ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต พัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย (TSAT) ฉบับแรกของประเทศไทย ประเมินเด็กประถม 6-12 ปี เรื่องความบกพร่องของการเรียนรู้ ให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว สามารถพัฒนาให้มีศักยภาพต่อไป

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาด้านการใช้แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย Thai Standardized Achievement Test (TSAT) โดยมี นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวรายงาน นางสุภาวดี นวลมณี นายกสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ภายในงานมีนักจิตวิทยาคลินิก อาจารย์มหาวิทยาลัยจากทั้งภาครัฐและเอกชน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประมาณ 70 คน

แบบทดสอบ TSAT ประเมินความบกพร่องการเรียนรู้ ฉบับแรกในไทย

นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเด็กในประเทศไทยมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น โดยปัญหาสุขภาพจิตนั้นแบ่งตามกลุ่มวัย กลุ่มต่าง ๆ ก็มีปัญหาที่แตกต่างกันตามช่วงวัยและพัฒนาการ การดูแลและเลี้ยงดูเด็กต้องใส่ใจตั้งแต่วัย 0-6 ปี ให้มีวัคซีนใจ ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ      

กรมสุขภาพจิตจึงมุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ทั้งการพัฒนาทักษะชีวิตและความฉลาดทางสังคม การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยเชิงรับและเชิงรุก ป้องกันปัญหาการล้อเลียนกันในโรงเรียน ค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงอย่างทันท่วงที และดูแลคุ้มครองเด็กกลุ่มป่วยอย่างถูกต้อง เท่าเทียม ทั่วถึง ต่อเนื่องจนหายทุเลา โดยเฉพาะการค้นหาและช่วยเหลือ

"กลุ่มที่มุ่งเน้น คือ ช่วงประถมศึกษา 6-12 ปี เรื่องความบกพร่องของการเรียนรู้ ซึ่งทักษะพื้นฐาน ได้แก่ ฟังพูดอ่านเขียน โดยชุดทดสอบนี้จะช่วยในการประเมินว่ามีความบกพร่องในการเรียนรู้อย่างไร เมื่อทราบแล้วจะสามารถดูแลรักษาต่อไปได้ ต้องขอขอบคุณและชื่นชมจิตแพทย์ ทีมนักจิตวิทยาคลินิกโรงพยาบาลสวนปรุงและคณะ ที่ได้พัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับผู้เรียนไทย หรือ TSAT ขึ้น ซึ่งใช้เวลาพัฒนากว่า 3 ปี จนเป็นแบบทดสอบมาตรฐานฉบับแรกในประเทศไทย ซึ่งการประเมินด้วยแบบทดสอบนี้จะใช้เวลาทำประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า" นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า แบบทดสอบนี้จะช่วยให้นักจิตวิทยาคลินิกในประเทศไทยทั้งในระบบสาธารณสุขและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้มีเครื่องมือในการช่วยค้นหาเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้วยการวินิจฉัยที่ถูกต้องจากจิตแพทย์ ช่วยลดผลกระทบทั้งทางจิตใจ ทางการเรียนและทางสังคม และนำเข้าสู่การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ช่วยให้เด็กในกลุ่มที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว สามารถพัฒนาให้มีศักยภาพต่อไป

11 แบบทดสอบย่อย มีเกณฑ์มาตรฐาน ระบุได้ถึงปัญหาความบกพร่องทางการเรียนรู้

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีแบบทดสอบที่มีมาตรฐานเพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะดังกล่าวสำหรับเด็กไทยโดยเฉพาะ โดยพัฒนาแบบทดสอบตามทฤษฎีการวัดผล ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาและการรู้คิด และอิงกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ มีเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถระบุได้ถึงปัญหาความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งด้านการอ่าน การเขียนและการคำนวณ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากกรมสุขภาพจิต 

แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย ใช้เพื่อวัดความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็กไทยช่วงอายุระหว่าง 6–12 ปี ประกอบด้วย แบบทดสอบย่อย 11 แบบทดสอบ ได้แก่ 

