ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 27 สิงหาคม 2554 หน้า 1

พูดกันมากว่านับวันภาพลักษณ์ของ ระบบประกันสังคมไทย ดูถดถอยลงไปเรื่อยเมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ของสวัสดิการ หรือระบบหลักประกันอย่างอื่นที่คนไทยมี ซึ่งล้วนแล้วแต่พัฒนาไปในทางที่ดีกว่าประกันสังคมแทบทั้งสิ้น

ข้อสังเกตแรกเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างภาระงบประมาณของรัฐบาล ที่มีต่อระบบประกันสุขภาพแต่ละประเภท เมื่อปี 2553

สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว  ภายใต้การบริหารงานของกรมบัญชีกลาง ดูแลผู้มีสิทธิทั่วประเทศจำนวน 4.9 ล้านคน

แต่ละคนได้รับโควตาค่าใช้จ่ายรายหัวต่อปีในการรักษาพยาบาลคนละ 11,000– 12,000 บาท โดยที่รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพ ร่วมออกเงินสมทบให้ทั้งหมด 100% หรือคิดเป็นเงินมากถึง 62,195 ล้านบาท

ถัดมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บริหารงานโดยสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปีที่แล้ว ดูแลผู้มีสิทธิรวมทั้งสิ้น 47.7 ล้านคน แต่ละคนได้รับค่าใช้จ่ายรายหัวต่อปีคนละ 2,401.30 บาท โดยที่รัฐบาลร่วมจ่ายสมทบให้ทั้ง 100% คิดเป็นเงินงบประมาณสูงลิบถึง 120,846 ล้านบาท

เทียบกับลูกเมียน้อยที่ขี้เหร่สุด อย่างผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปีที่แล้วดูแลผู้มีสิทธิทั้งสิ้นจำนวน 9.4 ล้านคน

แต่ละคนได้รับค่าใช้จ่ายรายหัวต่อปี ต่ำกว่าใครเพื่อน แค่คนละ 2,105 บาท โดยที่รัฐบาลร่วมออกสมทบให้แบบไม่ค่อยเต็มใจนัก 33.3% หรือคิดเป็นเงินที่โยนมาให้ผู้ประกันตนในระบบแค่ 7,490.62 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น สิทธิประโยชน์ของผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของแต่ละระบบ ก็ยังแตกต่างกันสิ้นเชิง

ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยในของระบบสวัสดิการข้าราชการฯ สามารถเบิกค่าห้องพักและค่าอาหารในโรงพยาบาลได้วันละ 600 บาท แถมยังมีโอกาสเลือกใช้ได้ทั้งยาที่อยู่ในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และค่ารักษาทั่วไปต่อครั้งรัฐบาลยินดีจ่ายให้ตามกลุ่มโรค (DRG)

เทียบกับผู้ป่วยในภายใต้การดูแลของ สปสช. คิดค่าห้องพักในโรงพยาบาลและค่าอาหาร ให้ตามอัตราสำหรับผู้ป่วยห้องสามัญ มีสิทธิใช้ได้ทั้งยาในและยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่นเดียวกับสวัสดิการของข้าราชการ ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ให้บริการ

กรณีค่ารักษาทั่วไปต่อครั้ง รัฐบาลก็ยินดีควักให้ตามกลุ่มโรค (DRG) เช่นเดียวกับของสวัสดิการข้าราชการฯ

ส่วนผู้ป่วยในของระบบประกันสังคม ทุกวันนี้จะได้รับสิทธิเพิ่มเติม มากน้อยอย่างไรแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ถือว่าอาภัพกว่าใครเพื่อน เพราะนอกจากไม่มีค่าห้องพักในโรงพยาบาลและค่าอาหารให้ ยังถูกจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะยาที่เกรดไม่ต่ำกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นหลัก ส่วนค่ารักษาพยาบาลทั่วไปต่อครั้ง ก็ให้ไปใช้แบบวิธีเหมาจ่าย

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย บอกว่า ปัญหาเร่งด่วนของแรงงานที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานแทบทุกคนไม่อยากทำคือ การทำกองทุนประกันสังคมให้มีความรับผิดชอบต่อผู้ประกันตน และการทำให้กองทุนส่วนที่เป็นบำนาญชราภาพมีเสถียรภาพ

“ที่ไม่อยากทำ คงไม่ใช่เพราะมันยากเกินไป แต่เป็นเพราะมันไม่มีเหตุจูงใจใดๆเลยทั้งสิ้น”

สาเหตุหลักๆ...มาจากกฎหมายประกันสังคม

กฎหมายอนุญาตให้กองทุนตั้งอยู่ได้โดยไร้ประสิทธิภาพและไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผู้ประกันตน เนื้อหาหลักของกฎหมายที่เป็นปัญหาประกอบด้วย การให้กองทุนอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และให้เลขาธิการ สปส.มาจากข้าราชการพลเรือน

ในขณะเดียวกันก็ให้มีคณะกรรมการประกันสังคม ที่มีกรรมการมาจากผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐฝ่ายละ 5 คน ผู้แทนนายจ้างและลูกจ้างนั้นได้จากการที่เลขาธิการเสนอชื่อให้แก่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานแต่งตั้ง

ดังนั้น...ถ้าผู้แทนลูกจ้างและนายจ้างทำตัวดี (ทำตามสั่ง ไม่เรื่องมากเป็นพวกเดียวกัน) ก็จะได้รับรางวัลโดยการถูกเลขาธิการเสนอชื่ออยู่เรื่อยๆ หรือถ้าเป็นพวกเดียวกันกับฝ่ายการเมือง รัฐมนตรีก็แต่งตั้งได้ไม่ยากนัก

สิ่งที่เราเห็นชัดเจนจากที่ผ่านมาคือ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างมักจะเป็นคนหน้าเดิมๆ

“กฎหมายประกันสังคมทำให้เราได้กลไกที่ผู้บริหาร (เลขาธิการ) เป็นผู้เลือกกรรมการ แทนที่จะเป็นว่า กรรมการเลือกผู้บริหารและกรรมการต้องคอยกำกับและตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร”

ดร.วรวรรณ บอกว่า ที่เป็นอยู่ก็คือ เลขาธิการต้องสามารถจัดการกับกรรมการได้ และต้องเชื่อฟังปลัดกระทรวงแรงงานและ รมต.แรงงาน เพื่อความมั่นคงของตำแหน่งเลขาธิการเอง

กฎหมายไม่ได้กำหนดให้กองทุนเป็นนิติบุคคล ทำให้ทรัพย์สินของกองทุนเป็นทรัพย์สินของรัฐ ทั้งๆที่เงินในกองทุนส่วนใหญ่นั้นเป็นของผู้ประกันตน กล่าวคือ รัฐสมทบเพียงร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างจากเงินสมทบทั้งหมดสามฝ่ายร้อยละ 12.75...ดังนั้น เงินในกองทุน 100 บาท เป็นส่วนที่มาจากนายจ้างและลูกจ้าง 78 บาท และจากภาษีประชาชนอีก 22 บาท

“รัฐมักติดหนี้กองทุนโดยสมทบช้ากว่ากำหนด และไม่เคยถูกปรับ... แต่รัฐกลับมีอำนาจควบคุมดูแลเบ็ดเสร็จผ่านรัฐมนตรี เลขาธิการโดยขาดการมีส่วนร่วมของนายจ้าง ลูกจ้างอย่างแท้จริง”

เท่านั้นยังไม่พอ กฎหมายมาตราที่เลวร้ายที่สุดคือ มาตรา 24 ที่ให้คณะกรรมการจัดสรรเงินได้ถึงร้อยละ 10 ของเงินสมทบของแต่ละปี เพื่อใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เบี้ยประชุม พาหนะ เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และอื่นๆ

เงินร้อยละ 10 ของเงินสมทบเท่ากับประมาณปีละ 10,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

สปส.มักจะอวดอ้างว่าตนใช้เงินบริหารจัดการไม่มาก แค่ประมาณร้อยละ 3-4 ของเงินสมทบหรือ 3-4 พันล้านบาทเท่านั้น แต่ถ้าเราดูรายละเอียดของการใช้เงินเพื่อการบริหารจัดการของ สปส.

เราจะเห็นว่า...ใช้ปีละ 1,000 ล้านบาทยังอาจจะมากเกินไป

เงินบริหารจัดการส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เช่าเครือข่าย และจัดทำข้อมูลสารสนเทศ ปีหนึ่งๆ หลายร้อยล้านบาท

“กลไกการจัดซื้อจัดจ้างก็อ้างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แต่ก็หาทางบิดพลิ้วจนขาดความโปร่งใส จนบางครั้งโครงการหลายร้อยล้านบาทก็มีผู้ผ่านการเสนอราคาเพียงรายเดียว การทักท้วงของกรรมการบางท่านก็ไม่เป็นผล ถ้าทนไม่ได้ก็ลาออกจากกรรมการไป”

ส่วนกรรมการบางท่านเล่าลือกันว่าก็ได้ประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส นอกจากนี้  ผู้ประกันตนก็ไม่เคยทราบเลยว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ซื้อมานั้น ใช้การได้ซักเท่าไร ทำไมต้องซื้อทุกปี

ปัญหามีว่า...เราจะไว้ใจได้อย่างไรในเมื่ออนุกรรมการที่ดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศบางท่านยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น หรือไม่เข้าใจการทำงานของระบบสารสนเทศเลย

กล่าวถึงการใช้เงินเพื่อบริหารจัดการในการซื้อที่ดินและอาคารก็ไม่ใช่น้อย มีการใช้เงินหลายร้อยล้านบาทซื้อที่ดินและสร้างอาคารเพื่อเก็บเอกสารสำนักงาน ทั้งที่มีระบบเทคโนโลยีที่ใช้เงินปีละหลายร้อยล้านบาท สปส.ก็ยังคงใช้ระบบกระดาษและเอกสารมากมาย เงินที่ใช้ในการพิมพ์และป้อนข้อมูลก็มากจนน่าสงสัย และยังรวมถึงการดูงานต่างประเทศในแต่ละปี ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นประโยชน์ในการบริหารงานอย่างไร

การมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากมายแบบหนูตกถังข้าวสารเหล่านี้แค่น้ำจิ้ม ดร.วรวรรณ บอกอีกว่า ความเลวร้ายของกฎหมายประกันสังคม มาตรา 24 ยังรวมถึงการกล่าวว่า ในกรณีที่เงินกองทุนไม่พอจ่ายก็ให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนหรือเงินทดรองราชการได้ตาม “ความจำเป็น”

คำถามมีว่า...ความจำเป็นที่ว่านี้คือการส่งสัญญาณให้ สปส.กรรมการกองทุน และนักการเมือง ถลุงเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และเท่าที่โอกาสจะอำนวยหรือเปล่า หรือว่าเป็นไปตามหลักการที่ว่า...“มาก่อนได้ก่อน มาทีหลังหมด”

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มีคำถามตามมาอีกยืดยาว โดยเฉพาะทำไม? เงินกองทุนถึงจะหมด ทำไม? กองทุนประกันสังคมจึงไม่มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะกองทุนบำนาญชราภาพ ที่ปัจจุบันมีเงินสะสมกว่า 7 แสนล้านบาท

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สรุปสั้นๆว่า “กฎหมายประกันสังคมที่เราใช้กันอยู่นี้ จึงเปรียบได้กับสายไฟเก่าๆ ที่พันอยู่รอบบ้าน รอวันลัดวงจร สร้างหายนะให้กับผู้อยู่อาศัย”.