ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทบาท "แพทย์ พยาบาล เภสัชฯ" กับการพัฒนาบริการคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร่วมผลักดันโมเดล “คลินิกคุณภาพ” ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

สถานการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืดในปัจจุบัน มีแนวทางการรักษาที่จะควบคุมอาการไว้ได้ เพียงแต่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว จะช่วยลดการกำเริบเฉียบพลัน ลดการเข้าห้องฉุกเฉิน และลดการนอนโรงพยาบาล

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงผลักดันโมเดล “คลินิกคุณภาพ” มุ่งเน้นการให้บริการสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-based Healthcare) ตามแนวคิด “เข้าถึงง่าย ได้คุณภาพ” โดยคณะกรรมการ Service plan สาขาโรคไม่ติดต่อ สธ. ได้ร่วมถอดบทเรียนกับเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย หรือ EACC (Easy Asthma and COPD Clinic) เพื่อขับเคลื่อนโมเดลต้นแบบคลินิกคุณภาพ

นพ.สุรชัย โชคครรชิตชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมวิชาการเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network annual meeting) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า คลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย หรือ EACC เป็นกระบวนการและนวัตกรรมที่สำคัญในการลดจำนวนผู้ป่วย ช่วยในการดูแลผู้ป่วยให้กลับมามีชีวิตที่ปกติ แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันจะมีปัจจัยกระตุ้นเพิ่มขึ้น ทั้งฝุ่นหมอกควันและ PM 2.5 

"การดำเนินงานต่อไปต้องมุ่งเน้นคุณค่าและการต่อยอด กระบวนการทำงาน คลินิกคุณภาพ ควรลงถึงระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยเฉพาะโรงพยาบาลแม่ข่าย ต้องหาวิธีดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย แพทย์ต้องวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เภสัชกรต้องดูแลเรื่องยา เพราะตอนนี้มียากลุ่มใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน" นพ.สุรชัย กล่าว

อบรม "แพทย์ทั่วไป" ให้รักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง 

รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) กล่าวว่า คลินิก EACC ดำเนินงานมา 19 ปีแล้ว ซึ่งเข้าเกณฑ์ของคลินิกคุณภาพ ทำงานร่วมกันทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และกายภาพบำบัด ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่ทั่วประเทศ การมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์เฉพาะทาง ในทุก ๆ คลินิกนั้นเป็นไปได้ยาก ทำอย่างไรให้คลินิกเล็ก ๆ ทำการรักษาได้ใกล้เคียงกับผู้เชี่ยวชาญมากที่สุด คลินิก EACC จึงทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ 

"หากมีแพทย์ทั่วไปต้องการดูแลผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง สามารถเข้ารับการอบรม 1 วัน โดยใช้หลักการนี้เพื่อให้แพทย์มีอย่างเพียงพอในการดูแลผู้ป่วย รักษาตามไกด์ไลน์ ทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ จากกรณีศึกษาของเครือข่าย EACC พบว่า การดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพ ช่วยลดการกำเริบเฉียบพลันและลดการนอนโรงพยาบาลได้ ซึ่งเป้าหมายในตอนนี้อยากให้มี คลินิกคุณภาพประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์" รศ.นพ.วัชรา กล่าวและว่า ส่วนโรคปอดอุดกั้นเป็นโรคเรื้อรัง กว่าที่สมรรถภาพทางกายจะเริ่มถดถอย กว่าจะมีอาการจนมาพบแพทย์ใช้เวลานาน เมื่อวินิจฉัยช้า การรักษาจะไม่ค่อยได้ผล

การตรวจคัดกรองโรคได้เร็ว วินิจฉัยอย่างถูกต้อง เข้าสู่ระบบการรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมโรค รศ.นพ.วัชรา เพิ่มเติมว่า คลินิกคุณภาพ มีขั้นตอนหลายอย่าง เมื่อวินิจฉัยโรคและประเมินอาการผู้ป่วยแล้ว ต่อไปจะต้องสอนผู้ป่วยใช้ยา พร้อมติดตามอาการ แต่หากไม่มีการทำคลินิกคุณภาพ การตรวจรักษาโดยทั่วไป อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบได้ ภาพรวมในทุกโรงพยาบาล ยังมีผู้ป่วยอาการกำเริบอยู่ แต่ในโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ทำได้ดีมาก ในผู้ป่วย 100 คน มีอาการกำเริบเพียง 60 คนเท่านั้น

"หลักการของ สธ. ในการลดความแออัดเป็นเรื่องที่ดี การมีโรงพยาบาลแม่ข่ายจึงมีส่วนสำคัญ รวมถึงการดูแลให้โรงพยาบาลเล็ก ๆ รักษาผู้ป่วยให้ดี ผมรักษาผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อควบคุมอาการได้ดี ก็ให้รับยาใกล้บ้าน และมาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพียงปีละครั้ง" รศ.นพ.วัชรา กล่าว

บทบาทพยาบาลทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ ช่วยให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้

ด้าน อ.อุไรวรรณ แซ่อุย โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวถึงบทบาทของพยาบาลและสหวิชาชีพ ในการพัฒนาการบริการคลินิก ว่า การทำงานของสหวิชาชีพมีความสำคัญอย่างมากในคลินิกคุณภาพ แม้แต่พยาบาลก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาที่เหมาะสม ประเมินการใช้ยาของผู้ป่วยว่าใช้ได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ส่งต่อข้อมูลไปยังเภสัชกร ขณะที่ดูแลผู้ป่วยควรพิจารณาได้ว่า มีอาการแย่ลงหรือไม่ พร้อมปรึกษาแพทย์ 

สำหรับแนวทางของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย อ.อุไรวรรณ เสริมว่า เริ่มตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ให้ความรู้ผู้ป่วย "เรื่องโรคและการปฏิบัติตัว" การรักษาอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมป้องกันโรค โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญของโรค ลดอาการกำเริบ ลดการเข้าห้องฉุกเฉิน ลดอัตราการเจ็บป่วยและการนอนโรงพยาบาล เพิ่มการเข้าถึงบริการและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

"บทบาทของพยาบาล ควรให้คำแนะนำและสาธิตการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วย และญาติของผู้ป่วยด้วย" อ.อุไรวรรณ กล่าว

เภสัชกร บทบาทสำคัญดูแล "การใช้ยา" ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวถึงบทบาทของเภสัชกร ในการพัฒนาการบริการคลินิก ว่า ปัจจุบันรูปแบบของยาพ่นมีหลากหลาย เภสัชกรควรเรียนรู้ข้อมูลเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องคอยพูดคุยกับผู้ป่วย สอนถึงการใช้ยา สร้างความเข้าใจ ให้รู้ถึงความสำคัญของการใช้ยา

"เมื่อมีเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นเรื่องดีที่มีการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพ แพทย์ต้องใช้เวลาในการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรค บทบาทของเภสัชกรจึงเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องโรค เรื่องการใช้ยา รวมถึงเทคนิคการใช้ยาพ่น ซึ่งมีความซับซ้อน จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความร่วมมือในการใช้ยา ผู้ป่วยบางคนไม่เข้าใจ จึงไม่ใช้ยาพ่น บางคนใช้แค่ยาบรรเทาอาการ เมื่อดีขึ้นก็หยุดยาเอง คิดว่า โรคหายแล้ว ทำให้อาการของโรคแย่ลง มีโอกาสที่โรคกำเริบจนถึงชีวิตได้ และในตอนนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโรค เช่น บุหรี่ไฟฟ้า PM 2.5 เหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นโรคหืดได้ด้วย" รศ.ภญ.สุณี กล่าว 

สำหรับการใช้ยารักษาโรคหืดในปัจจุบัน รศ.ภญ.สุณี กล่าวว่า ยาที่ใช้บรรเทาอาการจะเป็นยาขยายหลอดลม ที่ถ่างลมหายใจ ยาที่ใช้รักษาจะรักษาที่ต้นตอ คือ การอักเสบของระบบทางเดินหายใจ ในยาจะมีสเตียรอยด์ที่รักษาโรคหืดอยู่ หากผู้ป่วยไม่ใช้ยาในการรักษา ก็จะทำให้อาการแย่ลงได้

"โรคหืดเป็นโรคที่หายได้ ส่วนโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง สามารถควบคุมโรคได้ ทุกวันนี้ยาดีมาก เพียงแต่ผู้ป่วยต้องใช้ยาให้ถูกต้อง และใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ" กล่าว  

ส่วนบทบาทสำคัญของเภสัชกรในคลินิกคุณภาพ รศ.ภญ.สุณี กล่าวว่า แต่ละวิชาชีพเหมือนมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน แพทย์จะใช้เวลาในการตรวจวินิจฉัย พยาบาลจะคอยดูแลผู้ป่วย ซักประวัติ ตรวจอาการเบื้องต้น เภสัชกรมีหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องของการใช้ยา สอนเทคนิคการใช้ยาให้มีประสิทธิภาพ ให้ยาเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ บทบาทเภสัชกรจึงไม่ใช่แค่จ่ายยา ต้องทำให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องโรค คอยสังเกตอาการผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยไม่ยอมใช้ยา ก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ดังนั้น การทำงาน "คลินิกคุณภาพ" จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- สปสช.เผยเขตสุขภาพที่ 1 มีผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสะสมสูงสุด 2.8 หมื่นคน