ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เผยการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์โควิดเกิดขึ้นตลอด ทำให้การพัฒนาวัคซีนไม่ทัน ปัจจุบันวัคซีนพัฒนาถึงสายพันธุ์ XBB1.15 แต่ไวรัสขยับหนี ล่าสุดไทยพบสายพันธุ์ลูกของ JN.1 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ สายพันธุ์ เฟีลท ส่งผลประสิทธิภาพวัคซีน แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะลดลง  

 

 

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กให้ความรู้ถึงโรค โควิด19 สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ว่า
 
การเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัสโควิด เกิดขึ้นมาโดยตลอดทำให้การพัฒนาวัคซีนให้ตรงกับสายพันธุ์เป็นไปได้ยากมาก วัคซีนในปัจจุบันพัฒนามาถึงสายพันธุ์ XBB1.15 แต่ขณะเดียวกันไวรัสก็พัฒนาหนีออกไปเป็นสายพันธุ์ JN.1 ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

องค์การอนามัยโลกและนำสายพันธุ์ใหม่ที่จะนำมาทำวัคซีน เป็นสายพันธุ์ JN.1 แต่ขณะนี้สายพันธุ์นี้ก็แตกลูกหลานออกมาเป็นสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกเช่น JN1.18 KP.2 KP.3

สายพันธุ์ KP.2 และ KP.3 เป็นสายพันธุ์ที่กำลังมาแรงจึงมีการตั้งชื่อสายพันธุ์นี้ว่า เฟีลท (F for L at position 456 and R for T at position 346) (FLiRT) ซึ่งคนรุ่นก่อนสมัยรุ่น 70- 80 (1970 -1980) จะเข้าใจศัพท์นี้ดี คำว่า เฟีลท หมายถึงสุภาพสตรีที่แสดงตัวยั่วยวน ด้วยการใส่เสื้อผ้ารัดรูป โชว์สวนสัตว์ และกระโปรงสั้น ต่อมาศัพท์คำนี้ก็หายไป

สายพันธุ์ เฟีลท เป็นการตั้งชื่อเล่นของ KP.2 และKP.3 โดยเอามาจากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งกรดอะมิโนบนหนามแหลม (F for L at position 456 and R for T at position 346) แล้วเติม i เข้าไปตรงกลางจึงได้ชื่อเล่นของสายพันธุ์ใหม่

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีมามีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อย่างชัดเจน ที่ศูนย์เราติดตาม จะเห็นว่าJN.1 เริ่มลดลงและมีสายพันธุ์ลูกของ JN.1 เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ สายพันธุ์ เฟีลท ดังแสดงในรูป เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นจะทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยิ่งลดประสิทธิภาพลง แต่อย่างไรก็ตามสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะลดลง ตามธรรมชาติ