ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

​สช.ระดมภาคีเครือข่ายร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพ เสนอเชิงนโยบาย “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” เสนอ 5 มาตรการ ทั้งการสร้างความรับรู้โทษภัย-บังคับใช้กฎหมายจริงจัง เตรียมประชุม คสช. ช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนเสนอ ครม. เป็นนโยบายต่อไป
 
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” โดยสมาชิกสมัชชาสุขภาพที่เข้าร่วม ซึ่งประกอบไปด้วยภาคีเครือข่ายหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน/ประชาสังคม ได้ร่วมกันมีฉันทมติเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) และสาระสำคัญประกอบกรอบทิศทางนโยบายของการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า


 
สำหรับกรอบทิศทางนโยบายดังกล่าว มุ่งเน้นการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยดำเนินการตามที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) เห็นชอบตาม “มาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย” เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งประกอบไปด้วย 5 มาตรการที่สำคัญ ทั้งนี้ ได้แก่

1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2. สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 3. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า โดยที่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกและต้องดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก


 
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิกฤติบุหรี่ไฟฟ้าเรียกได้ว่าเป็นสึนามิที่ถาโถมเข้ามาในสังคมไทย เพราะเป็นปัญหาที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและมีอำนาจทำลายล้างสูง โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนของประเทศ ซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทุกฝ่ายได้ให้ฉันทมติเห็นชอบร่วมกันในวันนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อเดินหน้าป้องปราม และปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทยให้เป็นรูปธรรมได้ต่อไป

ในส่วนของสาระสำคัญรวม 6 ข้อ ภายใต้ทิศทางนโยบายนี้ ไม่ว่าจะเป็น 1. สร้างความตระหนักรู้ถึงภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องและทันเหตุการณ์ มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สถานศึกษาทุกระดับทุกสังกัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 2. เฝ้าระวังและกำกับการนําเสนอเนื้อหาสาระและการผลิตสื่อต่างๆ มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ 3. เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังมากขึ้น มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมศุลกากร และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4. สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ชุมชน มาร่วมสนับสนุนป้องกันการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5. เป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ของรัฐ 6. คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนําเข้าและจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบ ตลอดจนนําไกด์ไลน์ของ WHO กำหนดเป็นมาตรการภายในประเทศ มีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง
 
ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า แนวทางทั้งหมดนี้มาจากกระบวนการทำงานทางวิชาการกว่า 5 เดือน ที่ทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ได้รับฟังความคิดเห็นและกลั่นกรองข้อเสนอจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่างเป็นแนวทางข้อเสนอแก่หน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินนโยบาย ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะกรรมการฯ จะนำประเด็นและข้อเสนอเพิ่มเติมที่ได้จากเวทีสมัชชาฯ ไปปรับเนื้อหามติให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก่อนเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำมตินี้ไปมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

“สิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมาย เพราะไทยเรามีกฎหมายที่ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครอง ซึ่งความจริงไทยถือว่าทันสมัยมาก เพราะเป็นเพียง 1 ใน 4 ประเทศที่มีกฎห้ามนำเข้า มาตั้งแต่ช่วงปี 2557 ก่อนที่ปัจจุบันจะมีเพิ่มเป็น 43 ประเทศ เพราะเขาล้วนเห็นถึงโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่ดีและเราอยากให้รัฐบาลยังคงกฎหมายห้ามนำเข้านี้ไว้ แต่อาจจะต้องกลับมาขันน็อตในส่วนของการบังคับใช้ ที่เราอาจยังไม่เข้มงวดมากพอ เพื่อให้การปราบปรามเป็นไปได้อย่างจริงจัง” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ

 

ขณะที่ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย รองประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้มีการหารือร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญต่อการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าไปแล้วในหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์และการขนส่งสินค้า กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการสร้างการรับรู้ การสื่อสาร และการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนยังมีการเรียนรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายออนไลน์จากสิงคโปร์ และฮ่องกง ทำให้ได้เห็นภาพรวมจุดแข็ง จุดอ่อนต่างๆ มากขึ้น ก่อนที่จะมีการเรียบเรียงออกมาเป็นแนวนโยบายที่นำเสนอในครั้งนี้

“ในมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเรื่องนี้ เราพยายามเขียนเนื้อหาให้ครบในทุกระบบ ทุกมิติ ที่จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่กระทบต่อเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การขับเคลื่อนในเรื่องนี้ยังเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำแนวปฏิบัติข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบของ WHO ที่ว่าด้วยการปกป้องการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบ มาดำเนินการเพื่อให้การควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ” ผศ.ดร.ลักขณา ระบุ

 
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เชื่อว่าเรื่องนี้กำลังเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญและให้ความสนใจ เพราะเป็นปัญหาที่เราจะเห็นได้ว่ามีการแพร่ระบาดมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ แม้จะมีกฎหมายบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปี ตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครอง ห้ามสูบในที่สาธารณะ

 
“สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้ามีความน่าเป็นห่วงมาก เพราะธุรกิจพวกนี้กะกินยาว โดยมุ่งตลาดไปที่เด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ยิ่งโดยเฉพาะประเทศเรามีประชากรเกิดน้อยลง การพัฒนาคุณภาพก็ต้องมาให้ความสำคัญและดูแลกันมากขึ้น ซึ่งมติและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ที่ได้รับมาในวันนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่การเกิดเป็นนโยบาย มาตรการ รวมถึงการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องสุขภาพลูกหลานของเราต่อไป” นพ.สุเทพ ระบุ