ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักความรอบรู้สุขภาพจิต จัดโครงการพัฒนาภาคีเครือข่าย MIT  นักสื่อสารฯ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รูปแบบการสร้างสังคมนักสื่อสารท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต โดยสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ได้รับเกียรติเข้าร่วมครั้งนี้

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567ที่ผ่านมา ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.พิษณุโลก  นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่าย นักสื่อสารสุขภาพจิต  (MIT : Mental Influence Team) พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งจัดโดยสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต  เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และเกิดกลไกการสื่อสารเพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และรูปแบบของการสื่อสารในแขนงต่างๆ ถือเป็นการสร้างสังคมนักสื่อสาร นำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายในการสื่อสารสุขภาพจิต

ภายในงานได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลการสื่อสารท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตสุขภาพจิต และกลไกการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์วิกฤตสุขภาพจิต รวมถึงนักสื่อสาร อาทิ นางเยาวภา จันทร์เหมือน ผู้อำนวยการสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) และน.ส.วารุณี สิทธิรังสรรค์ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว  และผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus  นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่เพื่อศึกษาการปฏิบัติงานของทาง รพ.จิตเวชพิษณุโลก และศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 จ.พิษณุโลก อีกด้วย

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต เห็นความสำคัญของการดูแล สุขภาพจิตของคนไทย โดยนอกเหนือจากการเฝ้าระวังสถานการณ์วิกฤตสุขภาพจิต การให้ความรู้ทางด้านสุขภาพจิต เพื่อประชาชนได้รับความรู้สุขภาพจิตอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาการสื่อสารสุขภาพจิตได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในการส่งต่อข้อมูลความรู้สุขภาพจิตไปยังประชาชน การที่จะทำให้ความรู้เหล่านั้นเป็นที่ยอมรับและติดตาม เป็นสิ่งที่กรมสุขภาพจิตยังต้องการการสนับสนุน และต้องการที่จะให้ความรู้สุขภาพจิตที่ถูกต้องส่งต่อไปยังประชาชนในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อสร้างการจดจำและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่าย นักสื่อสารสุขภาพจิต : Mental Influence Team เขตสุขภาพที่ 2 ในครั้งนี้

นพ.ภาณุ คูวุฒยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก กล่าวว่า จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะ3 - 4 ปี ได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนทั้งทางกายและทางใจ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีความต้องการที่จะเข้าถึงเรื่องของสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้น โดยทางโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลกเปิดให้บริการและมีการดูแลผู้ป่วยจิตเวชรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อนในประชาชนทุกกลุ่มวัย พระภิกษุสงฆ์อาพาธโรคทางจิตเวชและผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด การตรวจคัดกรองความเครียดด้วยเครื่อง Biofeedback , การบำบัดคลื่นสมองด้วยเครื่อง Neurofeedback ซึ่งเป็นการฝึกสมองให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น ตลอดจนมีการบำบัดปัญหาการนอน ด้วยเครื่อง Cranial Electrotherapy Stimulation(CES) และบริการให้คำปรึกษาแก่ประชาชน

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-กรมสุขภาพจิต สร้าง MIT นักสื่อสารสุขภาพจิต ดึง Hfocus ร่วมนักสื่อสารหลายภาคส่วนให้ความรู้เพียบ