กรมสุขภาพจิต ชวนเยาวชนในเขตกรุงเทพฯ อายุ 15-25 ปี เข้าร่วมโครงการ "กำแพงพักใจ ที่พักใจให้เยาวชน" เพื่อรับบริการสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันอูก้า (Ooca) เพราะเรื่องของหัวใจไม่จำเป็นต้องผ่านไปเพียงลำพัง
วันที่ 22 เมษายน 2567 กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ร่วมกับมูลนิธิกำแพงพักใจ (Wall of Sharing), แอปพลิเคชันอูก้า (Ooca), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพฯ บูรณาการความร่วมมือ โครงการ กำแพงพักใจ ที่พักใจให้เยาวชน เพื่อให้บริการสุขภาพจิตออนไลน์ฟรีแอปพลิเคชันอูก้า (Ooca) พักพิงทางใจแต่ยังเป็นแหล่งกำลังใจที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เยาวชนและชุมชนในกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้บริการ Mental Health Check In ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 20 เมษายน 2567 พบว่าประชาชนไทย อายุต่ำกว่า 20 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ให้ข้อมูลจำนวนกว่า 1,200 ราย มีความเครียดสูง ร้อยละ 58.20 เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 61.07 และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 43.65 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถึงเป็นจำนวนที่สูง แต่ก็ยังทำให้เห็นว่าเยาวชนเหล่านั้นมีความตระหนักในการประเมินสัญญาณสุขภาพสุขภาพจิต เพื่อรู้เท่าทันต่อภาวะสุขภาพจิตของตน กรมสุขภาพจิตได้เห็นความสำคัญ จึงพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเหล่านั้นให้ครอบคลุม โครงการกำแพงพักใจ ที่พักใจให้เยาวชน เพื่อเป็นที่พักใจให้เยาวชนในกรุงเทพฯ ให้เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตคุณภาพสูงผ่านช่องทางออนไลน์ได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ภารกิจสำคัญของโครงการคือการเป็นที่พึ่งพิงทางใจสำหรับเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปีในกรุงเทพฯ โดยพัฒนาช่องทางให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตฟรีจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิกนักจิตวิทยาการปรึกษา และอาสาสมัครผู้ดูแลใจให้เยาวชน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนที่ก้าวเข้ามาจะได้รับ การดูแลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและมืออาชีพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เวลาในการอคอย และโอกาสในการดูแลสุขภาพจิต
แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายในการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตสำหรับเยาวชนจำนวน 2,500 คนในกรุงเทพฯ ด้วยบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ฟรี และยังเป็นการลดภาระในการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตโดยที่เยาวชนจะได้รับการปรึกษาติดต่อกันอย่างน้อย 4 ครั้ง จากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา 2 ครั้งและอีก 2 ครั้งในการติดตามดูแลใจ โดยทีมอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมเป็นผู้ดูแลใจ การริเริ่มนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. เขต 13 ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการหาคำตอบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการเร่งด่วนด้านสุขภาพจิตของเยาวชนไทย โครงการนี้จะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิต สร้างชุมชนแห่งความเข้าใจและเปิดประตูสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อให้กำแพงพักใจไม่เพียงแค่เป็นที่พักพิงทางใจแต่ยังเป็นแหล่งกำลังใจที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เยาวชนและชุมชนในกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน
แพทย์หญิงพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกำแพงพักใจ กล่าวว่า มูลนิธิกำแพงพักใจทำหน้าที่ผลักดันและดำเนินการโครงการนี้มาหลายปี ด้วยระบบอาสาสมัครเพื่อให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่เยาวชนผ่านระบบออนไลน์อย่างยั่งยืน แอปพลิเคชันอูก้า เป็นเครือข่ายสุขภาพจิตออนไลน์ที่มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเครือข่ายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จะเป็นหน่วยบริการและเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมต่อให้เยาวชนที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ สามารถใช้สิทธิของโครงการฯ ได้ฟรี รวมถึงการเชื่อมต่อและส่งต่อข้อมูลให้กับ สปสช.และมูลนิธิกำแพงพักใจ เพื่อประเมินและพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคตสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ร่วมให้การสนับสนุนด้านวิชาการและเนื้อหาการฝึกอบรมทีมอาสาสมัครผู้ดูแลใจเพื่อเสริมสร้างชุมชนให้แข็งแกร่งและสามารถช่วยดูแลสุขภาพจิตของเยาวชนได้อย่างยั่งยืน
รท.หญิง ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง แอปพลิเคชั่นอูก้า (ooca) และ มูลนิธิ กำแพงพักใจ กล่าวว่า จากการทำงานบุกเบิกด้านนวัตกรรมสุขภาพจิตตั้งแต่ปี 2559 อูก้ามีความพยายามที่จะร่วมสร้างทางออกใหม่ๆ ให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าถึงบริการสุขภาพจิตอย่างทั่วถึงเสมอมา นับเป็นครั้งแรกที่เราได้ร่วมผลักดันให้เทเลเมดิซีนสำหรับสุขภาพจิตที่มีคุณภาพให้เข้าถึงประชาชนได้มากยิ่งขึ้น อูก้ามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐหลากหลายฝ่ายที่ต้องการผลักดันนวัตกรรมสุขภาพจิตเพื่อสังคมของประเทศไทยต่อไป
กรมสุขภาพจิตเชื่อมั่นว่า ด้วยความมุ่งมั่นและร่วมมือกันอย่างจริงจังของทุกภาคส่วนใครที่สนใจเข้าร่วมหรือสนับสนุนโครงการนี้ สามารถเยี่ยมชมและรับข้อมูลได้ที่ www.ooca.co/wallofsharingnhso เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม รวมถึงดาวน์โหลดแอปฯ อูก้า (Ooca) ได้ที่ https:// ooca.co/wos เพื่อเริ่มใช้บริการได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2567
- 346 views