ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ชลน่าน" เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนขับเคลื่อน Money Safety MOPH+ ระยะที่สอง ปั้นผู้บริหารส่วนกลาง-ภูมิภาค เป็น “ครู ก.” ขับเคลื่อนแผนความปลอดภัยทางการเงิน วางแผนแก้ไขปัญหาหนี้ในหน่วยงาน แก้หนี้รายบุคคล ดูแลสวัสดิการ พร้อมสร้างความรู้ เสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ เผยระยะแรกช่วยลดดอกเบี้ย 3 พันกว่าราย รวมกว่า 1.3 พันล้านบาท 

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2567) ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) กระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “ประตูสู่ความมั่นคงทางการเงิน คิดได้ ทำได้” โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน เข้าร่วม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชนที่ยังคงเผชิญปัญหาหนี้เรื้อรังทั้งในระบบและนอกระบบ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย กระทรวงสาธารณสุข จึงเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้สินของบุคลากร โดยกำหนดเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร เนื่องจากเมื่อบุคลากรสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการมีความสุขจะสามารถให้บริการที่ดี มีคุณภาพ และส่งต่อความสุขไปยังประชาชนผู้รับบริการ รวมถึงช่วยให้การบริการสุขภาพของไทยมีความยั่งยืน โดยการดำเนินงานในระยะแรก ได้รับความมือจากธนาคารออมสินในการให้สวัสดิการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับบุคลากร ช่วยแบ่งเบาความทุกข์ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ย สามารถนำเงินที่เหลือไปชำระหนี้ หรือใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นในชีวิตได้มากขึ้น เป็นการดูแลความเป็นอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินให้แก่บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการไปแล้ว 3,041 ราย วงเงิน 1,365.78 ล้านบาท

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนระยะที่สอง กระทรวงสาธารณสุขได้รับความมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการหาแนวทางช่วยเหลือบุคลากรที่ประสบปัญหาหนี้ท่วมตัว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) หนี้เรื้อรัง หนี้นอกระบบ โดยจะเข้ามาเป็นตัวกลางให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครอบคลุมสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ต้องรู้จักและเข้าใจบริหารจัดการหนี้ให้ถูกต้อง ซึ่งผู้บริหารและผู้แทนจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ จะเป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ดูแลสวัสดิการ สร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรในหน่วยงานของตนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อพี่น้องชาวสาธารณสุข ทุกคน ทุกระดับ ทุกสาขาวิชาชีพ

ถามว่าเป้าหมายแก้หนี้ในเฟสที่สองเป็นอย่างไร  นพ.ชลน่านกล่าวว่า เฟสแรก 3 พันกว่าคน 1.3 พันล้านบาท เป็นหนี้สวัสดิการ โครงการที่สองนี้จะเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ หนี้ NPL  เราต้องการให้ครอบคลุมทุกคนที่มีภาระหนี้สิน ซึ่งตัวเลขหนี้นอกระบบไม่ได้เปิดเผย แต่พยายามดึงเข้ามาให้ได้มากที่สุด พูดง่ายๆ ทุกคนที่มีภาระหนี้ ธาคารแห่งประเทศไทยและออมสินพยายมช่วยอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนเราคนหนึ่ง มีเงินเดือนชัดเจน มีภาระหนี้สิน 6 ด้าน 6 เรื่อง เข้ากระบวนการนี้เราเชื่อมั่นว่าจะช่วยเขาได้ อย่างน้อยแก้หนี้นอกระบบได้ และมีเงินส่วนหนึ่งเหลือที่จะใช้ดำรงชีพได้ เป็นไปตามนโยบายนายกฯ โดยเฉพาะอย่างน้อยฐานเงินที่เหลืออยู่ในบัญชีไม่น่าจะต่ำกว่า 30%

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับธนาคารแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อ 

1.สร้างครู ก. ต้นแบบการขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) 

2.เสริมสร้างความรู้ทางด้านการเงิน ตลอดจนการสร้างวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี 

3.บูรณาการความร่วมมือเครือข่ายทางด้านการเงินระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้บริหารทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และเกิดการขับเคลื่อนแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงินที่สอดคล้องกันทุกระดับ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจากทั่วประเทศร่วมประชุม จำนวน 500 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารกรมต่าง ๆ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ สำนักงานเขตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งเครือข่ายสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นต้น โดยจะมีการวางแผนแก้หนี้รายบุคคล การระดมสมองเพื่อจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้ภายในหน่วยงานด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง