ดีของประชาชน” ว่า การขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะปฐมภูมิด้วยการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม จะเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายกรมอนามัยในด้านการส่งเสริมให้เกิดเมืองสุขภาพดี เกิดเป็นนิเวศน์การทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกภาคการสาธารณสุขในแบบสุขภาพหนึ่งเดียว ด้วยการใช้กลไกด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมสำหรับประชาชน เกิดเป็นเมืองและชุมชนเข้มแข็งภายใต้หลักการ 3D คือ มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีพฤติกรรมอนามัยดี

ดังนั้น เพื่อการทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกันกำหนดแนวทางการ รูปแบบ กลไกการสนับสนุนภารกิจ การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมตามบทบาทภารกิจของภาคีเครือข่ายทุกระดับ ทั้งภาคการสาธารณสุข หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน

โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งเน้นการสร้างบทบาทความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ทำการควบคุม กำกับ และจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมทั้งในสถานประกอบการ ครัวเรือนให้มีมาตรฐานมีสุขลักษณะดี ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รับสิทธิพื้นฐานในการได้รับการบริการ การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน     

“ทั้งนี้ ทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมหรือทีม SEhRT ของกรมอนามัย มีนโยบายการพัฒนาและขยายเครือข่ายของทีมในทุกระดับทั้งจากหน่วยงานภาคการสาธารณสุข และหน่วยงานระดับท้องถิ่น ส่งผลให้ประชาชนอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมในช่วงเกิดภัยพิบัติได้อย่างปลอดภัยไม่มีผลกระทบทางสุขภาพ มีการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ตามกลไกการทำงานแบบมีห่วงโซ่ในทุกมิติ และครอบคลุมการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤตจากภัยพิบัติสาธารณภัยและภัยสุขภาพ นำไปสู่ข้อเสนอการพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานด้านการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในภาวะฉุกเฉิน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว