ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

SEATCA จัดประชุมประเทศอาเซียน ระดมสมองหาข้อสรุปร่วมกัน ปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า "หมอประกิต" ย้ำสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในไทยรุนแรง สูบง่าย ติดง่าย อันตรายต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว สถาบันยุวทัศน์ฯเผยร้านค้าใช้บริการส่งของทันที ผู้ขับขี่ไม่รู้ว่าส่ง "บุหรี่ไฟฟ้า"  

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance – SEATCA) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นำเยาวชน นักสาธารณสุข และนักวิชาการ จาก 10 ประเทศในอาเซียน เข้าร่วมประชุมที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
 
ดร.ยูลีซีส โดโรเทโอ ผู้อำนวยการบริหาร SEATCA กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไป ทั่วโลกได้ทำผิดพลาดในการปล่อยให้บริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ออกมาขาย จากข้อมูลการติดบุหรี่ไฟฟ้าของวัยรุ่นในปัจจุบัน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เกิดการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ตอนนี้ทุกรัฐบาลมีโอกาสตัดสินใจขั้นเด็ดขาดที่จะห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ก่อนที่มันจะระบาดไปมากกว่านี้ 

สถานการณ์ทั่วทวีปเอเชีย อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของวัยรุ่น (อายุ 13-15 ปี) เพิ่มขึ้นมากกว่าการสูบบุหรี่แบบเดิม ในมาเลเซีย (ข้อมูลปี 2565) ร้อยละ 24 ของเด็กผู้ชายสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ ร้อยละ 6 ในเด็กผู้หญิง ในฟิลิปปินส์ (ข้อมูลปี 2562) เด็กผู้ชายร้อยละ 20.9 สูบบุหรี่ไฟฟ้า และ เด็กผู้หญิงสูบร้อยละ 7.5 ส่วนประเทศไทย พบว่าเด็กผู้ชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 20.2 และ เด็กผู้หญิงสูบร้อยละ 15 (ข้อมูลปี 2565)

ดร.เด็กซ์เตอร์ กัลบัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นพันธกิจของรัฐบาลทุกประเทศ ในการส่งเสริมให้ประชากร โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน มีสุขภาพดี เราต้องทำงานร่วมกับเยาวชน เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง เพื่อสู้กับบริษัทบุหรี่ที่ให้ข้อมูลที่บิดเบือนมาโดยตลอด ต้องร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดบุหรี่ทุกรูปแบบ 

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ปีนี้ ได้กำหนดธีมวันงดสูบบุหรี่โลกว่า "ปกป้องเด็ก ๆ จากการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ หยุดโกหกได้แล้ว" เนื่องจากการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้ามาที่เด็กและเยาวชน โดยรายละเอียดของการรณรงค์มุ่งหวังให้เยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อน อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการแทรกแซง ควบคุมการตลาดทั้งหมด จากข้อแนะนำนี้ SEATCA ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียน แลกเปลี่ยนบทเรียนและมาตรการในการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีเยาวชนและผู้ทำงานควบคุมเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเข้าร่วมกันเพื่อระดมสมอง นำเสนอแนวคิด เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า

"สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยค่อนข้างรุนแรง จริง ๆ แล้ว ไม่น่ามาถึงจุดนี้ได้ แม้จะมีการห้ามแล้ว แต่ก็สอบตกเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การขายบุหรี่ไฟฟ้าพบเห็นได้มากทั้งวางขายทั่วไป และขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พร้อม เช่น ในต่างจังหวัด มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการดูแล" ศ.นพ.ประกิต กล่าวและว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองเด็กนักเรียนประถมปลายและมัธยม 4 พันกว่าคน และครู/ผู้บริหารโรงเรียนกว่า 1 พันคน พบว่า

  • 93.0% ขอให้รัฐบาลเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายตามช่องทางต่าง ๆ
  • 95.3% ขอให้กระทรวงศึกษาเร่งให้ความรู้พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า
  • 91.5% ขอให้รัฐบาลคงกฏหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า

ศ.นพ.ประกิต เพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลไทยยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า สถานการณ์จะยิ่งแย่ จะมีการขายที่ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เหมือนกับบุหรี่มวน ปัญหาสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้า คือ การเสพติดในกลุ่มเด็ก เพราะบุหรี่ไฟฟ้าสูบง่าย ติดง่าย จึงเกิดปัญหาสุขภาพมากกว่าบุหรี่มวน เกิดอันตรายจากสารเคมีแบบเฉียบพลัน ส่งผลให้เกิดปอดอักเสบ แม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ไม่นาน เพียง 2-3 ปี ก็พบการอักเสบแล้ว การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนในระยะยาวอีกด้วย

"อุตสาหกรรมยาสูบจะไม่ยอมหยุดไม่ว่าจะกรณีใด จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ธุรกิจที่ขายนิโคติน ซึ่งเป็นสิ่งเสพติดและเป็นอันตรายอยู่รอดและรุ่งเรือง ลูกหลานของเรากำลังตกอยู่ในอันตรายของบุหรี่รูปแบบใหม่ หรือที่รู้จักกันในหมู่วัยรุ่นว่า “พอด” (Pod) รัฐบาลไทยต้องยืนยันไม่แก้กฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องเยาวชนจากการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต" ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าว

ขณะที่ นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย  ตัวแทนเยาชนไทย กล่าวว่า สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำการสำรวจระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 ในเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี 61,688 คน พบว่าภาพรวมของเยาวชนทั่วประเทศ 25% เป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด พบ 5 เขตสุขภาพที่เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าภาพรวมระดับประเทศ ได้แก่ 

  • เขต 9 ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34.58% 
  • เขต 3 กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34.45% 
  • เขต 4 สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34.2% 
  • เขต 8 อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34% 
  • เขต 13 กรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไฟฟ้า 32.3% 

แม้กรุงเทพฯ จะอยู่ในลำดับที่ 5 แต่เขตสุขภาพที่ 13 มีเพียงกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดเดียวเมื่อเทียบกับเขตสุขภาพอื่น

นอกจากนี้ ยท. ยังร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนก่อนได้รับโทษคดียาเสพติด 300 คน (ผลสำรวจปี 2566) อายุเฉลี่ย 17 ปี พบเคยสูบบุหรี่มวน 95.4% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 84.5%  และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3%  ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 30.5% จึงน่ากังวลว่า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นสาเหตุหลักของการเข้าถึงยาเสพติดชนิดอื่น   

"ยท.ยังได้ทำการสำรวจการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต ภายในรัศมี 500 เมตร ใกล้กับสถานศึกษา พบร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามากถึง 72 ร้าน หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไปปราบปราม ร้านค้าปิดไปร้อยละ 40 แต่ไม่นาน เมื่อมีการสำรวจอีกครั้ง เพียง 3 เดือน ร้านเหล่านั้นกลับมาใหม่ ส่วนออนไลน์เด็กไม่ค่อยซื้อแล้ว เพราะมีข้อจำกัดสูง เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีแบตเตอรี่ เมื่อเจอกับความร้อนระหว่างขนส่งอาจทำให้ระเบิดได้ แพลตฟอร์มออนไลน์จึงเป็นแค่ช่องทางประชาสัมพันธ์ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การใช้เดลิเวอรี่หรือแมสเซนเจอร์ ส่งของ จัดส่งได้ทันที ผู้ขับขี่ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่นำไปส่งคือ บุหรี่ไฟฟ้า ผู้ส่งมักจะอ้างว่าเป็นมือถือ" นายพชรพรรษ์ กล่าว

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนนี้ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและมาตรการในการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังระบาดหนักในหมู่เด็กและเยาวชน รับกับวันงดสูบบุหรี่โลกที่จะมาถึงในปลายเดือนนี้ โดยร่วมกันหารือและเสนอมาตรการในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ ที่ผลิตอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ของเล่น อุปกรณ์การเรียน และขนมหวาน และใส่รสชาติต่าง ๆ เข้าไป ปัจจุบันพบว่ามีมากกว่า 16,000 รสชาติ ส่วนใหญ่เป็นรสลูกกวาดและผลไม้ อีกทั้งทำการโปรโมตสินค้าเหล่านี้ทางออนไลน์เพื่อหลอกล่อเด็กและเยาวชนให้ติดนิโคติน