ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคในพื้นที่ กทม. ชวนคลินิกเอกชนทั้ง 7 ประเภทสมัครขึ้นทะเบียนร่วมเป็นหน่วยบริการ หวังเพิ่มจำนวนหน่วยนวัตกรรมเป็น 3,000 แห่ง ภายในปี 67

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมออนไลน์ผ่านระบบ zoom ชี้แจงแนวทางยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาที่หน่วยนวัตกรรม 7 ประเภทในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีคลินิกเอกชน 7 ประเภท ประกอบด้วย คลินิกเวชกรรม, คลินิกการพยาบาล, คลินิกทันตกรรม, คลินิกกายภาพบำบัด, คลินิกแพทย์แผนไทย, คลินิกเทคนิคการแพทย์ และร้านยา ซึ่งยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการของ สปสช. เข้าร่วมรับฟังนโยบายการขึ้นทะเบียน การเบิกจ่าย และแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเชิญชวนให้หน่วยบริการเหล่านี้เข้ามาร่วมให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองได้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับจนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องค่ารักษาพยาบาล ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่ารถ ค่าเสียโอกาสในการทำงาน เป็นต้น ขณะเดียวกัน พบว่าประชาชนบางส่วนนิยมไปรับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งที่อาการเจ็บป่วยนั้นสามารถรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ตนได้ลงทะเบียนไว้ได้ 

รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการขยายหน่วยบริการ โดยเพิ่มสถานพยาบาลที่เป็นคลินิกเอกชนต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งคลินิกเหล่านี้อยู่ใกล้ชิดชุมชนและประชาชนมักไปรับบริการอยู่แล้ว โดยเริ่มนำร่องระยะที่ 1 ใน 4 จังหวัดเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะขยายในขณะนี้เป็นระยะที่ 3 ครอบคลุม 45 จังหวัดแล้ว พบว่าประชาชนให้การตอบรับและใช้บริการมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คลินิกทันตกรรมที่ จ.แพร่ พบว่าประชาชนไปรับบริการที่คลินิกมากขึ้น จำนวนผู้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลลดลง ทำให้ทันตแพทย์เฉพาะทางมีเวลาดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และบางคลินิกจะทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาล เช่น คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเทคนิคการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลจะกระจายผู้ป่วยให้ไปรับบริการที่คลินิกเหล่านี้ และจากการเยี่ยมคลินิกกายภาพบำบัดก็พบว่าช่วยให้ผู้ป่วยระยะกลาง เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพและกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากขึ้น

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมให้บริการในระบบบัตรทองของคลินิกเอกชน สปสช. จะเป็นผู้จ่ายชดเชยค่าบริการให้ตามรายครั้งของการ โดยมีรอบการจ่ายภายใน 3 วันทำการ อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ กทม.มีความแตกต่างจากต่างจังหวัด เพราะมีประชากรเยอะและมีลักษณะชุมชนเมือง ดังนั้น สปสช. จะพยายามให้ข้อมูลหรือตอบคำถามให้มากที่สุดเพื่อให้ทางคลินิกได้รับข้อมูลที่เพียงพอและตัดสินใจเข้าร่วมให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองร่วมกับ สปสช. โดยครั้งนี้ สปสช.ได้เตรียมความพร้อมให้มีคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมมากขึ้น 

ด้าน ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่ กทม. มีสัดส่วนคลินิกเอกชนค่อนข้างมาก แต่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองอาจจะยังเข้าไม่ถึง ดังนั้น สปสช. จึงขอเชิญชวนทางคลินิกเอกชนทั้ง 7 ประเภทเข้ามาร่วมให้บริการ โดย สปสช. จ่ายเงินให้แทนประชาชนและในการทำงานจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลบริการเพื่อเบิกจ่ายค่าบริการภายใน 72 ชม. ซึ่งนอกจากให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. แล้ว คลินิกเอกชนยังสามารถให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีทะเบียนบ้านต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานหรือมารับบริการในพื้นที่ กทม. ได้ด้วย โดยใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียว ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่ไหนก็สามารถใช้บริการได้ ซึ่งมีนวัตกรรมบางรายการที่ได้ดำเนินไปแล้วคือ ร้านยา คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น และคลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น สำหรับ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่นจะเริ่มดำเนินการในเร็วๆ นี้ 

พญ.น้ำเพชร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีคลินิกเอกชนทั้ง 7 ประเภทใน กทม. ประมาณ 10,000 แห่ง มีคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายแล้วประมาณ 1,000 แห่ง ซึ่ง สปสช. ตั้งเป้าว่าจะขยายเพิ่มให้ได้เป็น 3,000 แห่ง ภายในปีนี้

ทั้งนี้ คลินิกเอกชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในเครือข่าย สปสช. สามารถสมัครผ่านระบบออนไลน์ที่ https://ossregister.nhso.go.th/ โดยจะเป็นการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ในทุกขั้นตอน