ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยข้อมูล NOAA พบ พายุสุริยะรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี กำลังมาเยือนโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ อาจส่งผลต่อดาวเทียมและกริดไฟฟ้าในประเทศแถบขั้วโลก แต่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์  ส่วนประเทศไทยแทบไม่ได้รับผลกระทบ  และไม่สามารถสังเกตเห็นแสงออโรรา

 

พายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือสดร. โพสต์เฟซบุ๊ก  NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ   แจ้งเตือน พายุสุริยะที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีจะมาเยือนโลกสุดสัปดาห์นี้ แต่ไม่เป็นอันตราย ผู้สังเกตในละติจูดสูงเตรียมพบกับออโรร่า

โดย ดร. มติพล ตั้งมติธรรม  นักวิชาการ สดร. ได้เรียบเรียงดังนี้

 

NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหรัฐที่ทำหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังพายุสุริยะ ได้รายงานการค้นพบพายุสุริยะระดับ G5 ซึ่งเป็นพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี กำลังจะมาเยือนโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เบื้องต้นเตือนถึงผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อดาวเทียม และกริดไฟฟ้าในประเทศแถบขั้วโลก แต่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์แต่อย่างใด ผู้สังเกตในแถบละติจูดสูงเตรียมพบกับแสงออโรร่าได้ตลอดสุดสัปดาห์นี้

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2024 NOAA ได้แจ้งเตือนถึงการตรวจพบพายุสุริยะที่มีความรุนแรงระดับ G4 ต่อมาได้ยกระดับพายุขึ้นเป็นระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงของพายุสุริยะที่สูงที่สุด

สาเหตุที่พายุสุริยะ รุนแรงสุดในรอบ 20 ปี

พายุสุริยะนั้นเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection: CME) มวลจากดวงอาทิตย์เหล่านี้เกิดขึ้นจากอนุภาคมีประจุ ซึ่งเมื่ออนุภาคมีประจุเหล่านี้เกิดการเคลื่อนที่ อาจจะส่งผลรบกวน และเบี่ยงเบนสนามแม่เหล็กของโลก เมื่อสนามแม่เหล็กของโลกเกิดการรบกวน จะทำให้อนุภาคบางส่วนสามารถเข้ามายังชั้นบรรยากาศด้านบนของโลกได้ เกิดเป็นแสงเหนือ-แสงใต้ ที่เราเรียกกันว่า "แสงออโรรา"

การวัดระดับความรุนแรงของพายุสุริยะนั้นสามารถวัดกันได้หลายวิธี ตั้งแต่ Kp index ไปจนถึง G-scale ซึ่งเป็นการใช้วัดระดับพายุสุริยะที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก ตั้งแต่ G1 จนถึง G5 ซึ่งพายุที่กำลังมาถึงโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ จัดเป็นพายุในระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุด เทียบเท่ากับ Kp9 โดยครั้งสุดท้ายที่มีการแจ้งเตือนพายุสุริยะในระดับ G5 นั้นเกิดขึ้นในช่วงวันฮาโลวีนของปี 2003 จึงทำให้นี่เป็นพายุสุริยะที่มีระดับรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี

โดยปกติแล้ว การปลดปล่อยมวลสุริยะของดวงอาทิตย์นั้น มักจะเกิดขึ้นจากบริเวณผิวของดวงอาทิตย์ที่มีสนามแม่เหล็กแปรปรวน เป็นเหตุให้พลาสมาจากดวงอาทิตย์สามารถหลุดและปลดปล่อยออกมาได้ จากบนโลกเราสามารถสังเกตเห็นบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กแปรปรวนนี้ ในรูปของจุดดับบนดวงอาทิตย์ ซึ่งในช่วงปีนี้นั้นสอดคล้องกับช่วง solar maximum ในวัฏจักร 11 ปีของดวงอาทิตย์ ที่จะสามารถพบจุดดับได้บ่อยที่สุดพอดี ปรากฏการณ์พายุสุริยะนี้จึงเป็นพฤติกรรมปรกติของดวงอาทิตย์ที่สามารถพบเห็นได้ และอาจจะมีพายุสุริยะอื่นๆ ตามมาอีกในช่วง solar maximum ที่เรากำลังอยู่นี้

 

แสงออโรรา อยู่สูงกว่ามนุษย์อาศัย จึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เมื่อพายุสุริยะมาถึงโลก อนุภาคที่มีประจุนี้ส่วนมากจะถูกเบี่ยงเบนออกไปโดยสนามแม่เหล็กของโลกที่คอยปกป้องโลกเอาไว้ มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถเลี้ยวไปตามเส้นแรงแม่เหล็กโลกกระทบเข้ากับชั้นบนของบรรยากาศเกิดเป็นแสงออโรร่า ในกรณีที่มีการปลดปล่อยมวลเป็นจำนวนมาก เช่นในพายุสุริยะที่มีความรุนแรง พลาสม่าในมวลสุริยะนั้นอาจจะมีอันตรากิริยากับสนามแม่เหล็กของโลก ทำให้สนามแม่เหล็กของโลกเบี่ยงเบนไป จึงอาจทำให้อนุภาคสามารถกระทบกับชั้นบรรยากาศเกิดเป็นแสงออโรราในพื้นที่ละติจูดที่ต่ำกว่าปกติได้ จึงอาจทำให้เกิดแสงออโรราเป็นวงที่กว้างกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ความสูงของบริเวณที่เกิดออโรรานั้นก็ยังนับเป็นความสูงที่สูงกว่าที่มนุษย์อาศัยอยู่เป็นอย่างมาก จึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม พายุสุริยะอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อาจจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้า เช่น ดาวเทียมสื่อสารที่โคจรอยู่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก และในบางครั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อกริดจ่ายไฟฟ้าภาคพื้นโลก

