ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข เปิดประชุมมหกรรมวิชาการฟ้าใส  เผยพิษภัยบุหรี่ ทำคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 70,000 คน ส่งผลเสียต่อ ศก. ครัวเรือนปีละกว่า 100,000 ล้านบาท   ด้านสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จัดตั้งเครือข่ายคลินิกฟ้าใส 563 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการเลิกยาสูบ ชูความสำเร็จ อภ.ผลิตยาเลิกบุหรี่ไซทิซีน

 

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี  แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมมหกรรมวิชาการฟ้าใส 2567 “ปกป้องสุขภาพของคนไทยห่างไกลควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” และมอบรางวัลเพชรนครา อวอร์ด ประจำปี 2567 ให้แก่องค์กรและบุคคลที่มีผลงานในการควบคุมยาสูบด้านต่าง ๆ จำนวน 65 รางวัล โดยมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ รศ. นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ บุคลากรวิชาชีพสุขภาพ และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอันดับ 1 ของประชากรทั่วโลก และทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึงปีละกว่า 70,000 คน ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือนปีละกว่า 100,000 ล้านบาท ปัจจุบันประเทศไทยมีกระบวนการควบคุมการบริโภคยาสูบที่เข้มแข็ง มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 35 ในปี 2532 เหลือร้อยละ 17.4 ในปี 2564 ซึ่งนับเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมของทุกภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์การควบคุมยาสูบของประเทศไทยกำลังเผชิญ

ความท้าทายจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรุ่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีรูปลักษณ์ที่เย้ายวนใจให้กลุ่มเด็กและเยาวชนทดลองสูบ โดยจากการสำรวจล่าสุด ในปี 2566 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนและสตรีเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2566 ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการแก้ไขจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างตามมา ทั้งด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า การเข้าถึงกระบวนการเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงยาเลิกบุหรี่มาตรฐาน มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ที่ได้จัดตั้งเครือข่ายคลินิกฟ้าใส เป็น one stop service ให้บริการเลิกยาสูบโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ปัจจุบันมี 563 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และขณะนี้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาเลิกบุหรี่ที่ชื่อว่า ไซทิซีน (Cytisine) ได้แล้ว จึงนับเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เข้าถึงยาชนิดนี้ต่อไป

“การดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา กระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การสนับสนุนสร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ลดจำนวนผู้สูบปัจจุบัน ป้องกันผู้สูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น สร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ฟ้า ไม่ให้หลงเชื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ” นพ.ชลน่านกล่าว

สำหรับการประชุมในวันนี้ เครือข่ายหลายภาคส่วน อาทิ เครือข่ายคลินิกฟ้าใส สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุรี่ และเครือข่ายสถานประกอบการปลอดบุหรี่ จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน ข้อมูลสถานการณ์ของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ๆ ที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้ เพื่อนำไปปรับใช้ตามบริบทพื้นที่ และเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นๆ ได้ร่วมกันสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และปลอดภัยจากพิษของบุหรี่