ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“คนพิการที่ทำงานเลี้ยงตัวเอง เงินทุกบาททุกสตางค์กว่าจะได้มาก็ยากอยู่แล้ว แต่ทำไมแค่สิทธิประกันสุขภาพกลับให้พวกเราไม่ได้...”  คำพูดตัดพ้อของชายผู้พิการวัย 40 ปี ต่อระบบประกันสังคมที่ไม่รองรับผู้พิการก่อนเข้าทำงาน เหตุเพราะไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้พิการจากอุบัติเหตุระหว่างการทำงานเท่านั้น

ย้อนกลับไปช่วงอายุ 2 ขวบ เขาป่วยด้วยโรคโปลิโอ ทำให้ขาสองขาอ่อนแรง สุดท้ายไม่สามารถเดินได้ ต้องใส่ขาเทียมที่เป็นเหล็กยึดช่วงขาที่อ่อนแรงทั้งสองข้าง เพื่อช่วยพยุงให้สามารถเดินได้อย่างสะดวก กระทั่งเมื่อถึงวัยทำงาน แม้ขาจะพิการทั้งสองข้างก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเลย  เขาได้สร้างครอบครัว เลี้ยงภรรยาและลูกด้วยเงินพออยู่พอกิน แต่ขณะนั้นก็ไม่ถึงขั้นขัดสนมาก เนื่องจากเมื่อไม่สบาย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับขาทั้งสอง รวมไปถึงตัวขาเทียม หากมีปัญหาต้องซ่อมแซม หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ทุกๆ ปีก็จะได้รับการดูแลโดยศูนย์สิรินทรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มาตลอด

โดยเฉพาะขาเทียมที่เขาใช้จะมีลักษณะเป็นเหล็กประกบกับขา  โดยเมื่อใช้ไปนานๆ ข้อต่อจะสึก ทำให้แอ่น ไม่สามารถเดินทรงตัวได้ ก็จะต้องนำเข้าไปยังศูนย์สิรินทรฯ เพื่อซ่อมแซม ซึ่งที่ผ่านมาไม่ต้องจ่ายสตางค์แม้แต่บาทเดียว แม้ขณะนั้นเขาจะทำงานเป็นพนักงานเอกชนของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับสิทธิระบบประกันสังคม เรียกว่าเป็นผู้ประกันตนคนหนึ่ง ก็ยังได้รับสิทธิจากศูนย์สิรินทรฯ โดยตอนนั้นเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิทธิประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์เพื่อคนพิการหรือไม่

กระทั่งศูนย์สิรินทรฯ แจ้งว่า  จากนี้ไปผู้มีสิทธิประกันสังคม หากเข้ารับการบริการให้ใช้สิทธิประกันสังคม เนื่องจากมีสิทธิรองรับ ประกอบกับศูนย์สิรินทรฯ แบกภาระค่าใช้จ่ายมาตลอด ขณะที่กองทุนประกันสังคมมีงบฯในส่วนนี้ แต่หากประกันสังคมไม่สามารถจ่ายเงินส่วนนี้ได้ ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ศูนย์สิรินทรฯทราบ และจะช่วยเหลือผู้ป่วยที่พิการต่อไป

“หลังจากนั้นผมก็ไปที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อแจ้งเรื่องดังกล่าว ปรากฎว่าไม่มีเสียงตอบรับใดๆ ผมไปตั้งหลายครั้ง ได้รับคำยืนยันว่า ตามกฎหมายของประกันสังคมไม่รองรับผู้พิการที่มีภาวะพิการก่อนเข้าทำงานเป็นผู้ประกันตน หรืออีกนัยคือ จะอยู่ในสิทธิการช่วยเหลือทางการแพทย์ต่างๆ ก็ต่อเมื่อเกิดความพิการจากการทำงานเท่านั้น ผมก็บอกว่า หากไม่มีสิทธิช่วยทำหนังสือชี้แจงกลับด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับความสนใจใดๆ และเมื่อผมจำเป็นต้องเข้ารับการฟื้นฟูขาเทียม หรือเปลี่ยนขาเทียมก็ไม่เคยได้รับการดูแลจากประกันสังคม ต้องออกเงินเองมาตลอดจนบัดนี้ก็ร่วม 10 ปีแล้ว แม้ล่าสุดผมจะเคยเห็นที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่มีใบปลิวติด แต่เป็นใบปลิวไม่กี่ใบ คนแทบไม่เห็น โดยระบุว่าผู้พิการประกันสังคมสามารถเบิกเงินได้ 2 พันบาท จำนวน 2 ครั้งต่อปี เพื่อการรักษาพยาบาล รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ถามว่าใครจะเห็น ที่สำคัญเงิน 4 พันบาท ไม่เพียงพอ และผมก็ไม่แน่ใจว่าให้จริงด้วยหรือไม่ ”

เขาย้ำอีกว่า กรณีหากซ่อมขาเทียมก็จะอยู่ที่ราว 3 พันบาท ซึ่งจะซ่อมราวปีละ 1 -2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการดูแล หากไม่สามารถซ่อมแซมได้ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนขาเทียมคู่ใหม่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท ประเด็นคือ แม้เงินในการซ่อมบำรุงขาเทียมจะไม่มาก แต่เรื่องของจิตใจที่ผู้พิการต่างทำงานส่งเงินสมทบ สิ่งที่ได้รับควรมีสิทธิประโยชน์สำหรับพวกเขาด้วยหรือไม่

“ตอนนี้ทำใจอย่างเดียว เพราะคงไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ ผมก็ไม่เข้าใจว่า เพราะผมพิการก่อนทำงาน ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตรงนี้ หรือเพราะอะไร เนื่องจากเท่าที่ทราบระบบประกันสุขภาพอื่นๆ โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลับให้การดูแลผู้พิการ ทั้งการรักษาพยาบาล ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ รวมทั้งกรณีซ่อมแซมไม่ได้ก็ให้สิทธิเปลี่ยนใหม่ได้ด้วย ทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลควรหันมาสนใจผู้พิการที่ทำงานในบริษัทเอกชนบ้าง เพราะเราไม่อยากเป็นผู้พิการที่ทำงานได้ แต่ต้องแลกกับขาดการดูแลด้านการรับบริการทางการแพทย์ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรม ไม่ได้ทำให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลกลับมาใส่ใจคนกลุ่มนี้ และขอให้พัฒนาสิทธิประโยชน์ ไม่ต้องมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพฯ ขอแค่มีมาตราฐานเท่ากัน ไม่ด้อยกว่าเป็นพอ” ชายผู้พิการกล่าวอย่างมีความหวัง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ในฐานะที่ดูแลด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆของผู้ประกันตน กล่าวชัดเจนว่า จริงๆแล้วในรายละเอียดของระบบประกันสังคม ให้สิทธิสำหรับผู้พิการทุกคนอยู่แล้ว และไม่ได้กำหนดว่าผู้พิการที่ได้รับสิทธิจะต้องพิการจากอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน ซึ่งเรื่องนี้มีการแจ้งชัดเจนให้กับสำนักงานประกันสังคมระดับพื้นที่ เพื่อให้กระจายไปยังเครือข่ายสถานบริการในสังกัดประกันสังคมแต่ละเขต อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากความเข้าใจผิด หรือการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนก็เป็นได้ เพราะสิทธิประกันสังคมไม่ทอดทิ้งผู้ประกันตน ไม่ว่าจะพิการหรือไม่ก็ตาม