ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอประกิต เปิดใจได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” หวังเป็นแรงกระตุ้นให้ตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง พร้อมเดินหน้าให้ความรู้พิษภัยของยาสูบ เผยมีการรณรงค์ต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปี แนวโน้มผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 60% เหลือ 34% แต่มีคนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองถึง 7 หมื่นคนต่อปี มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากบุหรี่ราว 1.2 ล้านคน  

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยภายหลังได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2566 รางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลที่สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยมหิดล ยกย่องให้เป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ สร้างผลงานดีเด่น เป็นแบบอย่างต่อสังคมและประเทศชาติทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ว่า ดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” ซึ่งตนได้ริเริ่ม “โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ตั้งแต่ปี 2529  หลังจากได้รับคำเชิญจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในสมัยนั้น จนกระทั่งรับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ยังดำเนินโครงการรณรงค์เกี่ยวกับบุหรี่มาโดยตลอด จนภายหลังได้เปลี่ยนชื่อจากโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เป็น “มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” มีพันธกิจสำคัญ เพื่อเผยแพร่พิษภัยยาสูบ อันตรายควันบุหรี่มือสอง ผลักดันนโยบายด้านการควบคุมยาสูบ

“ขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่าน ที่เห็นความสำคัญในสิ่งที่ผมทำเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้รางวัลที่ผมได้รับนี้ เป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญ และตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาเรื่องอันตรายและพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง  โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดนโยบายระดับประเทศขึ้น และร่วมกันบอกประชาชนว่า จงอย่านำตัวเองไปเป็นหนูทดลองให้แก่บุหรี่ไฟฟ้า” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าว  

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า บุหรี่เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยมาตลอด แม้จะมีการรณรงค์ต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปี ทำให้แนวโน้มผู้สูบบุหรี่ลดลงจากที่เคยมีชายไทยสูบบุหรี่  60% เหลือ 34% แม้จำนวนผู้สูบจะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ยังมีคนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองถึง 7 หมื่นคนต่อปี มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากบุหรี่ราว 1.2 ล้านคน แม้ว่าผู้สูบจะทราบดีว่า บุหรี่มีพิษภัย แต่ด้วยฤทธิ์นิโคตินทำให้เลิกได้ยาก อีกทั้งกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบที่พยายามเพิ่มนักสูบ ก็ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องควบคุม ไม่ว่าจะด้วยวิธีการขึ้นภาษี ควบคุมการลักลอบนำเข้า แต่ความไม่พร้อมในการควบคุมยาสูบของไทยยังมีอีกหลายด้าน ทำให้ต้องป้องกันด้วยการห้ามขาย ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยใช้มาตั้งแต่ปี 2557

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเขียนไว้ครอบคลุม แต่ยังเกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งผู้ผลิตยังพยายามออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาล่อหลอกนักสูบหน้าใหม่ บุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นสิ่งที่ระบาดในกลุ่มเยาวชนอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เสพติดนิโคตินจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ในฐานะผู้มีบทบาทด้านสุขภาพ จึงต้องช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน ที่ยังเข้าใจผิดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีหลักฐานปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วย สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก และสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคปอดอักเสบ ในคนที่อายุน้อยได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง