ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฝ่ายสนับสนุน-ฝ่ายคัดค้าน เสนอปม "การนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด"  เสนอเหมือนกัน คือ ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ ส่วนที่ต่างกันคือ หากไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการจะดำเนินต่อไป สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยได้

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2567  ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health แคนาดา (ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ YNAC) กล่าวว่า กัญชามีประโยชน์บางประการในทางการแพทย์ (เช่น ลดอักเสบ ช่วยให้นอนหลับและทานข้าวได้ ในผู้ป่วยบางโรค) และมีโทษบางประการหากใช้ไม่ถูกต้องหรือใช้เพื่อสันทนาการ (เช่น เมา แพ้ เสพติด) การตัดสินใจใช้กัญชาของปัจเจกบุคคลขึ้นกับคนๆนั้นว่าจะใช้เพื่อประโยชน์อะไรและจะใช้อย่างไร เป็นวิจารณญาณส่วนบุคคลภายใต้กรอบกฎหมาย และบุคคลนั้นจะต้องรับผลของการตัดสินใจของตนเองทั้งด้านรับคุณและด้านรับโทษ  

แต่นโยบายกัญชาไม่ใช่การตัดสินใจระดับบุคคล  นโยบายกัญชาคือการตัดสินใจของรัฐบาลและสภาเพื่อดูแลคนทั้งประเทศให้ได้รับประโยชน์และป้องกันโทษจากการใช้กัญชา ในการออกแบบนโยบายกัญชา รัฐบาลและสภาต้องคำนึงผลประโยชน์และผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มต่างๆ ต้องคำนึงถึงคนที่ใช้กัญชาและคนที่ไม่ใช้กัญชา ต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นระยะสั้นและผลกระทบระยะยาว   การออกแบบนโยบายกัญชาจึงไม่ได้สัมพันธ์กับกัญชาแบบตรงๆว่า “เมื่อกัญชามีประโยชน์ ก็ต้องปลดจากการเป็นยาเสพติด ให้ทุกคนที่อยากใช้ได้ใช้กัญชาเต็มที่”

นโยบายกัญชาคือวิธีการที่กำหนดว่าจะให้คนในประเทศกระทำต่อกัญชาอย่างไร ซึ่งขึ้นกับมุมมองที่รัฐมีต่อกัญชา ได้แก่ 1. หากเห็นว่ากัญชามีแต่โทษ (คือไม่เห็นประโยชน์) รัฐบาลก็จะกำหนด “ให้กัญชาเป็นยาเสพติด และห้ามใช้กัญชาโดยสิ้นเชิง” ตัวอย่างนโยบายลักษณะนี้ คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522,  2. หากเห็นว่ากัญชามีทั้งประโยชน์ทางการแพทย์และโทษจากการใช้แบบสันทนาการ รัฐบาลก็จะกำหนด “ให้กัญชาเป็นยาเสพติด ห้ามใช้เพื่อสันทนาการ แต่ให้ใช้เพื่อการแพทย์ได้” ตัวอย่างนโยบายลักษณะนี้ คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 และ ประมวลกฎหมายยาเสพติด (2564),   และ 3. หากเห็นว่ากัญชามีแต่ประโยชน์ (คือ ไม่เห็นโทษ) รัฐบาลก็จะกำหนด “ให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด สามารถใช้เพื่อประโยชน์อะไรก็ได้ ซึ่งรวมถึงการใช้เพื่อสันทนาการด้วย”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลก่อนหน้าเดินตามแนวนโยบายกัญชาแบบที่สาม คือ ไม่เห็นโทษของกัญชา โดยลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด มีผลวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ส่งผลกระทบด้านลบมากมายเห็นเป็นที่ประจักษ์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลปัจจุบัน เดินหน้าตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายในสิ้นปี 2567   ในการนี้มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน

ฝ่ายสนับสนุนเสนอว่าต้องนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด (2564) เพื่อให้หยุดยั้งการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้แต่สามารถใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้   ส่วนฝ่ายคัดค้านเสนอว่าเพื่อให้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ต้องไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะหากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด หรือ เป็นการจงใจทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าจะมีการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายใต้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522   และที่สำคัญคือ ข้อเสนอของฝ่ายคัดค้านที่ไม่กล่าวออกมาให้ชัดเจน คือ หากคงกัญชาให้ไม่เป็นยาเสพติดไว้จะส่งผลให้เกิดการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ต่อไป

ส่วนที่เหมือนกันของข้อเสนอสองฝ่าย คือ สามารถใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ แต่ส่วนที่ต่างกันคือ หากไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการจะดำเนินต่อไป ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างไม่อาจคาดประมาณค่าได้