ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกรโรงยาท่าแร้ง จ.เพชรบุรี เผย หลังคิกออฟ "โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่" ปชช.เข้ารับบริการมากขึ้น รวมทั้งการเชื่อมข้อมูลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจ่ายยา

วันที่ 20 ก.พ. 2567 ภก.ปริญญ์ สุขเกษม โรงยาท่าแร้ง จ.เพชรบุรี เปิดเผยถึงการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อให้บริการภายใต้นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ว่า นโยบายดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อยเข้าถึงบริการจากหน่วยบริการใกล้บ้านในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงหลังเวลาราชการ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้อย่างมากกับกลุ่มผู้ทำอาชีพค้าขาย และแรงงานนอกระบบประกันสังคม

มากไปกว่านั้น ด้วยการเชื่อมโยงกันของสถานพยาบาล รวมถึงการทำให้เกิดประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้นโยบาย ได้มีส่วนทำให้เภสัชกรในร้านยาสามารถประเมินอาการ และจ่ายยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดกับผู้ป่วยได้ด้วย เพราะในประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์จะมีการระบุข้อมูลไว้ว่าผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาชนิดไหนบ้าง ไปรับบริการที่ไหนด้วยอาการอะไรมาแล้ว เนื่องจากบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยอาจให้ข้อมูลอาการของตนเองไม่ครบถ้วน

ภก.ปริญญ์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการให้บริการภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่จนถึงวันนี้ โรงยาท่าแร้งมีประชาชนมารับบริการเพิ่มขึ้นกว่า 100 คน ซึ่งก็สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ระดับหนึ่ง เพราะอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยทั้ง 16 กลุ่มอาการ เช่น ปวดหัว เวียนหัว เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง บาดแผล อาการคัน ฯลฯ จะถูกเปลี่ยนถ่ายมาที่ร้านยามากขึ้น

 
“ที่โรงยาท่าแร้งเรายังได้ให้บริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ในเรื่องการคัดกรองสุขภาพของคนไข้ เช่น โรคหัวใจ ความดัน น้ำตาลในเลือด เพื่อที่ว่าคนไข้คนไหนความเสี่ยง เราจะได้สามารถให้คำแนะนำได้ว่าควรจะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลช่วงไหน

“การที่คนไข้มารับบริการที่เราก็สะดวกกว่าแน่นอน เพราะบางคนจากบ้านไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยฯ ค่อนข้างไกล บางคนอาจห่างถึง 7 กิโลฯ เลยก็มี อีกอย่างคือเรื่องนอกเวลาราชการด้วย เพราะเราเปิดให้บริการตั้งแต่ 17.00 – 21.00 น. ในวันธรรมดา ส่วนเสาร์ และ อาทิตย์ก็เปิดตั้งแต่ 10.00 – 21.00 เลย อีกทั้งยังสามารถจองผ่านระบบออนไลน์ของหมอพร้อมได้เลยด้วย” ภก.ปริญญ์ ระบุ

ทั้งนี้ ในส่วนขั้นตอนก็ไม่ยากอย่างที่หลายคนคิด เพียงแค่ 1. หากใครสะดวกจองคิวผ่านหมอพร้อม ก็สามารถจองไว้ก่อนได้ ส่วนใครไม่จองก็สามารถมาที่ร้านยาได้เช่นกัน 2. แจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อนว่ามาด้วยอาการอะไร และต้องการใช้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3. เภสัชกรจะซักประวัติและอาการ 4. ยื่นบัตรประชาชนให้เภสัชกรเช็กสิทธิพร้อมยืนยันตัวตนเพื่อเข้ารับบริการ 5. จ่ายยาและอธิบายการใช้ยา 6. ใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตนหลังเข้ารับบริการ จากนั้นก็สามารถกลับบ้านได้เลย

ภก.ปริญญ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้น 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง เภสัชกรจะโทรหาผู้ป่วย เพื่อติดตามอาการ โดยถ้าเภสัชกรประเมินอาการแล้วไม่ดีขึ้นหรือควรไปโรงพยาบาล ก็จะมีการทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลให้ โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว 

“เรื่องการเบิกจ่ายปัจจุบันตอนนี้ก็เบิกจ่ายได้รวดเร็วภายใน 3 วันทำการก็ได้เงินเลย จากเมื่อก่อนที่ต้องรอ 15 วัน รวมถึงราคาที่ สปสช. จ่ายก็สามารถทำให้ร้านยาสามารถบริการจัดการได้ไม่มีปัญหา

“เสียงสะท้อนจากประชาชนก็ค่อนข้างดี ยาของเราก็มีมาตรฐานไม่ต่างจากที่โรงพยาบาล และเขาก็มั่นใจ และพอใจจะมารับยาที่ร้านเรา อีกทั้งพอมีการโทรติดตามอาการด้วย เขาก็ยิ่งรู้สึกว่าได้รับการดูแลที่ดีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ซื้อยาแล้วจบเลย” ภก.ปริญญ์ กล่าว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง