ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. ยกระดับคุณภาพชีวิต “ผู้พิการขาขาด” เห็นชอบเพิ่ม “เท้าเทียมไดนามิก” เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง ช่วยให้การเดินมีความสะดวก ขยับได้คล้ายเท้าปกติ พร้อมประสาน TCELS. ประเมินผลการใช้ ด้าน เลขาฯสปสช. ชี้เตรียมเดินหน้าต่อรองราคา

วันที่ 2 เมษายน 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. ได้มีประชุมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ “อุปกรณ์เท้าเทียมไดนามิกในบัญชีนวัตกรรมไทย” เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้พิการขาขาด นำเสนอโดย เสนอโดย รศ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข

ทั้งนี้เนื่องจากเท้าเทียมที่ใช้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเท้าเทียมที่มีโครงสร้างเป็นไม้หุ้มยางแบบไม่มีข้อเท้า หรือที่เรียกกันว่าประเภท solid ankle heel (SACH) foot โดยเท้าเทียมประเภทนี้ด้วยโครงสร้างและวัสดุจะทำให้การเดินไม่เป็นธรรมชาติ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดในปี 2565 ผู้พิการขาขาดมีมากกว่า 4.7 หมื่นคน นั่นหมายความผู้พิการในจำนวนนี้ที่ได้รับบริการขาเทียมไปอาจประสบกับภาวะดังกล่าวอยู่

เพิ่ม “เท้าเทียมไดนามิก” เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง ช่วยผู้พิการเดินได้สะดวก

ทว่า ก่อนหน้านี้การจะเปลี่ยนขาและเท้าเทียมให้เป็นชนิดคาร์บอนไฟเบอร์ไดนามิกที่จะช่วยให้ผู้พิการเดินได้สะดวกเป็นธรรมชาติมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้น ต้องอาศัยการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาที่สูงมาก อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในช่วงที่ผ่านมาทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาทดลองจนผลิตขึ้นมาได้เอง และได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทยเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะกลายเป็นข้อเสนอในโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบบัตรทอง 30 บาท หรือ ยูซีบีพี (UCBP) และทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้มีการสนับสนุนให้ทางคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาประเมินความเป็นไปได้ในการให้บริการและภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

“อุปกรณ์ตัวนี้จะเข้ามาช่วยให้ผู้พิการขาขาดหรือเท้าขาดสามารถเดินเหินได้เหมือนปกติ รวมถึงในการซ่อมบำรุงก็ไม่ได้ต่างจากอุปกรณ์เก่า สามารถบำรุงได้เหมือนเดิมตามวงรอบ โดยอายุการใช้งานยาวกว่าของที่ผลิตในต่างประเทศด้วย ที่สำคัญคือเป็นนวัตกรรมของคนไทยเราเอง เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศของเรา” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเสริมว่า จากการคาดการณ์ภาระทางงบประมาณพบว่า ต่อปีงบประมาณจะมีผู้ได้รับบริการเท้าเทียมไดนามิกประมาณ 800 ชิ้น รวมเป็นงบประมาณราว 18.68 ล้านบาท หลังจากนี้ สปสช. ก็จะนำเรื่องเข้าสู่กลไกการต่อรองราคา เพื่อให้ได้อัตราค่าบริการที่เหมาะสม รวมถึงประสานกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS. ในการติดตามประเมินผลการใช้เท้าเทียมไดนามิก หลังจากได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง 30 บาท เพื่อนำผลการประเมินไปสนับสนุนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมการผลิตเท้าเทียมไดนามิก ซึ่ง สปสช. มีคณะอนุกรรมการสำหรับติดตามนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้ภายหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมให้บริการ สปสช. จะมีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบต่อไป