ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอยง ภู่วรวรรณ” รับรางวัลขุนประเมินวิมลเวชช์ ปี 67 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา การศึกษาวิจัยป้องกันโรคด้วยวัคซีน มีผลต่อการกำหนดนโยบายภาครัฐ ด้าน “สมศักดิ์” ชี้วิกฤติโควิด19 ต้องถอดบทเรียนเตรียมเผชิญเหตุ ทั้งเครื่องมือ บุคลากรสาธารณสุข  ตั้งเป้าไทยสุขภาวะที่ดีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573

 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ประจำปี 2567 Shaping the Future of Public Health 2030  โดยภายในงานยังมีพิธีมอบ “รางวัลขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2567  คือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ  หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ทำการศึกษาไวรัสวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงโควิด19 ที่ผ่านมา เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการเสนอข้อมูลการศึกษาป้องกันโรคด้วยวัคซีน มีส่วนในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ

ไทยเดินหน้าตามแผนพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs

นายสมศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงาน ว่า ขอแสดงความยินดีกับ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ที่ทำงานด้านไวรัสวิทยา จนเป็นที่ยอมรับนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรคด้วยวัคซีน อย่างไรก็ตาม   ประเทศไทยเป็น 1 ใน 193 ประเทศ ที่ได้เข้าร่วมลงนามในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ให้บรรลุผลภายในพ.ศ. 2573 ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย 17 เป้าหมาย 5 มิติ ที่จะเป็นอนาคตสำหรับพวกเราทุกคน ซึ่งประเด็นด้านสุขภาพภายใต้ เป้าหมายที่ 3 จะครอบคลุมการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีถ้วนหน้าในทุกช่วงวัย โดยมีเป้าประสงค์จะยุติการแพร่กระจายโรคติดต่อสำคัญ   รวมถึงลดการป่วยและการตายก่อนวัยอันควร จากโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนน อีกทั้งสารเคมีอันตรายและมลพิษสิ่งแวดล้อม

โควิด19 บทเรียนต้องเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์การระบาดโควิด19 บทเรียนครั้งนั้น สอนให้รู้ว่า โรคระบาดส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิต เศรษฐกิจ สังคม เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญวิกฤติแบบเดิม ทั้งจากโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ กระทรวงสาธารณสุข จึงทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังและป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ โรคระบาด พ.ศ.2566-2570 เพื่อเร่งรัดกวาดล้างโรคโปลิโอ กำจัดโรคมาลาเรีย โรคเรื้อน โรคเอดส์ โรคหัด โรคพิษสุนัขบ้า โรคเท้าช้าง และโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทยให้เหลือน้อยที่สุด ควบคู่กับโรคติดต่อประจำถิ่น ทั้งไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก วัณโรค รวมถึงโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ และโรคป้องกันได้ด้วยวัคซีน อีกทั้ง ยังมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

 

5 แผนยุทธศาสตร์ลดโรคและภัยสุขภาพ

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  แผนนี้มุ่งเน้น 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. พัฒนานโยบาย กฎหมาย และการบริหารจัดการ เช่น มีนโยบายกฎหมายรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อเกิดศูนย์กลางบริหารโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ  2. พัฒนาโครงสร้างพื้น,ฐาน ยกระดับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคติดต่อ เช่น พัฒนาห้องปฏิบัติการ พัฒนาระบบสารสนเทศ ติดตามโรคแบบเรียลไทม์ 3.ยกระดับการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ เตรียมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยจำนวนมาก  4.พัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ สนับสนุนการวิจัยโรคติดต่อและขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ และ5.พัฒนาการสื่อสารความเสี่ยง และระบบสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรค สื่อสารข้อมูลโรคติดต่ออย่างชัดเจน พัฒนาเทคโนโลยีติดตามสุขภาพ เป็นต้น โดยการยกระดับดิจิทัล เฝ้าระวังและป้องกันโรค เป็นหนึ่งในนโยบายทุกคนปลอดภัย โดยอยู่ภายใต้นโยบายที่ตนได้มอบไปแล้ว 5+5 เร่งรัดสานต่อพัฒนา

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่า การประชุมดังกล่าว เดิมจัดขึ้นทุก 2 ปี แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์โลกต่างๆ รวมไปถึงโรคภัยที่เกิดขึ้น จากนี้จึงเห็นว่า ควรจัดขึ้นทุกปี เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ ขณะเดียวกันจากโควิด ได้มีการถอดบทเรียน เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อม รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ทุกคน อย่างไรก็ตาม เรื่องโควิดนั้น ทางกรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ส่วนการดูแลยังเน้นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เพราะขณะนี้โรคไม่ได้น่ากลัวอย่างในอดีต

สถานการณ์โรคเปลี่ยน เดินหน้ารับมือ บุคลากรร่วมแรงร่วมใจเต็มที่

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์ของโรคและภัยสุขภาพในปัจจุบัน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศน์ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ และปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับได้ร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้ประชาชนลดการป่วย ลดเสียชีวิต ยุติการระบาดของโรคได้ตามการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ( SDGs)ภายในปีพ.ศ.2573    

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงาน ยังประกาศรายชื่อ พร้อมมอบโล่เกียรติบัตรรางวัลคุณภาพแห่งชาติการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ โดยกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 18 รางวัล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข