ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ 2 รมต.”  สธ.และยุติธรรม ถกเข้มดึงผู้เสพ 1 แสนคนที่ตกหล่นต้องเข้าบำบัด หวังใช้สาธารณสุขนำผู้เสพคืนกลับสังคม ชงศาลเพิ่มเงื่อนไขสั่งบำบัด รู้ผล 90 วัน  นายกฯ สั่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจติดตามงานยาเสพติด หารือทุกสัปดาห์ มีปลัดสธ.ร่วม ขณะที่ “สมศักดิ์” ยัน รพ.-ชุมชนพร้อมรับบำบัดดูแล  ส่วน “ทวี” ย้ำนโยบาย 1 ผู้เสพซัดทอด 1 ผู้ขายเป็นของสาธารณสุข อยากให้จัดการผู้ค้า ชี้ปัญหาการศึกษา มีส่วนทำคนติดยา

 

ตามนโยบายรัฐบาลเตรียมประกาศปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องการลดจำนวนปริมาณถือครองยาบ้า 5 เม็ด เหลือ ยาบ้า 1 เม็ด พร้อมทั้งให้เตรียมแนวทางรองรับการบำบัดรักษา และคืนสู่สังคม โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567

(“สมศักดิ์” เคาะยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ พร้อมขยายผลจับผู้ขาย -เปิดรับฟังความเห็นเว็บ สธ.)

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวหลังการประชุมหารือแนวทางการจัดการผู้เสพยาเสพติดที่ศาลสั่งคุมประพฤติตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  ผู้เสพหรือผู้ติดได้ผ่านขั้นตอนดำเนินการของศาลมาแล้ว โดยศาลสั่งคุมความประพฤติ แต่ไม่ได้ให้บำบัด ซึ่งของเก่าประมาณ 3-4 ปีมีประมาณ  1 แสนราย โดยหากไม่ได้บำบัด ก็จะมีปัญหา ประกอบกับนโยบายรัฐบาลให้ดูแลครบถ้วน จึงต้องนำ 1 แสนรายเข้ามาบำบัดในขั้นตอนที่เกี่ยวกับกระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม ฯลฯ เรื่องนี้ต้องทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดำเนินการใน  1 แสนรายนี้ และกระบวนการที่ศาลไม่ได้สั่งให้บำบัด ก็ต้องมาหารือถึงการปรับกฎหมาย หรือการเพิ่มการดำเนินงาน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมครบถ้วน

“ใน 1 แสนคน ไม่ใช่ผู้เสพที่เป็นสีแดง สีส้มไปทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว ซึ่งต้องคัดกรองและดำเนินการเข้าสู่บำบัดรักษา มีทั้งสถานพยาบาล ธัญญารักษ์ หรือมินิธัญญารักษ์ หรือเข้าสู่ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่สีเขียวก็จะเข้าบำบัดในชุมชนที่เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx “ นายสมศักดิ์ กล่าว

1 ผู้เสพ ขยายผล 1 ผู้ขาย และขยายต่อ 1 ผู้ผลิต

เมื่อถามกรณีไอเดียที่ว่า 1 ผู้เสพ ขยายผล 1 ผู้ขาย และขยายต่อเป็น 1 ผู้ผลิต นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้เสพ 1 เม็ด ถ้าสมัครใจบำบัดรักษา ก็ไม่ต้องขึ้นศาล แต่ผู้เสพต้องบอกให้ได้ว่า ซื้อยามาจากใคร เพราะกฎหมายระบุถึงการสอบสวนให้ลึกในรายละเอียด ตำรวจต้องไปดำเนินคดีกับผู้ค้ารายดังกล่าว และคำนวณรายได้ และยึดทรัพย์ตามกฎหมาย ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของศาลก่อน ตรงนี้จะสามารถจับได้ถึงกระบวนการขาย และผลิต เพื่อดำเนินคดี และได้คุยกับผู้บัญชาการ ป.ส. แล้ว ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และหากผู้ค้าดัดแปลง อย่างมีการทำเป็นแพคๆ ก็จะเป็นผู้ผลิต ตรงนี้ผู้เสพก็จะไม่ถูกดำเนินคดี ไม่ต้องมีประวัติ แต่หากครอบครองโดยไม่ใช่ผู้เสพ ก็จะขึ้นศาล

เมื่อถามต่อว่าจะมีความปลอดภัยต่อครอบครัวผู้เสพหรือไม่ หากไปบอกแหล่งขาย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มีกระบวนการปกป้องเรื่องความปลอดภัย ซึ่งระบบ ป.ป.ส.มีบล็อกเชนอยู่ อีกอย่างการตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ใช่มีแต่ผู้เสพ ยังมีการตรวจสอบอื่นๆด้วย

“นอกจากนี้ ในเรื่องการแจ้งเบาะแส ยังมีเงินรางวัลแจ้งด้วย อย่างประชาชนทั่วไปก็สามารถแจ้งมาได้ ป.ป.ส.ปิดข้อมูลเป็นความลับ คนแจ้งได้รางวัล 5% ซึ่งป.ป.ส.ต้องทำความเข้าใจต่อสาธารณชน ส่วนกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรามี อสม.กว่า 1 ล้านคน สามารถมาช่วยเฝ้าระวังได้ ซึ่งหากเราไม่กลัว คนค้าก็จะอยู่ไม่ได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายกฯ สั่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจติดตามงานยาเสพติด  

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เราติดตามเร่งรัดเรื่องการป้องกันยาเสพติด ซึ่งปัญหากลุ่มผู้เสพเดิมที่ติดยาอยู่ โดยที่ผ่านมาไม่มีเรื่องการส่งตัวบำบัดรักษา ปัญหาคือ กลุ่มนี้ยังอยู่ในชุมชน ในหมู่บ้าน จึงต้องเร่งแก้ปัญหา ช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ โดยหลักการต้องใช้แพทย์และสาธารณสุขนำ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มาเพื่อรับกติกาอย่างชัดเจน โดยส่วนหนึ่งต้องบำบัดรักษาในชุมชน แต่จะมีกระบวนการติดตามช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขากลับสู่ชุมชน และชุมชนต้องไม่เดือดร้อนด้วย ซึ่งการดำเนินงานตรงนี้จะต้องทำให้ได้ผลภายใน 3 เดือน หรือ 90 วัน

“ขณะนี้ท่านนายกฯ ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ มาเร่งรัดติดตาม มีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม ตำรวจ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน มาประชุมติดตามทุกสัปดาห์ว่าเป็นอย่างไร” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

เมื่อถามว่า ที่บอกว่าก่อนหน้านี้ ศาลเคยมีคำสั่งบำบัด แต่ปัจจุบันไม่สั่งแล้ว เพราะอะไร พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เราใช้กฎหมายอาญา เนื่องจากว่า ศาลมองว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 บอกว่า การที่ศาลสั่งบำบัดต้องเป็นผู้สมัครใจบำบัด คือมีทางเลือกให้ศาลสั่ง เลยสั่งคุมประพฤติแทน แต่ทางเราก็มีพ.ร.บ.บังคับบำบัด ดังนั้นถึงอย่างไรก็ต้องนำเข้าสู่การบำบัด และเป็นการบำบัด 3 วัน ในหมู่บ้าน ที่มาหารือกันวันนี้ เพื่อปิดช่องโหว่ จึงให้กรมคุมประพฤติขอให้ศาลเพิ่มเงื่อนไขในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 (4) ให้นำตัวเข้าระบบการบำบัด เบื้องต้นก็คือผู้ถูกคุมประพฤติเดิม 1 แสนคน

เมื่อถาม ก่อนหน้านี้มีข้อกังวลเรื่องนักโทษยาเสพติดล้นคุก พอจะปรับมาเป็นการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 1 เม็ด จะยิ่งทำให้คนเข้าคุกเยอะขึ้นหรือไม่ แล้วการรองรับตรงนี้เป็นอย่างไรบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เนื่องจากปัญหายาเสพติดเป็นพลวัต ขณะนี้ชุมชนเดือดร้อน แล้วกฎหมายยาเสพติดจะมี ข้อหาการครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งเราจะใช้จำนวนเท่าไหร่ก็ติดคุก 2 ปี ถ้าครอบครอง โทษสูงสุด 15 ปี เดิม เรากำหนด 5 เม็ด เป็นการครอบครองเพื่อเสพ ถึงอย่างไรก็ต้องถูกจับ แต่ศาลลงโทษไม่เกิน 2 ปี วันนี้มา 1 เม็ด การลงโทษก็อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่ที่สำคัญคือ โทษ 2 ปี อยู่ในอำนาจของศาลแขวง คือไม่ต้องทำสำนวน แต่เอากระดาษแผ่นเดียวฟ้องได้เลย แต่ถ้าต่อไปนี้ สมมติ 2 เม็ด เราถึงว่า เป็นข้อหาครอบครอง ตามกฎหมายใหม่จำคุกไม่เกิน 15 ปี พนักงานสอบสวนต้องทำสำนวน แล้วเอาตัวไปฝากขังได้ 70 กว่าวัน

ก.ยุติธรรม ชี้ปัญหาการศึกษา ทำให้คนติดยาเสพติด

“ในทางปฏิบัติช่วงวิกฤติตอนนี้เมื่อเอาคนกลุ่มนี้มาก็จะทำให้เรือนจำเพิ่มขึ้น เราต้องไปวางแผนรองรับ เพราะขณะนี้เราต้องการแยกผู้ต้องหาเด็ดขาด เราจะมีเรือนจำโครงสร้างเบา บางแห่งที่ต้องมาพัฒนาเตรียมหารตรงนี้ เพราะเราชั่งน้ำหนักแล้ว เราไม่อยากให้สังคม ชุมชนมีความเดือดร้อน วันนี้ตัวเลขที่พบใหม่ คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่อยู่ในการคุมประพฤต 82% มีการศึกษาต่ำกว่าที่รัฐกำหนด ให้เรียนฟรีถึงม.6 แต่คนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเรียนถึงแต่ม.ต้น เรื่องการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ดังนั้น ต้องให้คนกลุ่มนี้ โดยในเรื่อนจำซึ่งมีกฎหมายว่า เรือนจำต้องจัดการศึกษาให้ หากอายุเยอะก็ต้องฝึกอาชีพ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่า การบำบัดในชุมชนจะทำให้กลับมาเสพซ้ำน้อยกว่าอยู่ในเรือนจำ อย่างเท่าที่มีตัวเลข 2 แสนกว่าคน พบว่ากว่า 61% เป็นการติดคุกซ้ำจากปัญหายาเสพติด เราพบช่องว่างว่า เราหักดิบเขาเกินไป เอาเข้ามาอยู่ในเรือนจำแล้วไม่ได้ให้ยา ไม่ได้ฟื้นฟู ดังนั้นจึงมีมาตรการใหม่ในการฟื้นฟู บำบัด รักษาทางจิตใจ เพิ่มการศึกษา เพิ่มอาชีพให้กลับสู่งสังคมได้ คนรุ่นใหม่เมื่อกลับตัวได้ก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม ประเทศต่อไปได้ ในส่วนนี้รัฐต้องเข้าช่วยชุมชนให้เข้มแข็งด้วย

ย้ำ! ไม่ว่ากี่เม็ด ไม่เคยยกเว้นโทษ  

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปรับการครอบครองยาบ้า 5 เม็ดสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง แล้วหากปรับมาเป็นครอบครองไม่เกิน 1 เม็ด มีการคาดการณ์สถานการณ์อย่างไรบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องการปรับกฎหมายเหลือ 1 เม็ด กำลังทำความเห็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการป้องกัน ปราบปรามจับกุมนั้น ขอย้ำว่าที่ผ่านมาไม่ได้รับการยกเว้นเลย แต่สังคมมีการเข้าใจผิด ไม่ว่าจะเป็น 5 เม็ด หรือ 1 เม็ด เพื่อจะแยกในการตั้งข้อหาครอบครองเพื่อเสพ พนักงานตำรวจไม่มีสิทธิเอาใครบำบัดได้ แต่เป็นหมวดการบำบัดรักษา ของระบบสาธารณสุข เราให้ดุลพินิจแพทย์สำหรับบุคคลสมัครใจบำบัด โดยมีเกณฑ์ข้อหาเล็กน้อย 5 เม็ด หรือ 1 เม็ด แต่การปราบปราม จับกุมไม่มีข้อยกเว้น แต่คนกลับไปเข้าใจผิด คิดว่ามี 1 เม็ดไม่ถูกจับ แต่ที่จริง 1 เม็ดก็มีโทษจำคุก 2 ปี

“ทวี” ย้ำ 1 ผู้เสพซัดทอด 1 ผู้ขาย เป็นแนวคิดรมว.สธ.

เมื่อถามต่อว่า กรณีปรับเป็น 1 เม็ด และมีนโยบาย 1 ผู้เสพ ซัดทอด 1 ผู้ขาย มีข้อกังวลว่า จะทำให้เกิดการฆ่าตัดตอนเหมือนตอนประกาศสงครามยาบ้า ในยุคนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อันนี้เป็นแนวคิดของ รมว.สาธารณสุข ท่านอยากให้จัดการผู้ค้า จึงอยากให้คนกลุ่มนี้ให้ข่าวสาร แต่ในเรื่องของการหาข่าว การจับกุม เราจับทางอากาศได้ ไม่ได้จับกุมจากการซักข้อมูลบุคคล  มีการใช้เทคโนโลยี เช่น เมื่อได้ตัวมา รู้ว่าใครก็ใช้ระบบเทคโนโลยีเข้าไปดูว่ามีใครเป็นเครือข่ายบ้าง อันนี้คือพยานหลักฐานด้วยซ้ำไป ซึ่งเราเองก็จะมีมาตรการคุ้มครองพยานอยู่

ส่วนที่บอกว่า เมื่อจับคนเสพมาแล้ว ต้องซัดทอดให้ได้ว่าซื้อมาจากใคร ไม่ใช่นโยบายของป.ป.ส.แต่อาจจะเป็นแนวคิดในการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเราก็จะรับฟัง

รมว.ยุติธรรม ชี้มีระบบตรวจสอบใครค้ายา มีเทคนิค มี CCTV

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ ว่า เมื่อพูดคำนี้ออกมาแล้ว เมื่อคนเสพถูกจับกุมแล้ว ซึ่งคนขายก็จะรู้ด้วย อาจจะทำให้ผู้เสพ หรือครอบครัวเขาเกิดอันตราย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า วันนี้ที่พูดก็ไม่มีอะไร ต่างไปจากกฎหมาย แต่ท่านบอกว่า คนเสพยอมซื้อมา จึงอยากรู้ว่าใครเป็นคนขายให้ ซึ่งทางตำรวจ ทางป.ป.ส. จะมีเทคนิกในการสืบสวน สอบสวนอยู่แล้วว่ามาจากใคร แล้วตอนนี้บนอากาศ รอบตัวเรามีกล้องวงจรปิด (CCTV) หมด

มีกระบวนการคุ้มครองพยาน 

เมื่อถามย้ำว่า ผู้เสพ เมื่อเข้ามาอยู่ในมือกระบวนการยุติธรรมแล้วจะมีความปลอดภัย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “ปลอดภัย” เราแค่ยืมหูยืมตา ไม่ได้อ้างชื่อเขา