สธ.เผยคนไทย 10 ล้านคน มีปัญหาสุขภาพจิต นักศึกษา “เครียด ซึมเศร้า” สูงเกือบ 30% สสส. จับมือเครือข่ายมหาวิทยาลัย สร้างกระบวนการ พัฒนานวัตกรรม ดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาอย่างเป็นระบบ ลดการสูญเสียชีวิตและโอกาสทางสังคม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวในงานประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ ครั้งที่ 2 ว่า ขณะนี้ทั่วโลกประสบปัญหาสุขภาพจิต และจิตเวช มีประชากรโลกมีปัญหาจิตเวชมากถึง 1 ใน 4 หรือ 450 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อความสามารถการใช้ชีวิต สสส. มียุทธศาสตร์สร้างเสริมสุขภาพจิต (Mental Health Promotion) ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมสุขภาพทางกาย สสส. เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตรวมถึงปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆของนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด จึงสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่าย ASEAN University Network หรือ AUN-HPN และ เครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ TUN-HPN ในการขยายเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสุขภาพทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน สนับสนุนการทำวิจัยร่วมในประเด็นสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงเวทีพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์
ทั้งนี้ การประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพฯ ในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาแนวทาง กระบวนการ และนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงปัญหาสุขภาพด้านอื่นของนิสิต นักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพลดการสูญเสียชีวิตและโอกาสทางสังคมต่อไป
ด้าน ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยมีประชากร 10 ล้านคน ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ในจำนวนนี้มี 3 ล้านคน ได้รับการรักษาในระบบสาธารณสุข ซึ่งยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ตกหล่นและไม่เข้าถึงการรักษา จากข้อมูล Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต พบสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยทุกช่วงอายุ ระหว่างปี 2563-2567 มีความเครียดสูง 8.04% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.47% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.39% เฉพาะเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดสูง 24.83% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 29.51% และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.35% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวัยทั่วไป สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียด ความเหนื่อยล้า การโดนล่วงละเมิดทางเพศบนออนไลน์ ขณะที่จิตแพทย์เด็กมีจำนวนไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย
ศ.ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ประธานคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) ประจำปี 2565 และรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีนักศึกษาประมาณ 1.7 ล้านคน ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต จากผลสำรวจประเด็นสุขภาพจิตของนักศึกษา 9,050 คน ภายใต้โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิต นักศึกษา ในมหาวิทยาลัย ปี 2565 พบนักศึกษามีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา 40% มีความรู้สึกเศร้า 30% เคยทำร้ายตัวเอง 12% เคยคิดฆ่าตัวตาย 4% และถูกวินิจฉัยว่ามีอาการจิตเวช 4.3% โดยระหว่างปี 2560-2564 มีนักศึกษาฆ่าตัวตายมากถึง 14 คน พบมากที่สุดในปี 2564 ถึง 7 ราย คิดเป็น 50% ของจำนวนนักศึกษาฆ่าตัวตายทั้งหมด และคาดว่ายังมีตัวเลขที่ไม่ถูกเปิดเผย
“เครือข่าย TUN-HPN จึงต้องมีแนวทางมีแนวทางดูแล และระบบช่วยเหลือนักศึกษาโดยทำงานร่วมกับเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุข 4 ด้าน ได้แก่ 1.ป้องกันและการส่งเสริมปัญหาสุขภาพจิต 2.ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงและมีปัญหา พร้อมส่งต่อให้หน่วยงานเครือข่าย 3.สร้างเครือข่าย ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งไร้รอยต่อ 4.สร้างความต่อเนื่องและยั่งยืน ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานช่วยเหลือนิสิต มีการประเมินผลและติดตามอย่างต่อเนื่อง” ศ.ดร.นพ.นรินทร์ กล่าว
- 2971 views