ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิทยา ปะระมะ
เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

น่าเป็นห่วงแทนผู้ประกันตน 9.4 ล้านคนเป็นอย่างมาก เพราะเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในอนาคตสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลาย คาดการณ์กันว่าภายในปี 2586 กองทุนจะเข้าสู่ภาวะติดลบ

หาก สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ไม่เร่งกำหนดมาตรการแก้ปัญหา ผลกระทบอย่างจังจะตกอยู่กับมนุษย์เงินเดือนวัย 25 ปี ที่พบว่าเงินจะหมดกองทุนในขณะที่ตัวเองเกษียณพอดี

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคมมูลนิธิสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอว่า ทางออกของปัญหาคือ ควรยุบกองทุนชราภาพใน สปส.ทิ้ง เพราะไม่อาจหนีพ้นภาวะขาดทุนไปได้ และควรโอนเงินส่วนนี้ไปให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) หรือกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) เป็นผู้บริหารแทน

สำหรับการ รักษาพยาบาลให้โอนผู้ประกันตน 9.4 ล้านคน ไปอยู่ภายใต้การจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และให้สปส. ทำหน้าที่บริหารสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการสังคมด้านอื่นๆ แทน

“ถ้า ยุบกองทุนชราภาพ ปัญหาขาดทุนในอนาคตก็จบ เพราะจะเหลือสิทธิประโยชน์ให้รับภาระน้อยลง สปส.จะดูแลแค่จ่ายชดเชยเมื่อเจ็บป่วยกับการประกันการว่างงาน ซึ่งปริมาณงานระดับนี้เหมาะกับที่ สปส.จะดูแล และเงินสมทบในสิทธิประโยชน์ยังเก็บเหมือนเดิม แต่ผู้ประกันตนจ่ายน้อยลงเหลือแค่ 0.5% เพราะหักเงินสมทบสำหรับบำนาญชราภาพออก 3% และเงินสมทบสำหรับการรักษาพยาบาลอีก 1.5%”

เหตุที่วรวรรณเสนอ แนวคิดนี้เพราะพิจารณาแล้วว่า สปส.คงไม่อาจเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้ ทั้งด้านการเงินและการบริหาร โดยเฉพาะด้านการเงินนั้นเป็นที่ทราบดีว่ารายรับและรายจ่ายของกองทุน สปส.ไม่สมดุลกัน

“จะหวังให้ผู้บริหาร สปส. มาแก้ไขก็คงทำได้ไม่เต็มที่ เพราะติดอยู่ในโครงสร้างระบบราชการ และไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง” นักวิชาการรายนี้ระบุ

สำหรับ ด้านการบริหารนั้น วรวรรณมองว่า เป็นความผิดพลาดของกฎหมายประกันสังคม ที่ร่างออกมาแล้วโครงสร้างการปกครองบิดเบี้ยวไปหมด เพราะเปิดช่องให้เอาเงินกองทุน 10% มาใช้ในการบริหารจัดการได้ ซึ่งแต่ละปี สปส.ใช้เงินในการบริหารจัดการประมาณ3,000-4,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา

“ผู้บริหารสามารถนำเงินนี้มาจัดการได้ตามใจชอบผ่านคณะกรรมการเพียง15 คน” วรวรรณ กล่าว

นอก จากนี้ ยังมีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน โดยกรรมการบางคนเปิดบริษัทแล้วก็ได้รับงานกับประกันสังคมวรวรรณตั้งข้อ สังเกตว่า กระบวนการจัดซื้อส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารและระบบคอมพิวเตอร์ งบจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับกระดาษและระบบสารสนเทศเกิน 50% ของงบจัดซื้อหมด

“จะ หวังให้ผู้ประกันตนจะออกมาผลักดันยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะตัวแทนลูกจ้างที่นั่งอยู่ข้างในบอร์ด สปส. ได้ประโยชน์จากระบบเดิมมากกว่า ส่วนลูกจ้างอื่นๆ อีก 10 ล้านคน เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีการรวมกลุ่ม ระบบสหภาพอ่อนแอ ฉะนั้นจะให้เกิดแรงผลักดันจากลูกจ้างเป็นเรื่องที่ยากมากถึงขั้นที่เป็นไป ไม่ได้เลย”

ด้วยโครงสร้างการบริหารที่ฝังรากลึกเช่นนี้ วรวรรณพยายามมองหาแรงผลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง สปส. และได้ข้อสรุปว่าต้องเกิดจากแรงผลักในระดับนายกรัฐมนตรีเท่านั้นเพราะตัว รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานก็ได้รับประโยชน์จากระบบเดิม

อย่างไรก็ ตาม เมื่อพิจารณาท่าทีของรัฐบาลชุดนี้แล้ว วรวรรณ เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ค่อยเน้นเรื่องสวัสดิการแต่ไปเน้นเรื่องค่าจ้างขั้น ต่ำ เน้นเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งคิดว่าน่าจะพยายามเบี่ยงแนวนโยบายจากประชาธิปัตย์เพื่อไม่ให้ดูเหมือน เป็นการลอกการบ้านกัน ฉะนั้นในระยะ 1-2 ปีนี้ คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