ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมสธ. เห็นชอบตามกรมควบคุมโรค มอบผู้ตรวจราชการฯ ทุกเขตสุขภาพ สั่ง รพ.สังกัดจัดซื้อและจ่าย ‘ยากันยุง’ แก่ผู้ป่วยไข้เลือดออก อาการไม่รุนแรง รักษาที่บ้าน ทาต่อเนื่อง 5 วัน ป้องกันยุงลายกัด นำเชื้อแพร่ยังคนอื่น หลังข้อมูลล่าสุดป่วยมากกว่าปี 66 ถึง 2.2 เท่า ชี้งบฯภาพรวมหากจัดซื้อทั้งประเทศปีละ 74.8 ล้านบาท ประหยัดค่ารักษา 214 ล้าน/ปี ลดผู้ป่วยได้ 27% และลดเสี่ยงเสียชีวิต

จากกรณีกรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์ผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นกว่า 1.9 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าไข้เลือดออก จะระบาดในปี 2567 ประกอบกับอัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในวัยทำงานนั้น

ไข้เลือดออกป่วยปี 67 มากกว่าปี 66 เวลาเดียวกันถึง 2.2 เท่า

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ไข้เลือดออก ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พบว่า ผู้ป่วยปี 2567 มากกว่าปี 2566 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน 2.2 เท่า และพบผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังพบว่าคนไข้ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก  เมื่ออยู่ที่บ้าน ไม่ได้ทายากันยุง เมื่อยุงมากัดก็นำเชื้อที่ยังมีอยู่ไปแพร่เชื้อต่อคนอื่น ซึ่งกลุ่มนี้มีอาการที่เรียกว่า เรียกว่า DF หรือ Dengue fever คือ มีเชื้อไวรัสอยู่ แต่อาการไม่รุนแรง มีไข้ปกติ เมื่อยุงมากัด จึงนำโรคแพร่เชื้อคนอื่นด้วย

นพ.ธงชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมควบคุมโรคได้นำเสนอในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และมีการเสนอต่อที่ประชุมกำหนดให้ทางโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ให้ยาทากันยุง แก่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยสงสัยโรคไข้เลือดออก ที่มีอาการไม่รุนแรง และต้องรักษาที่บ้าน โดยแนะนำให้ทายาหรือสารกันยุงป้องกันยุงกัดทุกราย เพื่อลดการแพร่โรคตลอดจนผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน และผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการระบาด

สธ.มอบผู้ตรวจฯสั่ง รพ.จัดซื้อยากันยุง

“จากนี้ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้าน จะได้รับยาทากันยุง และขอความร่วมมือขอให้ทาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 วัน ซึ่งในที่ประชุมรับทราบ และมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ทุกเขตสุขภาพ ไปดำเนินการให้สถานพยาบาลจัดซื้อ และจ่ายยากันยุงให้ผู้ป่วย หรือสมาชิกในครัวเรือน ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการหลัก เช่น การกำจัดลูกน้ำยุงลาย เป็นต้น ” อธิบดีกรบควบคุมโรค กล่าว

 

งบฯจัดซื้อไม่สูงถ้าเทียบค่ารักษาพยาบาลปีละ 214 ล้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่างบประมาณในการจัดซื้อยากันยุงจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ไม่ได้แพงมาก เพราะหากคิดทั้งงบประมาณการจัดซื้อยากันยุงทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 74.8 ล้านบาทต่อปี  แต่จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยถึง 214 ล้านบาทต่อปี  หรือลดผู้ป่วยได้เฉลี่ย 27%

เมื่อถามกรณีผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาลหรือแอดมิท นพ.ธงชัย กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล ผู้ป่วยนอนในรพ. เรามีระบบป้องกัน และมีการทากันยุงให้ผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ที่กังวลคือ ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน ต้องขอความร่วมมือในการทากันยุงด้วย อย่างไรก็ตาม ให้ทาต่อเนื่องระยะเวลาเพียง 5 วันเท่านั้น การรักษาก็จะเป็นผล เกินเวลาจากนี้ก็จะไม่มีเชื้อ  ทั้งนี้ ยังได้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในการช่วยดูแลด้วย ทั้งนี้ สำหรับมาตรการเดิมก็ยังปฏิบัติต่อเนื่อง ทั้งการควบคุมลูกน้ำยุงลาย กรณีนี้เป็นมาตรการเสริมเข้าไป

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ยังเสนอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกแห่ง เร่งรัดและกำกับติดตามการดำเนินงานของสถานพยาบาลในพื้นที่ และผลักดันให้ยากันยุงเข้าสู่เวชภัณฑ์ เพื่อการป้องกันควบคุมโรค รวมถึงการเพิ่มเติมการจ่ายสารทากันยุงในผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ในเวชปฏิบัติของแพทย์เพื่อป้องกันควบคุมโรคในแนวทางการวินิจฉัยรักษาต่อไป