ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกช่วงนี้เริ่มน่าห่วง! พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี มากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน 1.9 เท่า ย้ำ! ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดโดยการทายากันยุง ควบคู่กับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8,197 ราย มากกว่าปี 2566 ถึง 1.9 เท่า (4,286 ราย) และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี โดยพบมากทางภาคใต้ และภาคกลาง รายงานผู้เสียชีวิตยืนยันแล้ว 13 ราย กระจายใน 11 จังหวัด และเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 65 ปี

กรมควบคุมโรค ขอเน้นย้ำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูกยุงลายกัดสามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออก (หลังผ่านระยะฟักตัวในยุง) ให้ผู้อื่นได้ การทายากันยุงในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะช่วยตัดวงจรดังกล่าว และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออก  นอกจากนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค อย่างต่อเนื่องเพื่อลดจำนวนยุงลายรุ่นต่อไป

ด้าน พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนมีอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา เป็นต้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่นเลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา  ทั้งนี้หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน (นับจากวันที่เริ่มมีไข้) ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งโรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาเร็วจะสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422