ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"วัดพระบาทน้ำพุ" กลายเป็น "สถานชีวาภิบาล" ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต

“ชีวาภิบาล” เป็นการสมาสคำสองคำ คือ “ชีวา” หรือชีวิต กับ “อภิบาล” คือ การบำรุง ดูแลอย่างรอบด้าน เมื่อรวมกันจึงเป็นคำว่า “ชีวาภิบาล” ซึ่งหมายถึง การบำรุงดูแลชีวิต ดังนั้น ศูนย์ชีวาภิบาลจึงเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดูแลชีวิตของผู้ป่วย ตามหลักการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) โดยเน้นการทำงานแบบองค์รวมเพื่อให้ได้รับการตอบสนองครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกาย ด้านจิตใจอารมณ์ ด้านสังคม และด้านจิตปัญญา

สำหรับสถานชีวาภิบาลวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ถือเป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบแห่งแรกของเขตสุขภาพที่ 4 เพื่อดูแลผู้มารับบริการ ได้แก่ พระภิกษุอาพาธที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลที่วัด ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยทุกกลุ่มวัยที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคองตั้งแต่ระยะแรกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ตามมาตรฐานอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ได้เตรียมการรองรับการจัดตั้ง วัดพระบาทน้ำพุ ซึ่งเป็นวัดที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะประคับประคองมาอย่างยาวนานถึง 31 ปี  พัฒนาเป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบของเขตสุขภาพที่ 4 โดย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรีร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของเขตสุขภาพที่ 4 คณะทำงานระดับเขตสุขภาพและจังหวัดลพบุรี ได้หารือและนำเรียนการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวกับ พระราชวิสุทธิประชานาถ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 และได้เมตตาให้ใช้ “อาคารวลัยลักษณ์ วัดพระบาทน้ำพุ” ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของวัดพระบาทน้ำพุ ที่ก่อสร้าง เมื่อปี 2538 ใช้เป็นที่รักษา พักฟื้นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยดำเนินการปรับกรุง เป็นสถานชีวาภิบาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งได้มีการดำเนินงานพัฒนาสถานที่ และระบบต่างๆ ตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมภายในกลางเดือน เมษายน 2567

ทั้งนี้สถานชีวาภิบาลวัดพระบาทน้ำพุ เปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2567 โดยรับผู้สูงอายุ ติดบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยระยะท้ายทุกกลุ่มวัยตามเกณฑ์การประเมินของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและพระสงฆ์อาพาธให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยมีพระคิลานุปัฎฐากและผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงที่ผ่านการอบรม ดูแลสุขภาพผู้ป่วยแบบประคับประคอง ตั้งแต่ระยะแรกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งสถาน  ชีวาภิบาลวัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี สามารถรับรองผู้เข้ารับบริการได้ทั้งหมด 32 เตียง ประกอบด้วย ชาย 10 เตียง หญิง 10 เตียง พระภิกษุ 10 เตียง และห้อง End of life 2 เตียง

ไม่นานมานี้ วัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี ได้จัดพิธีเปิดสถานชีวาภิบาลเป็นต้นแบบเขตสุขภาพที่ 4 อย่างเป็นทางการ พร้อมขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยชีวาภิบาล” ในระบบบัตรทอง รองรับผู้ป่วยระยะท้ายในจังหวัดลพบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ให้การดูแลอย่างมีมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะท้าย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สาธารณสุข) และ พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหารเป็นประธานในพิธีเปิด

พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ กล่าวไว้ว่า วัดพระบาทน้ำพุเป็นวัดแรกที่เปิดรับดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายเมื่อ  31 ปีมาแล้ว ซึ่งตอนนั้นมีปัญหาเอดส์อย่างรุนแรง และชาวบ้านไม่ต้อนรับผู้ป่วยเลย ชาวบ้านเกิดความกลัวและรังเกียจอย่างหนัก แต่สุดท้ายเอาชนะใจชาวบ้านได้ ทำให้ทุกวันนี้จึงเป็นเหมือนกับศูนย์พักพิงของผู้ป่วยโรคเอดส์และลูกหลาน ที่วัดพระบาทน้ำพุได้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย โดยเน้นให้การดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะท้าย ปัจจุบันได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขยกระดับวัดวัดพระบาทน้ำพุเป็นสถานชีวาภิบาล เพื่อเป็นศูนย์กลางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยระยะพึ่งพิง และผู้ป่วยติดเตียง ในจ.ลพบุรี รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ตนมองเห็นอนาคตบ้านเมืองว่า จะมีผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานถูกทอดทิ้ง ได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีลูกน้อยลงหรือไม่มีลูก ไม่อยากมีลูก เด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 5 แสนคน อีก 30-40 ปีข้างหน้าประชากรเราอาจเหลือครึ่งเดียว ปัญหาผู้สูงอายุจะเกิดขึ้นมากมาย เพราะไม่มีลูกหลาน แต่โชคดีที่เรามีกระบวนการดูแลในรูปแบบของ อสม. จิตอาสาและองค์กรรัฐเอกชนที่เข้มแข็งด้านสาธารณสุข 

"คนลพบุรียินดีกับสิ่งนี้ เพราะเราเป็นศูนย์ผู้สูงอายุอยู่แล้ว มีผู้สูงอายุมาทำกิจกรรม 200-300 คน แต่อีกด้านหนึ่งผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วจนระบบสาธารณสุขเราก็คงรับปัญหานี้ไม่ไหวทั้งหมด จึงเป็นแนวคิดที่ดีที่ให้มีสถานชีวาภิบาลเหมือนวัดพระบาทน้ำพุหลายๆ แห่ง" พระราชวิสุทธิประชานาถ กล่าว

สถานชีวาภิบาล วัดพระบาทน้ำพุ มีทั้งหมด 32 เตียง เป็นชีวาภิบาลชาย 10 เตียง ชีวาภิบาลหญิง 10 เตียง กุฏิชีวาภิบาลที่ดูแลพระสงฆ์ 10 เตียง และอีก 2 เตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือกลุ่ม End of Life โดยมี รพ. พระนารายณ์มหาราช ให้การสนับสนุนและจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายได้อย่างถูกต้อง พร้อมเตรียมพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้กับพระสงฆ์ในวัดต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติแนวทางการดูแลพระสงฆ์อาพาธด้วยกันเอง และแผ่ขยายการดูแลออกไปให้มากยิ่งขึ้นด้วย