ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรมควบคุมโรค ให้ความรู้ไวรัส Monkey  B  จากกรณีชายฮ่องกงถูกลิงกัด ติดเชื้ออาการโคมา ขณะที่ไวรัสนี้เป็นกลุ่มเดียวกับเริม

 

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีชายฮ่องกงถูกลิงกัด ติดเชื้อไวรัส Monkey  B อาการโคมา ทำให้เกิดข้อกังวลในไทย เนื่องจากมีลิงจำนวนมาก และมีรายงานลิงไล่กัดคน ว่า เชื้อไวรัส Monkey  B เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในตระกูลเดียวกับโรคเริม ทำให้สัตว์ตะกูลลิง เช่น ลิงกัง ลิงแสม เหมือนการป่วยโรคเริมในคน เช่น มีแผลตามปาก เยื่อบุช่องปาก ทวารเป็นต้น เชื้อนี้ก็จะปนอยู่ในสารคัดหลั่งของลิง ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม เช่น น้ำมูล น้ำลาย อุจจาระ เป็นต้น ดังนั้นคนที่ถูกกัด หรือถูกข่วนก็มีความเสี่ยงรับเชื้อจากลิงเข้าสู่ร่างกาย ส่วนโอกาสที่เชื้อนั้นจะก่อโรคนั้นขึ้นอยู่กับว่า ลิงตัวนั้นมีอาการป่วยมากน้อยแค่ไหน 

 

“หากสัตว์ป่วยมากก็มีโอกาสปลดปล่อยเชื้อจากร่างกายของเขาออกมาทางสารคัดหลั่งได้เยอะ อีกปัจจัยหนึ่งคือ แผลที่คนถูกกัด หากใหญ่ หรือลึกมากก็มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าแผลตื้น และหลังถูกกัดถูกข่วนแล้วมีการทำความสะอาดแผลถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ ไม่มีการฟอกสบู่ ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณเยื่อบุให้ครบถ้วนก็มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนที่ทำความสะอาดแผลครบถ้วน” นพ.วีรวัฒน์กล่าว

 

ทั้งนี้กรณีลิงที่ติดเชื้อ อาจจะไม่มีอาการก็ได้ แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อในคนแล้วก็มักจะมีอาการ ซึ่งมีตั้งแต่อาการน้อย เช่น เป็นแผลบวมแดง ตุ่มน้ำคล้ายเริม อาการยุบยิบ  ปวด หรือรู้สึกแปล๊บๆ ที่แผล บางคนอาจจะมีอาการที่ส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ครั่นเนื้อครั่นตัว หรือหากเป็นมากขึ้น อาจจะมีอาการอาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว สุดท้ายถ้าเป็นมากขึ้นอาจจะมีเชื้อกระจายไปที่สมอง ทำให้สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ แต่การแพร่กระจายนั้นยังไม่พบในไทย ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้หลังติดเชื้อแล้วอาการจะสามารถเกิดขึ้นได้เป็นวัน หรือสัปดาห์หลังการติดได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถใช้ยาตัวเดียวกันกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคเริมในคนได้ ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากเชื้อเข้าระบบสมอง สมองอักเสบก็มีโอกาสทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตสูง 

 

เมื่อถามถึงสถานการณ์ลิงในไทยมีเชื้อ Monkey  B หรือไม่ นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างสืบค้นข้อมูล แต่เท่าที่มีการรายงานในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สุ่มตรวจลิงสายพันธุ์พวกนี้พบว่า มีเชื้อ ประมาณ 10% บางรายงานน้อยกว่านี้ บางรายงานก็มากกว่านี้ แต่เฉลี่ยก็อยู่ที่ 10% ในการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ 

 

เมื่อถามว่า เนื่องจากเป็นเชื้อในกลุ่มเดียวกับเริม ดังนั้นมีโอกาสติดจากคนสู่คนหรือไม่ นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบ มีรายงานติดจากคนสู่คน 1 รายงาน ในต่างประเทศ ดังนั้น ถือว่าโอกาสติดจากคนสู่คนน้อยมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์สู่สัตว์ คือ ลิงสู่ลิง คนที่ไม่ได้ไปสัมผัสกับลิงก็มีโอกาสน้อยที่จะป่วยด้วยโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ในบ้านเราเองมีลิงอยู่ในชุมชนก็ต้องระวัง อย่าไปแหย่ หรือให้อาหาร เพราะเสี่ยงทำให้ลิงเกิดการแย่งอาหาร กัด และทำให้คนบาดเจ็บได้ ควรทำตามคำแนะนำของพื้นที่ 

 

ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่ได้ถูกระบุว่า จะต้องเป็นโรคเฝ้าระวัง แต่กรมควบคุมโรคก็มีการติดตาม ว่าหากมีการระบาดก็สามารถยกระดับได้ อย่างไรก็ตาม ในลิงมีหลายโรคที่สามรถก่อโรคในคนได้ ซึ่ง Monkey  B เป็นเพียงไวรัสหนึ่งตัวในกลุ่มไวรัสในลิงที่แพร่สู่คนได้ แต่ยังมีไวรัสตับอักเสบ โรคไข้เหลือง อีโบลา ฝีดาษวานร พิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแบคทีเรีย ปรสิต และพยาธิด้วย

 

“เน้นย้ำในเรื่องการทำความสะอาดแผล หากถูกลิงกัด ให้ล้างด้วยแลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หากไม่มีก็ให้ใช้น้ำสบู่ หรือน้ำสะอาดทำความสะอาดแผล โดยปล่อยให้น้ำไหลผ่านแผลประมาณ 10-15 นาที เพื่อช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อ แล้วใช้พวกเบตาดีน หรือแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด และควรไปที่โรงพยาบาลเพื่อประเมินแผล และการรับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก วัคซีนพิษสุนัขบ้า เป็นต้น”  นพ.วีรวัฒน์ กล่าว 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง