ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตจับมือองค์กรผลิตแพทย์ แก้ปัญหาสุขภาพจิต มุ่งเป้าบูรณาการประเมินดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะการป้องกันการฆ่าตัวตายพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตแพทย์ไทย 

วันที่ 2 ก.พ. 2567 กรมสุขภาพจิตจัดประชุมการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตในนิสิต/นักศึกษาแพทย์ และวิชาชีพแพทย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มแพทย์ โดยเฉพาะการป้องกันการฆ่าตัวตาย พร้อมมุ่งเป้าบูรณาการประเมินดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมหลายหน่วยงาน อาทิเช่น แพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย โรงเรียนแพทย์ทั้ง 23 แห่ง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายแพทย์พงศ์เกษม  ไข่มุกด์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายในนิสิตนักศึกษาแพทย์ถึงแม้จะไม่มีข้อมูลสถิติแน่ชัดแต่ก็มีข่าวออกมาเรื่อยเรื่อยเนื่องจากนิสิตนักศึกษาแพทย์จะมีปัญหากดดันหลายเรื่อง เช่น การปรับตัวต่อการเรียน การปรับตัวต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ การปรับตัวต่อรุ่นพี่และอาจารย์ ซึ่งกรมสุขภาพจิต ได้ร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนานวัตกรรมระบบ DMIND ในระบบหมอพร้อม เพื่อให้คำปรึกษาผู้ประสบปัญหาโรคซึมเศร้า โดยคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม แม่นยำ เข้าถึงง่าย ใช้สะดวก ช่วยลดภาระ

ซึ่งการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตนิสิต นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ ต้องใช้ข้อเสนอแนะจากภาคเครือข่ายและมีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อค้นหา เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงและการป้องกันฆ่าตัวตาย โดยใช้ทั้งระบบปกติและระบบออนไลน์ รวมทั้งจำแนกความรุนแรงเพื่อวางแผนการดูแลรักษา ติดตามเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ การพัฒนานอกจากนี้ ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน พัฒนาอาจารย์เพื่อช่วยเหลือเด็ก รวมทั้งพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลการฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายของนิสิต ต่อด้วย DMIND นักศึกษาแพทย์ รวมทั้งวิชาชีพมีความสำคัญเพื่อให้เกิดแผนร่วมกันในการดูแลปัญหานี้

นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เนื่องจากอัตราการฆ่าตัวตายประชาชนอายุ 20-59 ปี สูงขึ้นจากปี 2563 คือ 9.34 ต่อแสน เป็น 9.78 ต่อแสน ในปี 2566 จากการวิเคราะห์เหตุปัจจัยการฆ่าตัวตาย ปีงบประมาณ 2566 พบว่า ประมาณร้อยละ 30 ป่วยโรคทางกายเรื้อรัง และโรคจิตเวชร้อยละ 21.1 ใช้แอลกอฮอล์ ร้อยละ 13.7 เคยทำร้าย เพียง 1 ใน 4 ของคนใกล้ชิดได้รับสัญญาณเตือนก่อนฆ่าตัวตาย โดยพบเป็นคำพูดหรือส่งข้อความมากที่สุด นิสิตนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ เป็นวิชาชีพสำคัญในการดูแลคนเจ็บป่วยที่เผชิญกับความเครียด ความกดดัน และความคาดหวังจากการปฏิบัติงานสูง โดยในระยะสั้นกรมสุขภาพจิตจะร่วมมือกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์ฯ พัฒนาศักยภาพให้นิสิต/นักศึกษาแพทย์ เพื่อให้การดูแลโดยเพื่อน และร่วมมือกับโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท และวิศวะ แพทย์ จุฬา คัดกรองซึมเศร้าฆ่าตัวตายในนักศึกษาแพทย์ ร่วมมือกับแพทยสมาคมฯ หาทุนวิจัยให้สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์ทำวิจัยปัญหาสุขภาพจิตในนิสิต/นักศึกษาแพทย์และจะมีการวางแผนระยะยาวต่อไป

นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การฆ่าตัวตายในวิชาชีพแพทย์ รวมถึงนักศึกษาแพทย์ แพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน ข้อมูลที่เก็บได้มีน้อยกว่าความเป็นจริงมาก แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นได้ศึกษาจนพบว่า พฤติกรรมการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยเสี่ยง มีปัจจัยกระตุ้น ด่านกั้นล้มเหลว และปัจจัยปกป้องอ่อนแอ จึงนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเกิดจากประสบปัญหาชีวิตหรือมีเหตุการณ์วิกฤติที่คิดว่าพ่ายแพ้ ล้มเหลว อาการทางจิตกำเริบ พิษจากสารเสพติด ข่าวการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีข้อเสนอแนวคิดว่าควรมีการ 1. เฝ้าระวังสังเกตสัญญาณเตือน 2. เข้าหาพูดคุยและรับฟัง 3. ประเมินสถานการณ์วิกฤติเร่งด่วนและตอบสนองอย่างฉับไว 4. ให้ความช่วยเหลือทันทีและส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