ประเทศละติจูดสูงอาจไฟฟ้าดับชั่วคราว   

สำหรับประเทศที่อยู่ในละติจูดสูง เช่นพายุสุริยะ G5 ที่เกิดขึ้นในปี 2003 นั้นส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับชั่วคราวในประเทศสวีเดน และสร้างความเสียหายให้กับหม้อแปลงไฟฟ้าบางส่วนในอาฟริกาใต้ ทั้งนี้ โดยปกติแล้วดาวเทียมสื่อสารจะมีมาตรการการป้องกันพายุสุริยะ เช่น การหันทิศทางหรือปิดอุปกรณ์ที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการเสียหาย จึงสามารถลดการรบกวนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบสื่อสารได้เป็นอย่างมาก และปัจจุบันระบบไฟฟ้านั้นก็มีมาตรการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

ประเทศไทย แทบไม่ได้รับผลกระทบจากพายุสุริยะ และไม่เห็นแสงออโรรา

สำหรับประเทศไทยด้วยตำแหน่งที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงทำให้ประเทศไทยของเราถูกปกป้องโดยสนามแม่เหล็กโลกเป็นอย่างดี พายุสุริยะในครั้งนี้จึงแทบไม่มีผลกระทบอย่างใด อย่างไรก็ตาม คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบละติจูดสูงอาจจะสามารถสังเกตการณ์แสงออโรร่าได้ตลอดช่วงสุดสัปดาห์นี้  

(สดร.โพสต์ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเทศไทย แทบไม่ได้รับผลกระทบจากพายุสุริยะ เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร จึงถูกปกป้องโดยสนามแม่เหล็กโลกเป็นอย่างดี และเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถสังเกตเห็นแสงออโรราได้”

 

นอกจากนี้ ด้วยตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว สดร. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย ปรากฏการณ์และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ ผลิตอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก ส่งไปกับยานฉ๋างเอ๋อ 7 ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station) เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ และผลกระทบ รวมถึงพัฒนาแบบจำลองเพื่อนำมาใช้แจ้งเตือนต่อสาธารณชนได้อย่างแม่นยำในอนาคต

นับเป็นการวิจัยเพื่อขยายขอบเขตความรู้ชั้นแนวหน้า ทางด้านสภาพอวกาศ (space weather) ระดับโลกซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของ สดร. ในการสร้างความร่วมมือและพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยระดับโลกของประเทศไทยต่อไป

 

เรียบเรียง: ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการ สดร.

อ้างอิง:

[1] https://www.swpc.noaa.gov/.../geomagnetic-storming-likely...

[2] https://www.swpc.noaa.gov/news/g5-conditions-observed

 

 

ทำความรู้จักระดับความรุนแรงของพายุสุริยะ

นอกจากนี้ สดร. ยังโพสต์เฟซบุ๊กเพิ่มเติมถึง ดวงอาทิตย์วันนี้  จุดบนดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ AR3664 ต้นกำเนิดพายุสุริยะที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี

ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสงเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 10:48 น. ตามเวลาประเทศไทย แสดงให้เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ AR3664 บริเวณซีกใต้ของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 15 เท่า รวมถึงจุดขนาดเล็กอีกหลายจุด บริเวณซีกเหนือของดวงอาทิตย์

AR3664 ไม่ใช่จุดบนดวงอาทิตย์ทั่ว ๆ ไป แต่เป็นจุดที่เกิดขึ้นบนผิวของดวงอาทิตย์และขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กลายเป็นหนึ่งในจุดที่ใหญ่ที่สุดและเต็มไปด้วยกิจกรรมมากที่สุดที่เห็นในวัฏจักรของดวงอาทิตย์รอบนี้ ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ให้ความสนใจอย่างมาก แต่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) เริ่มสังเกตเห็นว่าบริเวณจุด AR3664 เกิดการลุกจ้า (Solar Flare) และมีการปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ (CMEs) ออกมา ซึ่งคาดว่าจะมีการปะทุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ และในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 NOAA ได้แจ้งเตือนถึงการตรวจพบพายุสุริยะที่มีความรุนแรงระดับ G4 ต่อมาได้ยกระดับพายุขึ้นเป็นระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงของพายุสุริยะที่สูงที่สุดตามข่าวนั่นเอง

การวัดระดับความรุนแรงของพายุสุริยะในที่นี้เรียกว่า G-scale แบ่งออกเป็น G1, G2, G3, G4 และ G5 โดยไล่ระดับความรุนแรงน้อยที่สุดจาก G1 ไปจนถึง G5 ซึ่งรุนแรงมากที่สุด ครั้งสุดท้ายที่มีการแจ้งเตือนพายุสุริยะระดับ G5 นั้นเกิดขึ้นในช่วงวันฮาโลวีนของปี 2003 จึงทำให้นี่เป็นพายุสุริยะที่มีระดับรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี

ความรุนแรงระดับ G5 นี้อาจส่งผลกระทบต่อดาวเทียม และกริดจ่ายไฟฟ้าในประเทศแถบขั้วโลก แต่ไม่ส่งผลอันตรายต่อมนุษย์ ในขณะเดียวกันจะสามารถพบเห็นแสงออโรราได้เป็นบริเวณกว้างกว่าปกติ จากที่จะสังเกตเห็นได้ในแถบขั้วโลกหรือบริเวณประเทศในแถบละติจูดสูง ๆ ครั้งนี้ประเทศที่อยู่ถัดลงมาก็อาจจะมีโอกาสได้เห็นกันมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย แทบไม่ได้รับผลกระทบจากพายุสุริยะ เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร จึงถูกปกป้องโดยสนามแม่เหล็กโลกเป็นอย่างดี และเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถสังเกตเห็นแสงออโรราได้

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพ จาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง