ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายกัญชาฯ ขอจับตาอนาคต ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะเป็นอย่างไร ผลกระทบวงกว้างที่ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ แต่ยังรวมถึงลูกจ้าง พนักงาน ต้องตกงาน... ขณะที่ภาคธุรกิจระดมพล 28 พ.ค.นี้ ยื่นหนังสือนายกฯ

ทันทีที่ “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และให้สัมภาษณ์สื่อถึงนโยบายที่จะดำเนินการ ก็ชัดเจนว่าต้องการเดินหน้ารื้อกฎกระทรวง ทั้งจำนวนถือครองยาบ้า 5 เม็ด เหลือ ยาบ้า 1 เม็ด และแก้ประกาศกระทรวง ดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการก่อนหน้านี้

ประกอบกับเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ยังมีการประชุมการเร่งรัดการจัดทำกฎหมายและอนุบัญญัติของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการพิจารณากฎหมายต่างๆของกระทรวงฯ และแน่นอนต้องรวมถึง ประมวลกฎหมายยาเสพติด เฉพาะในส่วนการบำบัดและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด โดยมีอนุบัญญัติที่จะต้องออกตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 9 ฉบับ ขณะนี้เสร็จแล้ว 8 ฉบับ เหลือ 1 ฉบับ ที่ประชุมคาดว่า จะแล้วเสร็จเดือนกันยายนนี้ โดยมีนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธานคณะทำงาน แสดงให้เห็นว่า เรื่องยาบ้า และกัญชา จะเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีอย่างแน่อน...

แต่สิ่งที่ต้องจับตามองในประเด็นกัญชา ที่นายสมศักดิ์ เมื่อได้กำหนดทิศทางเรียบร้อยแล้ว การสื่อสารได้มอบให้ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เป็นโฆษกกัญชา ทำหน้าที่สื่อสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ หมายความกลายๆว่า จากนี้ขั้นตอนต่างๆ หากสื่อจะถามข้อมูลให้สอบถามที่ “หมอวรตม์” เพราะขั้นตอนจากนี้จะเป็นไปตามกระบวนการทางราชการ และตามกฎหมายที่กำหนด แสดงว่า มีแนวโน้มนำกลับเป็นยาเสพติดประเภท 5 หรือไม่ หรือจะมีความพยายามจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ ขึ้นอีกฉบับ หรือจะปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในขั้นกรรมาธิการฯก่อนหน้านี้

ยังคงเป็นคำถามของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุน หรือฝ่ายคัดค้าน อย่างฝ่ายเห็นด้วยกับนโยบายนำกัญชา ตีกลับเป็นยาเสพติด อย่าง เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ 63 คน ลงชื่อสนับสนุน และยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขณะที่นิด้าโพล ทำการสำรวจความคิดเห็นว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนำกลับเป็นยาเสพติด

ส่วนฝ่ายคัดค้านนโยบายดังกล่าว อย่าง เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย นำโดย นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ได้เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ.มารับด้วยตนเอง  รวมถึง รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ประธานหลักสูตรกัญชาเวชศาสตร์และสมุนไพรทางการแพทย์ วิทยาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็มายื่นคัดค้านนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ 63 คนลงชื่อหนุนรัฐบาลนำ “กัญชา” กลับคืนเป็นยาเสพติด ยก 6 เหตุผลสำคัญ)

28 พ.ค.ผู้รับผลกระทบรวมตัวร้องนายกฯ

นายอัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ให้สัมภาษณ์ Hfocus ว่า  เครือข่ายฯ จะมีการนัดประชุมเพื่อติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ได้เคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา รอบนี้ที่จะไปกันในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ จะเป็นส่วนของผู้ประกอบการด้านกัญชา ที่จะได้รับผลกระทบหากนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด โดยจะรวมตัวกันไป เป็นของสมาคมธุรกิจกัญชาทั่วประเทศ จะมีเวทีที่หน้าองค์การสหประชาชาติ และจะมีตัวแทนเข้ายื่นต่อรัฐบาล  

ต้องบอกว่าผู้ประกอบการกัญชา เป็นการทำธุรกิจหลายส่วนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งสภาอุตสาหกรรมกัญชา กัญชง  ซึ่งเป็นรายใหญ่ และจะมีปลีกย่อย อีก ตั้งแต่บุคคลทั่วไป เจ้าของร้านเจ้าของกิจการ และพนักงานลูกจ้าง ล้วนได้รับผลกระทบกันหมด อย่างหากรัฐบาลเอา กัญชา กลับเป็นยาเสพติด ผลกระทบที่คำนวณเบื้องต้นประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งตนคิดว่าความเสียหายจะมากกว่านี้แน่นอน

ลูกจ้างต้องตกงานจากนโยบาย กัญชากลับเป็นยาเสพติด

“เห็นชัดว่า หากนำ กัญชา กลับเป็นยาเสพติด ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการได้รับผลกระทบ ประชาชน ผู้ป่วย และลูกจ้างที่ประจำร้านที่ได้รับอนุญาตก่อนหน้านี้ต้องตกงานแน่นอน อย่างเฉลี่ยร้านกัญชาทั่วไป จะมีลูกจ้าง 2-3 คน ทุกร้านที่เปิดก็จะได้รับผลกระทบหมด” นายอัครเดช กล่าว

มีคำถามว่าทางออกของเรื่องนี้ ควรเป็นอย่างไร นายอัครเดช มองว่าควรเร่งพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เพราะรอมา 2 ปีแล้ว ทางเครือข่ายฯมีส่วนร่วมได้เป็นตัวแทนในขั้นกรรมาธิการฯ ตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ร่างพ.ร.บ.ฯ มีอยู่ 4 ฉบับ และเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว เพราะอะไรถึงไม่ผลักดันร่างกฎหมายที่มีอยู่ แต่กลับจะดึง “กัญชา” เป็นยาเสพติด ซึ่งเป็นคนละโลกเลย ถอยหลังไปเยอะ ตอนปลดออกจากยาเสพติด ก็ผ่านขั้นตอนต่างๆมาแล้ว อยู่ๆ จะเปลี่ยนกลับไปกลับมา

“เรื่องนี้ติดแค่มาตรา 18 หรือไม่ ที่ไม่อยากให้ชาวบ้านปลูกหรืออย่างไร เพราะจริงๆ หลักการชาวบ้านปลูกในครัวเรือน ดูแลสุขภาพแต่ห้ามขาย ส่วนภาคธุรกิจก็ต้องทำตามกฎหมาย มีการขออนุญาต ลงทุนกันไปเยอะมาก”

 

เยียวยาผู้รับผลกระทบ แต่เสียเวลา

หากมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ...นายอัครเดช กล่าวว่า การเยียวยาตามมูลค่าจริงก็อีกเรื่อง แต่เสียเวลาหรือไม่ ที่ลงทุนมาถึงขนาดนี้ และนี่เป็นโอกาสของประเทศไทยในการผลักดันเรื่องธุรกิจกัญชา จะไปได้ไกลกว่านี้ อยู่ๆมาตัดโอกาสตรงนี้ คนที่ทำธุรกิจ อย่างสตาร์ทอัพ เสียโอกาสหมด กลายเป็นตอนนี้ ให้กัญชา เป็นตัวร้าย ทั้งๆที่เอามาใช้ประโยชน์ได้ หากมีกฎหมาย ก็จะสามารถควบคุมป้องกันสิ่งที่กังวลได้

“หลักๆคือ ต้องมีกฎหมายในการควบคุม พวกเราไม่ได้ค้านกฎหมาย เราต้องการมีร่างพ.ร.บ.มาควบคุม ไม่ใช่ตัดทิ้งเลย จริงๆ เป็นการเสียโอกาสตั้งแต่เมื่อครั้งปลดล็อกกัญชา แต่ร่างพ.ร.บ.ฯ กลับไม่ผ่าน ซึ่งอาจเป็นเรื่องจงใจ หรือไม่จงใจก็ได้  ประเด็นคือ เมื่อปลดล็อกแล้ว ต้องมีกฎหมายระดับ พ.ร.บ.มาควบคุมจะช่วยได้มาก แต่กลับไม่มี และมาตอนนี้จะเอากลับเป็นยาเสพติด ถอยหลังไปอีก ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่ผลักดันร่างพ.ร.บ.ที่ค้างอยู่ให้เสร็จ ทุกอย่างก็จบ” ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

แฟ้มภาพ