ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทองในกทม. ร้องสธ. ช่วยเหลือหลังสปสช.เปลี่ยนรูปแบบเบิกจ่ายเงินคลินิกชุมชนอบอุ่น ทำคลินิกไม่ยอมออกใบส่งตัว เหตุปัญหาทางการเงิน ตั้งกล่องบริจาค คล้ายร่วมจ่าย คนไข้มองเป็นการผลักภาระประชาชน แม้ตอนนี้จะปิดบริจาคแล้วก็ตาม ด้าน “ธนกฤต” เร่งกู้วิกฤตมอบ สบส.ร่วมสปสช.ตรวจคลินิกร่วมโครงการทั่ว กทม.กว่า 200 แห่ง

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทองในกรุงเทพมหานคร เดินทางขอความช่วยเหลือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เพื่อเรียกร้องหลังได้รับผลกระทบจากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ทำให้คลินิกบางแห่งไม่ส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาเหมือนแต่ก่อน บางคลินิกถึงขนาดตั้งกล่องบริจาค โดยตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้ยื่นข้อเรียกร้องจากคลินิกที่ตนรักษา ซึ่งวันนี้มารวมตัวร้องคลินิกย่านสุทธิสาร พร้อมทั้งแนบรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากคลินิกไม่ส่งตัวทั่วกทม.เบื้องต้น 361 รายชื่อ   โดยมี นายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข รับเรื่องร้องเรียนแทนรมว.สาธารณสุข

ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทอง กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการปรับรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกในกทม. ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา จนตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องใบส่งตัวจากคลินิกที่ไม่ยอมส่งให้โรงพยาบาลแม่ข่าย ทั้งๆที่ไม่มีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย อย่างคลินิกแห่งหนึ่ง ที่วันนี้พวกตนมายื่นร้องทุกข์ คือ คลินิกแห่งหนึ่งเส้นสุทธิสาร บ่ายเบี่ยงออกหนังสือส่งตัวโดยใช้เหตุผลต่างๆ อย่างผู้ป่วยโรคหัวใจ ทางโรงพยาบาลแม่ข่ายนัดรักษาต่อเนื่อง กายภาพบำบัด แต่คลินิกไม่ส่งตัว ทั้งๆที่ไม่มีศักยภาพ รวมถึงอีกเคสลูกอายุ 1 ปีที่เป็นโรครักษายาก ต้องไปโรงพยาบาลแม่ข่ายเช่นกัน แต่กลับไม่ยอมส่งตัว ปัญหาที่เกิดขึ้นพวกเรา โทรหาสายด่วน 1330 สปสช.ตลอด คลินิกบางครั้งยอม แต่หลายครั้งไม่ยอม ส่วนใหญ่ยอมครั้งแรกที่สปสช.โทรไปประสาน แต่หลังจากนั้น หากต้องรักษารพ.ใหญ่ตลอด 6 เดือน ก็จะไม่ยอมส่งใบส่งตัวเลย

“พวกเราได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีที่เกิดขึ้น และมีหลายเคสเข้ามาปรึกษาปัญหาจำนวนมาก มีอยู่หนึ่งประมาณเดือนเมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมา มีคลินิกแห่งหนึ่ง เปิดรับกล่องบริจาค เรียกว่าทำคล้ายๆ ร่วมจ่าย หรือโควเพย์เมนท์ (Co -payment) เพราะบอกว่าไม่สามารถรับภาระการเงินได้ เนื่องจากรูปแบบการจ่ายเงินของสปสช.นั้นจะให้งบประมาณไปก่อนแล้วก้อนหนึ่ง โดยคลินิกจะต้องจ่ายครั้งละ 800 บาทต่อการส่งตัว ซึ่งนอกนั้นสปสช.จะรับผิดชอบเอง แต่คลินิกไม่ยอมจ่ายตรงนี้ และผลักภาระให้ประชาชนแทน ผ่านการบริจาคแต่เรารู้กันอยู่แล้วว่า ก็คล้ายร่วมจ่าย หากไม่จ่ายก็ไม่ได้ใบส่งตัว” ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบฯกล่าว

ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบฯ  กล่าวอีกว่า  แต่ขณะนี้คลินิกเอากล่องบริจาคนั้นออกไปแล้ว เนื่องจากมีการร้องเรียนเข้ามามาก เพราะกรณีนี้ทำไม่ได้ ไม่ถูกต้อง แต่ผู้ป่วยหลายคนไม่รู้ หลายคนก็ยอมจ่ายก็มี แต่หลายคนจ่ายไปแล้วแต่ไม่ได้ใบส่งตัวก็มี  จริงๆ ก่อนหน้านั้นที่เปิดบริจาค ระบุว่า ขอร่วมบริจาค 800 บาทเพื่อให้คลินิกไปต่อ แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นไปตามความสมัครใจ และต่อมาประมาณเดือนกว่าๆ ได้ยกเลิกการบริจาคไป ทั้งนี้ ตนมองว่า การกระทบแบบนี้ไม่ถูกต้อง

“สิ่งที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสปสช. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) อยากให้มีระบบการจัดการคลินิกให้ได้มาตรฐานทั้งหมด เพราะนโยบายเป็นเรื่องดี ยิ่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ถือว่าดีมาก หากทำได้ทั้งประเทศ โดยเฉพาะกทม. แต่กทม.มีปัญหามากที่สุด ดังนั้น ขอให้จัดระบบคลินิกที่เข้าร่วมบัตรทองให้ได้มาตรฐาน ไม่ใช่ปรับรูปแบบการเงินทุกครั้งจะต้องมีปัญหากับผู้ป่วย ซึ่งไม่ถูกต้อง” ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบฯกล่าว

นายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า    เรื่องนี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขให้ความสำคัญ และให้รีบดำเนินการช่วยเหลือ เนื่องจากเมื่อรมว.สธ.มารับตำแหน่ง ทราบถึงปัญหาว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางแก้ไขด่วน โดยตนได้ร่วมหารือกับสปสช. และมองว่าต้องเปลี่ยนแนวทาง เนื่องจากปล่อยแบบนี้ต่อไป ผู้ป่วยเสียชีวิตจะทำอย่างไร ยิ่งผู้ป่วยโรคหนักๆ กว่าจะส่งตัวไป 5-6 เดือน ผลกระทบจะเกิดอะไรขึ้น

“เรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ต้องร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในการลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกกทม.ที่ร่วมโครงการบัตรทองทั้งหมดกว่า 200 แห่ง โดยจะเอาเคสรับผลกระทบจากคลินิกที่มาร้องเรียนนี้ก่อน จากนั้นจะค่อยๆ ลงไปตรวจสอบทุกแห่งในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้คลินิกมีมาตรฐาน และดูว่า เพราะอะไรไม่ส่งต่อทั้งที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษารพ.ขนาดใหญ่” นายกองตรีธนกฤต กล่าว