  1. การอ่านคำ 
  2. การแก้โจทย์คณิตศาสตร์ 
  3. การสะกดคำ 
  4. การผสมเสียง 
  5. การเขียนประโยค 
  6. ความคล่องในการอ่าน 
  7. การคำนวณ 
  8. การอ่านจับใจความ 
  9. ความคล่องในการเขียน 
  10. การอ่านออกเสียง 
  11. ความคล่องในการคำนวณ 

รวมถึงได้มีการจัดทำ “คู่มือแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเรียนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการอ่าน การเขียน และการคำนวณ” โดยนักจิตวิทยาคลินิกและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปใช้ในการตรวจประเมินเด็ก หากพบปัญหาจะได้ส่งต่อเข้าสู่การวางแผนการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลสวนปรุง ตั้งเป้าหมายว่า การพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาด้านการใช้แบบทดสอบ TSAT จะเป็นรุ่นนำร่องเพื่อนำเครื่องมือไปใช้ตรวจวินิจฉัย โดยสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทยจะได้ยกระดับและนำไปใช้ในการดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

"ความบกพร่องทางการเรียนรู้" อาจนำสู่ปัญหาเชิงสุขภาพจิตและพฤติกรรม

นางสุภาวดี เสริมว่า เครื่องมือนี้ช่วยสนับสนุนการทำงานด้านวิชาการได้อย่างดี โดยการอบรมในครั้งนี้จะช่วยให้นำเครื่องมือไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโรงเรียนต่าง ๆ สามารถส่งมาขอรับคำปรึกษา ให้ช่วยประเมินวิเคราะห์เด็กแต่ละคนได้ หากทราบรายละเอียดจะส่งข้อแนะนำเบื้องต้นให้ครูการศึกษาพิเศษดำเนินการ ส่วนครูทั่วไปหากเห็นผลการทดสอบว่า เด็กมีข้อจำกัดก็อาจช่วยด้วยระบบการเรียนการสอนที่ดูแลเป็นพิเศษ  

ด้านแพทย์หญิงจรรยพร เจียมเจริญกุล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ความบกพร่องทางการเรียนรู้จะส่งผลโดยตรงต่อการเรียนของเด็กและอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงสุขภาพจิตและพฤติกรรมตามมาได้ เช่น เด็กอาจมีความไม่มั่นใจในตนเอง มองตนเองในแง่ลบ รู้สึกตึงเครียดและกดดันจากการเรียน มีความวิตกกังวลได้ง่าย อาจส่งผลต่อการปรับตัวเข้ากับสังคม และอาจนำมาซึ่งโรคซึมเศร้าได้ในอนาคต การค้นหาและช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและนำเด็กเข้าสู่การรักษาอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

ในฐานะจิตแพทย์การวินิจฉัยเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมีความสำคัญในการวางแผนช่วยเหลือเด็กประถมวัย แต่ยังขาดเครื่องมือที่มีความตรงและความเชื่อมั่นที่ดีของแบบทดสอบ ทั้งในด้านของความสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาของไทยในปัจจุบัน และขั้นตอนการพัฒนาที่น่าเชื่อถือ จึงได้ร่วมกับกลุ่มงานจิตวิทยาโรงพยาบาลสวนปรุง/อาจารย์ในภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนักวิชาการอิสระ พัฒนาแบบทดสอบดังกล่าว โดยได้ทบทวนวรรณกรรมในทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษาในการสอนกลุ่มสาระวิชาภาษาไทยและวิชาคณิตศาสตร์ รวมถึงครูการศึกษาพิเศษ นักกิจกรรมบำบัดและนักแก้ไขการพูด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และนักจิตวิทยาการศึกษามาให้คำแนะนำแก่ทีมวิจัยในการสร้างข้อคำถามของแบบทดสอบเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับหลักสูตรขั้นพื้นฐานในปัจจุบันและครอบคลุมเนื้อหาสาระการเรียนการสอนในห้องเรียน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง