ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร รับใช้ประชาชนมานานกว่า  3 ทศวรรษ "หมอชาวบ้าน" ยังคงเดินหน้าภารกิจ ของพวกเขา อุดมการณ์มั่นคง เป้าหมายชัด ขยายผล สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง อีกโมเดลต้นแบบ "เพื่อสังคม"  ที่สะท้อนความยั่งยืนอย่าง "ไม่ตกยุค"

แอพพลิเคชั่นด้านการดูแลสุขภาพ (DoctorMe) เว็บไซต์ เฟชบุ้ค ทวิตเตอร์ ยูทูป สารพัดคลังความรู้เรื่องสุขภาพยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างล้นหลาม

ใครจะคิดว่านี่คือ "หมอชาวบ้าน" องค์กรเพื่อสังคมที่อยู่รับใช้ผู้คนมานานถึง 33 ปี..ก็ไม่ว่าจะมองมุมไหน ที่นี่ไม่เห็นจะแก่ หรือทำท่าว่าจะ "ตกยุค" เลยสักนิด

หมอชาวบ้าน เป็นการรวมตัวกันของเหล่า อาจารย์หมอ อดีตนักต่อสู้ยุค 14 ตุลา อย่าง ศ.นพ. ประเวศ วะสี, ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์, ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว และ รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ร่วมกับ นักพัฒนา ชุมชน นักวิชาการ และนักธุรกิจ ผู้เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์เพื่อประชาชน

พวกเขาไม่ได้ต่อสู้ด้านการเมือง แต่เลือกนำความรู้ความเชี่ยวชาญ ทางด้านการแพทย์ และสาธารณสุข มาสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้คนในสังคม ผ่าน "มูลนิธิหมอชาวบ้าน" ที่เริ่มจากการทำนิตยสารหมอชาวบ้าน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพ ส่งเสริมการดูแลรักษาและพึ่งพาตนเองของประชาชน  บนความตั้งใจที่ว่า "ทำชาวบ้านให้เป็นหมอ ทำหมอให้เป็นชาวบ้าน"

"เราต้องการทำสื่อที่จะช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่มีอะไรก็ไปหาหมอ แต่ต้องการสนับสนุนให้ชาวบ้านทุกคนเป็นหมอ คือ ให้เขามีความรู้ที่ถูกต้องที่จะช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น จากสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเขา" ไอเดียเริ่มต้นของ "หมอชาวบ้าน" ที่ "รศ.เนตรนภา ขุมทอง" กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิหมอชาวบ้าน บอกกับเรา

"นิตยสารหมอชาวบ้าน" สื่อสุขภาพฉบับแรกคลอดจากความตั้งใจ เมื่อกว่า 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ก่อนขยายสู่ "วารสารคลินิก" คู่มือสำหรับคุณหมอ เพื่อการดูแลรักษาคนไข้ที่ถูกต้อง สื่อสะท้อนความคิด "ให้หมอเป็นชาวบ้าน" คือ ต้องเข้าใจความเชื่อ และวัฒนธรรมของชาวบ้านที่มารักษา ไปพร้อมกัน

ก่อนพัฒนามาสู่ พ็อกเก็ตบุ้คด้านสุขภาพ สื่อดิจิทัลด้านสุขภาพ กิจกรรมรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพในด้านต่างๆ การฝึกอบรม จัดสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้านสุขภาพ ตลอดจน ผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระด้านสุขภาพ ตามติด เป็นภารกิจอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้..

"เรามีแผนงานสำคัญ คือ การสร้างองค์ความรู้ สร้างเสร็จก็กระจายไปตามช่องทางต่างๆ นอกจากสื่อแล้ว การอบรม ก็เป็นอีกช่องทางสำคัญ เราอบรมให้กับ พระ คุณครู และประชาชนทั่วไป พร้อมสร้างเครือข่ายกับบริษัทต่างๆ เพื่อกระจายความรู้ออกไปในวงกว้าง"

อบรมคนหลายร้อยรุ่น ที่ยังคงเน้นคำว่า "ฟรี" เพื่อบริการความรู้ด้านสุขภาพให้ถึงคนหมู่มากได้ เม็ดเงินขับเคลื่อนอุดมการณ์ มาจากทุนสนับสนุน ทั้ง การบริจาค การเขียนโครงการเสนอไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึงรายได้ที่เกิดจากผลิตสื่อเพื่อจำหน่าย และการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร วรสาร และ พ็อกเก็ตบุ้ค ที่เมื่อมีกำไรเข้ามาก็จะแบ่งเม็ดเงินเข้ามูลนิธิฯ ต่อยอดเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

แหล่งองค์ความรู้ของหมอชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น คุณหมอ เภสัชกร นักโภชนาการ และนักวิชาการ ที่มาเขียนบทความและร่วมเป็นวิทยากร ล้วนเกิดจากพลังของ "จิตอาสา" ทำเป็นวิทยาทาน ไม่ได้รับค่าตอบแทน ทำให้หมอชาวบ้านสามารถผลิตสื่อราคาถูก เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น มีส่วนหนึ่งไว้แจก และจำหน่ายให้กับคนที่มีกำลังซื้อ หมุนเป็นเม็ดเงินขับเคลื่อนการทำงานของมูลนิธิฯ ต่อไป

สำหรับ "คนทำงาน" ที่มาเป็นกองกำลังให้กับหมอชาวบ้าน พวกเขามีนโยบายชัดเจน ในการจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรม และมากกว่าการทำงานราชการ เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ และมีไฟที่จะทำงานเพื่อสังคมต่อไป

นอกจากการทำงานเพื่อชาวบ้าน หมอชาวบ้าน ยังมีความคิดเข้าไปแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย แน่นอนว่างานใหญ่ขนาดนี้ พวกเขาคงทำคนเดียวไม่ได้ ที่มาของการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ หนึ่งผลงาน คือ การร่วมกับ กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รณรงค์เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตยาเลิกใส่สารคาเฟอีนในตัวยา เนื่องจากจะส่งผลให้คนไข้ติดยาและใช้ยาจนเกิดอาการกระเพาะทะลุ ซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิต

ผลของการทำงานแบบสู้ไม่ถอย ทำให้ในเวลาต่อมา รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณะสุข มีคำสั่งให้บริษัทยานำสารตัวดังกล่าวออกจากสูตรยาทั้งหมด สะท้อนผลสำเร็จในเชิงนโยบาย ที่เกิดได้จากความร่วมมือ ไม่โดดเดี่ยว ระหว่างความพยายามในการแก้ปัญหาเชิงนโยบายเดินหน้าไป พวกเขาก็มีพันธกิจสำคัญ คือ การผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระด้านสุขภาพ หนึ่งผลงานที่เห็นได้ชัด คือ "มูลนิธิรณรงค์เพื่อการ ไม่สูบบุหรี่" ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิหมอ ชาวบ้าน แต่เมื่อเติบโตขึ้น ขยับขยายใหญ่ขึ้น ก็เลือกที่จะแยกตัวออกไป เพื่อปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของตนเองได้เต็มที่ขึ้น

"เราไม่อยากให้องค์กรของหมอชาวบ้าน เทอะทะ เพราะการบริหารอะไรที่เล็ก จะคล่องตัวกว่า Small is Beautiful ไม่ต้องใหญ่โต โครงการไหนที่ทำแล้วดี ก็ผลักดันให้เขาเติบโตต่อไป"

ยุคที่สื่อใหม่ เข้ามาเป็นตัวเลือกให้กับผู้คนมากขึ้น หมอชาวบ้านก็ไม่ได้ทำตัวคร่ำครึ หรือปฏิเสธโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป ที่มาของการร่วมกับ สถาบันเชนจ์ ฟิวชัน และ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มต้นนำองค์ความรู้ด้านสุขภาพเข้าสู่โลก โซเชียลมีเดีย เริ่มตั้งแต่พัฒนาเว็บไซต์ หมอชาวบ้าน (www.doctor.or.th<\<>http://www.doctor.or.th<\>> ) ขึ้นมาในปี 2551 และที่ดูจะฮือฮา ที่สุด คือการจัดทำคู่มือหมอชาวบ้านในรูปโมบาย แอพพลิเคชั่น "DoctorMe" เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 3 แสนราย

"ยุคนี้เป็นสังคมของดิจิทัล เป็นรอยต่อที่ข้อมูลข่าวสารมหาศาล  ก้าวต่อไปของเราจึงใช้ช่องทาง เหล่านี้ในการเข้าถึงชาวบ้าน ทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ และใช้โอกาสที่รัฐบาลให้เด็กได้มีแทบเล็ต มาพัฒนาคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับเด็ก ขณะกลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงเทคโนโลยี เราก็จะใช้สื่อวิทยุชุมชน ในการนำข้อมูลข่าวสารไปยังพวกเขา"

ในยุคที่สังคมเปลี่ยน ว่องไวไปตามกระแสบริโภคนิยม จนตามไปให้ข้อมูลชาวบ้านกันไม่หวาดไม่ไหว พวกเขาต้องทำงานกันเหนื่อยขึ้น เพื่อให้ ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในทุกมิติ ไม่เพียงมิติด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจด้วย เพื่อให้ "รู้เท่าทัน" และยืนหยัดด้วยลำแข้งอย่างแท้จริง

การทำงานที่โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ มีผลงาน ออกมาอย่างต่อเนื่อง มีวิธีการระดมทุน ระดมทรัพยากรและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีวิธีการสร้างเครือข่าย และมีความยั่งยืน ทำให้ "หมอชาวบ้าน" คว้ารางวัล "NGO Award 2012" ต้นแบบองค์กรพัฒนาเอกชนดีเด่นประจำปี 2555 มาอย่างไร้ข้อกังขา

หนึ่งคนทำงานอย่างอาจารย์ เนตรนภา ฝากข้อคิดที่น่าสนใจไว้ว่า..

"การเป็นองค์กรเพื่อสังคมที่น่าเชื่อถือ เราต้องแสดงได้ชัดเจนว่า ไม่มีผลประโยชน์ เป็นองค์กร เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อย่างบริษัทที่จะเป็น สปอนเซอร์ให้กับหมอชาวบ้าน ต้องเป็นสินค้าที่ดี ไม่เป็นโทษต่อสุขภาพ แม้เขาจะให้เงินมากมายในแต่ละปี แต่ถ้าไม่ดีเราก็ปฏิเสธไป เพราะแนวคิดเริ่มแรกสุด คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ โดยที่ไม่ก่อโทษใดๆ ฉะนั้นความน่าเชื่อถือ จึงเป็นสิ่งที่ต้องสร้างไว้ตลอดเวลา และยืนหยัดในเรื่องนี้

เราจะไม่เอาเรื่องผลกำไรทางธุรกิจเข้ามา แล้วทำให้จุดยืนเขวไป เพราะถ้าจะยืนฝั่งประชาชน ก็ต้องเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน นี่คือจุดยืน"

จุดยืนของคนที่อยากทำชาวบ้านให้เป็นหมอ และพร้อมปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งความเชื่อใจของชาวบ้าน ก็คือความยั่งยืนของ "หมอชาวบ้าน" ในวันนี้

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 ตุลาคม 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง