หลายคนอาจคิดว่า การเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์ในปี 2558 จะทำประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติ"สมองไหล"สูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนาประเทศไป แต่อีกนัยหนึ่งก็อาจจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจากทุกภาคส่วน ในการเพิ่มขีดความสามารถของบุคคลากรสายวิชาชีพต่างๆ ให้มีมาตรฐานพร้อมแข่งขันกับตลาดแรงงาน
เฉกเช่น"วิชาชีพพยาบาล"1 ใน 7 แรงงานฝีมือตามกรอบข้อตกลงคุณสมบัตินักวิชาชีพ หรือ Mutual Recognition Arrangement (MRA) ที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในอาเซียน
สำหรับประเทศไทยแล้ว อาจเป็นความท้าทายของระบบสาธารณสุข ทั้งในแง่ของผู้ผลิต นั้นคือสถาบันการศึกษา, กลุ่มผู้จ้าง โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึง "พลเมือง"ผู้รับบริการ ขณะที่พยาบาลผู้ให้บริการดูแล กลับมีปัญหาขาดแคลนโดยเฉพาะพยาบาลระดับชุมชน แน่นอนว่าการเปิดอาเซียน ย่อมทำให้เกิดการ"ไหลเข้า" ของพยาบาลต่างชาติ เช่น จากประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้มีอัตราการผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ได้มาก และหากสามารถสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลของไทยได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้
ขณะเดียวกัน ความขาดแคลนที่มีอยู่มากอาจทวียิ่งขึ้น เมื่อ"พยาบาลกลุ่มคุณภาพ" ที่ไม่ได้รับรัฐสวัสดิการอย่างเป็นธรรม ตัดสินใจ"ไหลออก" ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ ที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า มีสวัสดิการดีกว่า เพราะพลเมืองของเขามีกำลังซื้อบริการดูแลสุขภาพที่สูงกว่า
นี่ยังไม่รวมถึงนโยบายศูนย์กลางสุขภาพ (Medical Hub) ที่ประเทศไทยพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อก้าวไปให้ถึงเป้าหมาย ...ก็พอมองเห็นสภาพที่สวนทางกันระหว่างความต้องการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย และความสามารถผลิตได้
อย่างที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนพยาบาลอีกแห่งของไทย ในแต่ละปีที่นี่สามารถผลิตพยาบาล เฉลี่ยปีละ 230 คน ส่งตรงเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นหลัก
ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึงภาพรวมของพยาบาลไทยว่า พยาบาลเป็นวิชาชีพที่เสียสละ ต้องทำด้วยใจรัก และมีความสำคัญไม่แพ้แพทย์ผู้รักษาเพราะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุดยามรักษาตัวในโรงพยาบาลและระดับชุมชนก็ยังมีหน้าที่สำคัญในการดูแล และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นถิ่นนั้นๆแต่ทว่าอัตราส่วนของพยาบาลกับผู้ป่วยก็ยังไม่สมดุลกัน ทำให้ความคาดหวังที่จะได้รับการดูแลเต็มที่ 100%ย่อมเป็นไปได้ยาก ซึ่งในส่วนของไทย พยาบาลและผู้ป่วยมีอัตราเฉลี่ยที่1 ต่อ 600 ขณะที่สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย เฉลี่ยที่ 1 ต่อ 200
เมื่อเป็นเช่นนี้ การเปิดอาเซียนซึ่งพลเมืองต่างไหลเวียนกันอย่างเสรี อีกทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ และโรคอุบัติใหม่ หากพยาบาลยังขาดแคลนก็ย่อมส่งผลกระทบมากขึ้น ในจุดนี้"โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี" จึงเตรียมพร้อมรับมือประชาคมอาเซียน
"โรงเรียนพยาบาลรามาฯ เรามีเป้าหมายการผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ผ่านโครงการพัฒนาของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาเขตบางพลี จ.สมุทรปราการ จากเดิมที่ผลิตได้ประมาณ230 ต่อปี จะเพิ่มเป็น 300-350 คนต่อปีตามจำนวนเตียงที่จะรับรองผู้ป่วยของโรงพยาบาล"
ขณะเดียวกันจะพัฒนาหลักสูตรพยาบาลให้มีความสากลทั้งวิธีการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Problem Based Learning) และพัฒนาด้านจิตปัญญาศึกษา (Transformative Education) ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพพยาบาล ทั้งการเป็นผู้นำ การติดต่อสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความสามารถในการตัดสินใจ เหล่านี้เป็นทักษะที่ทำให้พยาบาลสามารถเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ในอนาคตได้ตลอดเวลา
