ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การออกหนังสือส่งตัว หมายถึง กรณีอาการผู้ป่วยเกินศักยภาพแพทย์จะพิจารณาส่งตัวไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพที่สูงว่าตามภาวะความจำเป็นของโรค  แต่หากแพทย์วินิจฉัยแล้วสามารถให้การรักษาได้ จะให้การรักษาผู้ป่วยโดยไม่ส่งตัว หากมีประวัติรักษาที่หน่วยบริการอื่นแนะนำให้ขอประวัติการรักษาหรือใบสรุปการรักษาติดต่อหน่วยบริการตามสิทธิเพื่อให้แพทย์พิจารณาก่อน

ทั้งนี้ กรณีย้ายที่พักอาศัยใหม่ หรือไม่สะดวกเข้ารับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิเดิม  สปสช. เปิดช่องทางการลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ  เมื่อลงทะเบียนแล้วใช้สิทธิได้ทันทีและย้ายสิทธิ 4 ครั้ง / ปี  ( วันที่ 1 ต.ค.- 30 ก.ย. ของปีถัดไป ) ผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้
           (1) ช่องทางลงทะเบียนออนไลน์
                 • ช่องทางที่ 1 : ผ่านทาง Application สปสช. เพียงดาวน์โหลดแอป คำว่า “สปสช.” เพื่อใช้ลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ
                    ดาวน์โหลดฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ทั้งระบบ Android และ iOS
                 • ช่องทางที่ 2 : ผ่านทาง ไลน์ สปสช. แอดไลน์ สปสช. พิมพ์ค้นหา Line ID @nhso      
            (2) วิธีการใช้สิทธิเข้ารับบริการ
                 1. ติดต่อที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำของผู้มีสิทธิกรณีเกินเกินศักยภาพจะส่งตัวไปหน่วยบริการที่รับส่งต่อ
                 2. แจ้งความจำนงใช้สิทธิบัตรทองก่อนรับบริการ
                 3. แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้สำหรับเด็กใช้ใบสูติบัตร
สอบถามเพิ่มเติม โทรสายด่วน สปสช. 1330  กด 0 ให้บริการตลอด 24  ชั่วโมง (ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ)

หลายคนมีคำถามว่า... ทำไมต้องมีระบบส่งตัว ทำไมอยากไป รพ.ที่อยากไป ไม่ได้? ทำไมเมื่อไป รพ. ที่อยากไป แล้วต้องกลับไปขอใบส่งตัว?

***การขอใบส่งตัวรักษาจากคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนใช้สิทธิหรือหน่วยบริการประจำที่ผู้ป่วยเลือกไว้ เพื่อไปรักษาโรงพยาบาลเฉพาะทาง เป็นภาระที่ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผชิญมาตลอด เพราะการขอใบส่งตัวรักษา ต้องทำทุกๆ 3 เดือนจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา ซึ่งประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อกลับไปขอใบส่งตัว ซึ่งทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อกลับไปขอใบส่งตัว

แต่ปัจจุบัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีนโยบายยกระดับบัตรทอง “ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว” ทั่วประเทศ  โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ผู้ป่วยในสิทธิบัตรทองไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว ครอบคลุมหน่วยบริการทั่วประเทศ สามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีเข้ารับบริการที่หน่วยบริการในเขตหรือข้ามเขต โดยที่หน่วยบริการจะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาเหมือนในอดีต เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด สะดวกสบาย ประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย และเวลาเดินทางไปรักษา 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประชาชนยังให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก เพราะหลายพื้นที่เกิดผลกระทบหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องร้องเรียนในพื้นที่ กทม. จากการเข้ารับบริการในหน่วยปฐมภูมิเขต 13 กรุงเทพมหานคร  รวมทั้งกรณีเมื่อปรับรูปแบบการให้บริการแล้ว ทำให้ประชาชนมีปัญหาการรักษา การส่งต่อผู้ป่วยที่ยุ่งยาก และคลินิกหลายแห่งปิดตัว ไม่สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่แบบเดิม ถูกปฏิเสธขอใบส่งตัว ถูกปฏิเสธสิทธิ ถูกเรียกเก็บค่ารักษา และให้ย้ายหน่วยบริการ เป็นต้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยที่เป็นปัญหาการส่งตัวในช่วงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้นั้น เนื่องจากเมื่อมีการปรับโมเดลวิธีการจ่ายเงินใหม่ อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจ หรือข้อกังวลในการเบิกจ่ายเงิน ทำให้คลินิกมีการเรียกผู้ป่วยและทำใบส่งตัวใหม่ ขณะที่รพ.ยืนยันขอใบส่งตัวเช่นกัน เพื่อเป็นหลักค้ำประกันว่า จะได้มีการเบิกจ่ายเงินได้จริงจากสปสช. อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว สปสช.ยืนยันมาตลอดว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว เนื่องจากมีระบบเบิกจ่ายได้ และขอให้คลินิกพิจารณาทำใบส่งตัวที่ไม่กระทบต่อผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยต้องรักษาที่รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทางสปสช. จะมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาอีกครั้งว่า หากปัญหายังเกิดขึ้นจะมีการปรับเปลี่ยนระบบเบิกจ่ายอีกหรือไม่

ซึ่งปัจจุบัน วิธีการจ่ายเงินเป็น OP New Model 5 ให้เป็นงบเหมาจ่ายรายหัวที่โอนให้คลินิกชุมชนอบอุ่นทั้งก้อน โดยคลินิกฯ จะทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่และส่งต่อผู้ป่วย โดย อปสข. เขต 13 กทม. ได้มีมติตามข้อเสนอและได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา

สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานครได้เร่งบริหารจัดการและพัฒนาระบบบริการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การดูแลประชาชนในพื้นที่ กทม. โดยเริ่มจาก “หน่วยบริการปฐมภูมิ โมเดล 5” ที่เป็นรูปแบบบริการใหม่ภายใต้ระบบบัตรทอง ที่เปิดให้ผู้ใช้สิทธิสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายได้ทุกแห่ง โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นแม่ข่ายบริการ มีคลินิกชุมชนอบอุ่นและคลินิกเวชกรรมเป็นลูกข่าย ทลายข้อจำกัดในอดีตที่มีหลักเกณฑ์กำหนดให้เข้ารับบริการเฉพาะหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น โดยในส่วนค่าบริการ สปสช. ได้ปรับให้เป็นการเบิกจ่ายตามรายการบริการ (fee schedule) ที่ครอบคลุมกว่า 4,000 รายการ ทั้งในด้านรักษาพยายาบาล การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

 

ทั้งนี้สามารถติดตามข่าวสารต่อเนื่องได้ที่ https://www.hfocus.org/