ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประกาศแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุง 5 มิ.ย.67 ย้ำ! ไม่จำเป็นต้องตรวจเชื้อด้วย RT-PCR ผู้ป่วยก่อนออกจาก รพ. เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรักษาหรือวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อ บางรายอาจพบซากเชื้อได้ บางรายสารพันธุกรรมยังติดค้างได้ถึง 3 เดือน

 

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 กรมการแพทย์ เปิดเผย แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (COVID-19) สําหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 5 มิถุนายน 2567

โดยความร่วมมือของคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ  และผู้แทนทีมแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศ และต่างประเทศ คำแนะนำแนวทางการดูแลรักษาฉบับนี้ ยึดตามหลักฐานจากการวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอาจเปลี่ยนแปลงคำแนะนำได้ในอนาคต หากมีหลักฐานเพิ่มเติม

การปรับแนวทางเวชปฏิบัติฉบับนี้ มีประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.ปรับแนวทางการให้ยาต้านไวรัส และ 2. ปรับคำแนะนำในการปฏิบัติตน

อาทิ

1. การรักษาผู้ป่วยที่มีผลตรวจพบเชื้อ หากไม่มีอาการหรือสบายดี ไม่ให้ยาต้านไวรัส และให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำการปฏิบัติตัวไม่ให้แพร่เชื้ออย่างน้อย 5 วัน

2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้การดูแลตามดุลยพินิจของแพทย์

3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน มีคำแนะนำดังนี้

อย่างไรก็ตาม การให้ยาต้านไวรัสพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนัก และอัตราตาย ประวัติโรคประจำตัว ข้อห้ามการใช้ยา ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย และความสะดวกของการบริหารยา การบริหารเตียง และราคายา  อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ยาใดกับผู้ป่วยรายใดแพทย์อาจใช้ยา ตามรายการข้างต้นนี้ได้โดยการพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าว สถานพยาบาลแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกัน

4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการมาไม่เกิน 10 วัน และมีปอดอักเสบ แนะนำให้ remdesivir โดยเร็วที่สุดเป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก

คำแนะนำผู้ป่วยโควิดอาการไม่รุนแรง

สำหรับคำแนะนำของผู้ป่วยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายสนิท พบว่าในช่วงปลายสัปดาห์แรกของผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากขึ้นได้ ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแล้ว อาจจะยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ในน้ำมูก หรือน้ำลาย อาจจะนานถึง 3 เดือน สารพันธุกรรมที่ตรวจพบนั้นมักจะเป็นเพียงซากสารพันธุกรรมที่หลงเลือกที่ร่างกายยังกำจัดไม่หมด  นอกจากนี้ การตรวจพบสารพันธุกรรมได้หรือไม่ ยังอยู่ที่คุณภาพของตัวอย่างที่เก็บด้วย

ดังนั้น ในแนวทางเวชปฏิบัติฯ จึงแนะนำว่า ไม่ต้องตรวจ RT-PCR หรือตรวจหาแอนติเจน ก่อนผู้ป่วยออกจากสถานพยาบาล หรือก่อนกลับเข้าทำงาน เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรักษาหรือวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยที่พ้นระยะการแพร่เชื้อแล้ว สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ การปฏิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้ออเหมือนประชาชนทั่วไป

คำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยโควิด ระหว่างมีอาการและตรวจพบเชื้อ

1.ในระยะเริ่มมีอาการ ให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น การทำความสะอาดมือ การรักษาระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด จนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ (ระยะ 5 วันนับจากวันเริ่มมีอาการ)

2.ให้แยกห้องนอนจากผู้อื่น ถ้าไม่มีห้องนอนแยกให้นอนห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2-3 เมตร และต้องเป็นห้องที่เปิดให้อากาศระบายได้ดี ผู้ติดเชื้อนอนอยู่ด้านใต้ลม

3.ถ้าแยกห้องน้ำได้ควรแยก ถ้าไม่ได้ ให้เช็ดพื้นผิวที่มีการสัมผัสด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ

4.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ รวมถึงผู้มีโรคประจำตัว

5.ล้างมือด้วยสบูและน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ ในบางพื้นที่หากไม่มีน้ำและสบู่ อาจถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 70%

6.ไม่รับประทานอาหารร่วมวงกับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะ 5 วันแรกแล้ว แนะนำให้ปฏิบัติตามข้อ 2-6 ต่อไปอีก 5 วัน รวม 10 วัน หลังจากนั้นสามารถประกอบกิจกรรมทางสังคม และทำงานได้ตามปกติตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น การทำความสะอาดมือ การรักษาระยะห่าง เป็นต้น

ติดตามรายละเอียดแนวทางเวชปฏิบัติด้านล่าง หรือตามไฟล์แนบ

https://eid.dms.go.th/Content/Select_Eid_Landding_page...