"เราเน้นมากเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ เพราะถือว่ามีความจำเป็นและยังพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี 2 ภาษา หลักสูตรปริญญาโท-เอกโดยทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดาสวีเดน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น แต่ละปีเรามีทุนฝึกงาน ทุนศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนนักศึกษาพยาบาลที่มีแววดีพัฒนาไปสู่ระดับอาจารย์สอนพยาบาลด้วย"
สำหรับหลักสูตรปริญญาโท มีความน่าสนใจตรงที่การมุ่งสร้างบุคลากรที่มีความชำนาญการดูแล"ผู้สูงอายุ" เพื่อรองรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุในอนาคต โดยเฉพาะระดับภูมิภาคอาเซียน อย่างสิงคโปร์ เวียดนาม และไทยเอง ในปี 2558 ประชากรกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้น 11-12%, 17% และ 8% ตามลำดับซึ่งทำให้ความต้องการพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้นไปด้วย
หลักสูตรปริญญาโท สาขาการดูแลผู้สูงอายุเป็นการแยกสาขาออกมาจากกลุ่มผู้ใหญ่ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะลักษณะของผู้สูงอายุ ทั้งกายภาพ จิตใจมีความซับซ้อน และเปราะบาง จึงจำเป็นที่ต้องสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในการดูแลเมื่อเกิดโรคระดับเฉียบพลัน ใน5 โรคหลักที่พบมากในคนวัยนี้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน โรคไขข้อ และภาวะความจำที่เสื่อม หากผู้ดูแลขาดความเข้าใจก็จะยิ่งทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งนี้ แม้หลายคนจะคิดว่าเด็กกับผู้สูงอายุ นั้นคล้ายกันคือ ขาดความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองยามเจ็บป่วย แต่แท้จริงแล้วคนสองวัยย่อมมีความต่าง โดยเฉพาะด้านจิตเวชวิทยา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำร่างกายฟื้นตัวจากโรคภัยได้เร็วหรือช้า
อย่างไรก็ดี หลักสูตรนี้ยังอยู่ระหว่างการรับรองจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง และคาดหมายว่าจะสามารถเปิดรับผู้เรียนรุ่นแรก ในปี 2557
แม้จะมีเป้าหมายผลิตชัดเจน มีหลักสูตรสากลรับรอง แต่ก็มีปัญหาที่น่ากังวล นั้นคือสัดส่วนของคณาจารย์ที่ลดน้อยลง ทั้งจากวัยเกษียณ และกลุ่มคุณภาพที่เป็นที่ต้องการของสถาบันผลิตพยาบาลในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
ผศ.ดร.จริยา กล่าวว่า"สภาการพยาบาล กำหนดอัตราส่วนจำนวนอาจารย์ และนักศึกษาพยาบาล ไว้ที่ 1: 6 คน หากไม่พอเพียงจะถือว่าไม่ได้รับการรับรองคุณภาพ ซึ่งการเปิดอาเซียนก็ทำให้เสี่ยงต่อการไหลออกของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ไปซบอกสถาบันผลิตพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะขณะนี้มาตรฐานอาจารย์พยาบาลของไทยนั้นอยู่ในระดับสากล และถือว่าดีที่สุดในอาเซียนซึ่งจะเกิดวิกฤติทันที หากสัดส่วนอาจารย์ไม่สมดุล เราก็เปิดสอนไม่ได้ผลิตพยาบาลออกมาทดแทนความขาดแคลนไม่ได้"
ถือเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ทั้งระดับมือใหม่และระดับผู้เชี่ยวชาญที่รัฐบาล ไม่อาจเพิกเฉยในการสร้างแรงจูงต่อวิชาชีพพยาบาลอีกต่อไป
ผศ.ดร.จริยายังยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวนั่นคือ กลุ่มนักศึกษาพยาบาลรามาธิบดี เมื่อสำเร็จการศึกษา พวกเขาจะทำงานที่โรงพยาบาลรามาฯเป็นหลัก แต่ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ มีสถานะเพียงแค่พนักงานมหาวิทยาลัย ถ้ามองเรื่องค่าตอบแทน อาจสูงกว่าข้าราชการ แต่ก็ยังไม่เทียบเท่าเอกชนจึงเกิดภาวะสมองไหลตลอดเวลา
"ค่าตอบแทนก็ส่วนหนึ่ง สวัสดิการก็ส่วนหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องมีความสมดุลกัน" ผศ.ดร.จริยา สะท้อนความเห็น
หลักสูตรพยาบาลรามาธิบดีเปิดรับนักศึกษาจากระบบโควตา และแอดมิสชั่นส์ เรียน 4 ปีเต็ม โดยนักศึกษา ปีที่ 1-2 จะเรียนที่วิทยาเขตศาลายา เน้นวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เมื่อขึ้นชั้นปี 2 จะเป็นการปูพื้นฐานด้านวิชาชีพพยาบาลและในชั้นปี 3-4 จะย้ายมาเรียนวิชา เฉพาะด้าน ที่โรงเรียนพยาบาลรามาฯ พญาไท พร้อมให้ฝึกปฏิบัติการ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลรามาