ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“3 รพ.กรมการแพทย์”  จับมือดุริยางคศิลป์ ชู “ดนตรีบำบัด” ช่วยผู้ป่วยมะเร็ง ผู้สูงอายุ ชะลอภาวะสมองเสื่อม กลุ่มฟื้นฟูสมรรถภาพ รองรับนโยบาย “สถานชีวาภิบาล-มะเร็งครบวงจร”  ชี้บางอย่างอยู่ในสิทธิรักษาฟรี แต่บางอย่างเป็นเรื่องใหม่ยังไม่รองรับ คาด mou นี้ สปสช.เห็นประโยชน์อาจนำสู่การเพิ่มสิทธิในอนาคต  

 

“ดนตรีบำบัด” ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดรักษาทางการแพทย์ให้แก่ผู้ป่วยมานาน และล่าสุดกรมการแพทย์ จับมือวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำองค์ความรู้ดังกล่าวผสมผสานการแพทย์หลักในการรักษาผู้ป่วย มาช่วยเสริมการบำบัดให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย กรมการแพทย์  พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ระหว่าง นายณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล  พญ.ภัทรา อังสุวรรณ ผอ.สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ  พญ.บุษกร โลหารชุน ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ และ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี

กรมการแพทย์ใช้ดนตรีฟื้นฟูสุขภาพกาย เริ่มผู้ป่วยมะเร็ง-ผู้สูงอายุ

พญ.อัมพร  เล่าว่า  ความร่วมมือในครั้งนี้ ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งมีดนตรี เครื่องดนตรี นักดนตรี และงานนักวิจัย ส่วนกรมการแพทย์มีแพทย์ บุคลากรสุขภาพ นักฟื้นฟู มีผู้ป่วย นำ 2 ส่วนนี้มาเสริมหนุนให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำดนตรีมาดูแลผู้สูงอายุและฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งปกติเราเข้าใจว่าดนตรีช่วยแค่ผ่อนคลาย สนุกสนาน แต่มีงานวิจัยมานานว่า ดนตรีมีความหมายต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และการเยียวยาร่างกายจิตใจ อย่างงานวิจัยในเด็กที่ว่าจะส่งเสริมให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น ต้องใช้เครื่องดนตรีแบบคีย์บอร์ด ซึ่งพบว่าทำให้ Executive Function (EF) ดีขึ้นกว่าคนไม่ได้สัมผัสดนตรีเลย

"เราสามารถนำดนตรีมาใช้แลฟื้นฟูสุขภาพกายได้ เช่น การทรงตัว อย่างฝึกการทรงตัวโดยเดินเฉยๆ กับมีดนตรีบางประเภทมาเกี่ยวข้องให้ผลลัพธ์ไม่เท่ากัน เพราะเมื่อมีดนตรีมาเกี่ยวข้องพอฟังแล้วจะมีปฏิกิริยาหรือจูงใจในการขยับทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือการได้ยินก็เป็นการเรียนรู้จังหวะที่เกี่ยวกับสมอง มีผลต่อเรื่องความจำ สมาธิ ภาษาที่ช่วยพยุงให้คงอยู่หรือดีขึ้นได้ มีผลทางสุขภาพจิต ซึ่งเราใช้ดนตรีบำบัดมานานแล้ว เช่น ความเศร้า ก็ระบายออกมาโดยแต่งเมโลดีหรือเนื้อเพลง ก็ฮีลความเศร้าได้ แม้ไม่ใช่การรักษาหลัก แต่เป็นตัวช่วยที่ดีมากๆ รวมถึงดนตรียังช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ช่วยเรื่องการผ่อนคลายและนอนหลับ" พญ.อัมพรกล่าว

อีกทั้ง ดนตรี ยังช่วยรักษาหรือเสริมกระบวนการรักษาบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยสารเสพติด ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาได้ แต่มีภาวะจิตตกหรือภูมิคุ้มกันแย่ลง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรืออายุเยอะๆ มีความพิการ ดนตรีเป็นยาใจที่นำยากายได้เป็นอย่างดี เราจึงเริ่มต้นดูแลที่ผู้สูงอายุและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย แต่อนาคตยังขยายต่อได้อีก โดยจะเชิญกรมสุขภาพจิตมาร่วมด้วย ที่สำคัญคือจะร่วมมือกับทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิจัยดนตรีแบบไทยๆ ที่จะรองรับศาสตร์ของดนตรีบำบัด เพราะงานวิจัยที่ผ่านมาจะเป็นเครื่องดนตรีฝรั่ง แนวเพลงคลาสสิก แต่ยังไม่มีว่าใช้หมอลำแล้วฟื้นฟูได้ดีไหม ก็อาจจะจับมือทำวิจัยไปด้วยกัน

ดนตรีบำบัด รองรับนโยบายรมว.สาธารณสุข “สถานชีวาภิบาล-มะเร็งครบวงจร”

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรมการแพทย์พัฒนาการบริการด้วยการใช้ดนตรีบำบัดในผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในนโยบายใดของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร กล่าวว่า หนึ่งในนั้นคือนโยบายสถานชีวาภิบาล เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ อย่างสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จะมีบทบาทเรื่องนี้ โดยเราจะนำอุปกรณ์ดนตรีต่างๆเข้าไปด้วย  เรื่องนี้ต้องใช้เวลา แต่จะมีการเดินหน้าเพื่อดำเนินการต่อไปในอนาคต และนโยบายมะเร็งครบวงจร ก็มีการนำดนตรีบำบัดเข้าไปดูแลผู้ป่วยเช่นกัน

ด้าน นายณรงค์กล่าวว่า การใช้ดนตรีเพิ่มสุขภาวะที่ดีนั้น ปกติคนใช้ดนตรีในแง่สันทนาการ แต่จริงๆ น่าจะมีประโยชน์มากกว่านั้น ถ้าเอามาประกอบกับทางการแพทย์ ดูแลสูงอายุหรือผู้ป่วยน่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น จึงมาร่วมมือกันในแง่ดนตรีบำบัด ซึ่งทำได้ทั้งการบำบัดและฟื้นฟู เช่น อุบัติเหตุทำกายภาพบำบัดอย่างเดียวอาจใช้เวลานาน การมีดนตรีด้วยอาจย่อเวลาฟื้นฟูได้ 50% เพราะคนได้ยินเสียงดนตรีจะทำให้อยากขยับตรงจังหวะ เลยบังคับกลายๆ ให้เคลื่อนไหวตัวเอง ก็ทำให้กลับมาฟื้นฟูเร็วขึ้น ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เรามีสาขาดนตรีบำบัดระดับปริญญาโท เลยมีน้องๆ เข้ามาฝึกงาน ต้องขอบคุณกรมการแพทย์ที่เปิดโอกาส แทนที่จะเรียนอย่างเดียว ก็ได้มาเจอผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และฝึกทักษะเป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนและช่วยสังคมด้วย ซึ่ง ม.มหิดลเราสนับสนุนเต็มที่เรื่อง Healthcare  และ Well being เราจึงสนับสนุนทั้งบุคลากร เครื่องมือต่างๆ ในการเอามาใช้ดูแลได้

ดนตรีบำบัด อีกทางเลือกบำบัดผู้ป่วยอัลไซเมอร์

ถามถึงการใช้ดนตรีช่วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ นายณรงค์กล่าวว่า มีการวิจัยดนตรีบำบัดกับอัลไซเมอร์มานาน ทำให้รู้ว่า ดนตรีอยู่ในส่วนต่างๆ ของสมองไม่ได้อยู่ส่วนเดียว บางทีจำลูกไม่ได้ แต่ยังจำดนตรี เพราะซ่อนอยู่ในหลายส่วน ถามว่ารักษาได้ไหม ก็รักษาไม่ได้ ถ้าเสื่อมก็ต้องเสื่อม แต่จะชะลอความเสื่อม บางทีอาจจะจำบางอย่างได้มากขึ้น จากการเชื่อมโยงส่วนที่มีอยู่กับดนตรีกับส่วนที่ยังไม่เสียไป

มีแพทย์เวชศาสตร์สูงวัยคัดเลือกผู้ป่วยใช้ดนตรีบำบัด

ถามถึงการคัดเลือกผู้ป่วยที่จะใช้ดนตรีบำบัด พญ.บุษกรกล่าวว่า เรามีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ผู้สูงอายุตรวจประเมินรายบุคคล มีการประชุมทีมผู้ให้การรักษา ทั้งแพทย์ แพทย์อายุรกรรม แพทย์ออร์โธปิดิกส์ เภสัชกร นักจิตวิทยา นักโภชนาการ เพื่อประเมินสิ่งใดมีภาวะบกพร่อง แล้วแก้ประเด็นจุดนั้น ให้โปรแกรมเฉพาะราย ซึ่งอาคารนี้สามารถตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพและเสริมส่วนที่พร่องไป และคงส่วนที่ดีอยู่ให้ยาวนานมากสุด ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งที่เราเตรียมการ ซึ่งได้ภาคีทั้ง รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรีที่เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และสถาบันสิรินธรฯ ที่เชี่ยวชาญการฟื้นฟูทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และสูงอายุ โดยจะจัดสรรการบำบัดตามการประเมินโดยแพทย์เฉพาะทาง สำหรับความร่วมมือนี้เบื้องต้นคือ 5 ปี แต่ในอนาคตสังคมสูงวัยเราหยุดไม่ได้ ทางแพทย์ก็ต้องการฝ่ายมหาวิทยาลัย ดุริยางคศิลป์ก็ช่วยเติมเต็มนักศึกษาบุคลากร เบื้องต้นเรามองว่าจะอบรมบุคลากรเราให้มีความรู้เพิ่มเติมและให้การดูแลผู้สูงอายุ และดูข้อมูลเชิงประจักษ์จากการวิจัย

ดนตรีบำบัด บางอย่างอยู่ในสิทธิรักษาฟรี บางอย่างไม่ได้  

ถามว่าจะรักษาฟรีตามสิทธิหรือไม่  พญ.อัมพรกล่าวว่า บางอย่างจัดอยู่ในสิทธิได้ แต่บางอย่างเป็นเรื่องใหม่ ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ริเริ่ม แม้บางอย่างจะเป็นการบำบัดเสริม แต่ สปสช.มีนโยบายว่า ถ้าผลลัพธ์การรักษาดีขึ้น ราคาสมเหตุสมผล สปสช.ก็จะให้การพิจารณาสิทธิประโยชน์

ถามว่าให้บริการดนตรีบำบัดช่วงไหนบ้าง พญ.บุษกรกล่าวว่า ตอนนี้ต้องขอกำลังสำคัญจากดุริยางคศิลป์เพื่อพัฒนาคนของเรา แต่เราจัดเตรียมพื้นที่อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อฝึกคนของเรา ขณะที่อีก 2 สถาบัน อย่างสถาบันสิรินธรฯ มีความเข้มแข็งมาก เพราะให้บริการมาก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึง รพ.มหาวชิราลงกรณฯ ส่วนเราเป็นสถาบันที่ 3 ที่เริ่มเข้ามา และเราให้ความสนใจ การเปิดบริการจะดูตามความเหมาะสม อาจจะสัปดาห์ละครั้งเพื่อให้เตรียมผู้สูงอายุที่พร้อมและเหมาะสมมารับบริการโดยไม่เกิดความแออัด

งานวิจัยดนตรีไทยต่อสุขภาวะคนไทย ยังไม่ได้ 100% อยู่ระหว่างศึกษา

ถามถึงงานวิจัยดนตรีไทยต่อสุขภาวะคนไทย  นายณรงค์กล่าวว่า มีงานวิจัยบ้าง แต่ยังไม่ได้ทำแบบ 100% คือความเฉพาะเจาะจงของดนตรี อย่างแต่ละจังหวัดเพลงที่คุ้นชินก็ไม่เหมือนกัน เวลาไปทำกิจกรรมอย่างนครปฐมเพลงลูกทุ่งเยอะ พอมาทางปทุมธานี มาทางเวลเนสเซ็นเตอร์ก็จะฟังเพลงอื่น ดังนั้น ดนตรีจะใช้ดนตรีแบบเดียวกันกับฝรั่งไม่ได้ คนไทยบางทีบอกให้ฟังโมสาร์ทลูกจะฉลาดขึ้น แต่ความจริงพ่อแม่เครียดทั้งบ้าน เพราะฟังไม่รู้เรื่อง จึงรู้สึกว่าต้องมีเพลงที่พ่อแม่ฟังได้ ลูกเกิดมาใหม่ก็ฟังได้ และช่วยสร้างสุขภาวะ พอเราลงพื้นที่เราจะเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ทำวิจัยจริงจังได้มากขึ้น มีผลมากขึ้น ก็จะมีต้นแบบดนตรีบำบัดให้คนอื่น

แต่ละกลุ่มอายุใช้เพลงบำบัดแตกต่างกัน

"อย่างที่ผ่านมาเราวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง อัลฟา เบตา ว่าฟังเพลงแบบไหนแล้วดีขึ้น คนที่เข้าร่วมก็จะได้ใส่หูฟัง มีคลื่นวัดแถบด้านหน้า อย่างที่วิจัยกับเด็ก 8 ขวบ ให้ฟังเพลงไทยป็อปเพลงหนึ่งก็พบว่า ทำให้คลื่นอัลฟาที่ทำให้สงบสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเพลงคลาสสิกที่เราคาดว่าจะได้ผลแบบนี้ ปรากฏว่าเพลงไทยป็อปได้ผลดีกว่า เลยเป็นที่มาว่า ที่ฝรั่งบอกอาจจะไม่ถูก 100% เราก็ต้องมาปรับ เราก็ยังวัดคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อเก็บข้อมูลมากขึ้น" นายณรงค์กล่าว

นับเป็นอีกทางเลือกในการบำบัดรักษาที่น่าสนใจ...

เรื่องที่เกี่ยวข้อง