ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดฯ เตือนผู้ที่ต้องขับขี่รถยนต์เดินทางกลับบ้านสงกรานต์2567 อย่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างปัญหาทั้งตนเอง ครอบครัว และสังคม

เตือนดื่ม “น้ำเมา” ส่งผลต่อสมอง ตัดสินใจบกพร่อง

เมื่อวันที่ 12 เมษายน นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เนื่องจากเดือนเมษายนของทุกปี ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ และยังมีเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นวันหยุดยาวที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อกลับไปพักผ่อนกับครอบครัว และอาจมีการรวมกลุ่มเพื่อดื่มสังสรรค์ เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท หรือเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน บางรายบาดเจ็บ ร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นเสียชีวิต

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลต่ออวัยวะหลายส่วนภายในร่างกาย เช่น ส่งผลต่อสมอง ทำให้ความจำเสื่อม ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด ผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ชาตามปลายมือ ปลายเท้า และยังส่งผลต่อระบบหัวใจอีกด้วย เพราะเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้การเต้นและการบีบตัวของหัวใจไม่ปกติ นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงระบบทางเดินอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร หากมีเลือดออกมากอาจจะทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

ฝากผู้ชื่นชอบดื่มน้ำเมา ต้องมีความรับผิดชอบ “ดื่มไม่ขับ”  

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี(สบยช.) 
กล่าวว่า ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ควรตรวจเช็คสภาพของรถยนต์ให้พร้อมก่อนออกเดินทางทุกครั้ง และต้องระมัดระวังในการขับขี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถโดยเด็ดขาด เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสังคมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายผู้อื่น

“ฝากถึงผู้ที่ชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีความรับผิดชอบต่อคนรอบข้างและสังคมให้มาก เพราะถ้าเมาแล้วขับขี่อาจเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มีความผิดที่ต้องรับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นหากต้องขับขี่ยานพาหนะ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพื่อนหรือคนในครอบครัวควรหมั่นดูแลซึ่งกันและกัน ย้ำเตือนให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เมาไม่ขับ ช่วยกันรับผิดชอบสังคม”นพ.สรายุทธ์ กล่าว

 ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา ยา และสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165  หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.pmnidat.go.th

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง