ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดจวนผู้ว่าฯโคราช ปรับปรุงบ้านพักเก่า ให้เป็นที่พักคอยผู้ป่วยมะเร็ง รอการฉายแสง ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา เผยแต่ละเดือนมีอย่างน้อย 500 เคส จากพื้นที่ห่างไกล ต้องเดินทาง หาที่พัก เพื่อรอการรักษา

ด้วยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายขนาดใหญ่ มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง ผู้ป่วยจากจังหวัดอื่น ๆ จึงเดินทางมารักษาโรคมะเร็งจำนวนมาก ในแต่ละเดือนจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ต่ำกว่า 500 คน เป็นผู้ป่วยในจังหวัดราว 200 คน มาจากจังหวัดอื่นในเขตสุขภาพที่ 9 เช่น ชัยภูมิและบุรีรัมย์ ประมาณ 300 คน  

นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา มีจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของทั้งเขตสุขภาพที่ 9 จึงมีผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องเข้ารับการฉายแสงจากทั้งในและนอกจังหวัด เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งการรักษาจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลจึงมีความยากลำบากในการเดินทาง รวมทั้งหาที่พัก 

แม้การฉายแสงในแต่ละครั้งจะใช้เวลาเพียง 10-15 นาที แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาฉายแสงเป็นประจำ อาจใช้เวลา 15 วันถึง 1 เดือน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก การนอนพักคอยที่โรงพยาบาลอาจเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยคนอื่นได้

"แต่เดิม รพ.มหาราชฯ ได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วน นำเงินมาจากมูลนิธิ รพ. มอบให้คนไข้เพื่อเป็นค่าที่พัก แต่ไม่อาจช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง บางครั้งอาจได้ที่พักที่ไกล ทำให้การเดินทางมาฉายแสงไม่สะดวก อีกทั้งที่พักใกล้กับโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การเลือกที่พักให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย และความสะอาด เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งติดเชื้อได้ง่าย"

ปรับปรุงอาคาร 2 หลังในจวนผู้ว่าฯ เป็นที่พักคอยผู้ป่วยโรคมะเร็ง

นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

นพ.ประวีณ กล่าวอีกว่า ตนจึงได้ปรึกษากับนายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีความห่วงใยผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเดินทางไกล และต้องหาที่พักคอย จึงได้ให้อาคารบ้านพักของรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (หลังเก่า) และอาคารบ้านพักเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ รพ.มหาราชฯ ได้นำไปปรับปรุงอาคารทั้ง 2 หลัง ให้เป็นที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง อีกทั้งโรงพยาบาลจะช่วยรับส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและญาติอีกด้วย

"นโยบายนี้มีประโยชน์อย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยจากพื้นที่ห่างไกลได้มีที่พักรอรักษาที่ปลอดภัย ปลอดเชื้อ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายอีกด้วย" นพ.ประวีณ กล่าว

สำหรับอาคารทั้ง 2 หลัง จะแยกชายหญิง ใช้ห้องน้ำแยกกันเพื่อความเป็นส่วนตัว ภายในอาคารยังมีเครื่องใช้พื้นฐาน เช่น ไมโครเวฟ และพัดลม มีความปลอดภัยเพราะอยู่ภายในจวนผู้ว่าฯ ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากร่างกายผู้ป่วยจะมีความอ่อนแอ

การปรับปรุงอาคารบ้านพักภายในจวนผู้ว่าฯ และบ้านพักของรองผู้ว่าฯ ที่ไม่ได้ใช้งาน ให้เป็นที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการ ทั้ง รพ.มหาราชนครราชสีมา  โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ประปาเทศบาลนครฯ คาดว่า บ้านพักของรองผู้ว่าฯ จะเสร็จเป็นหลังแรก ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง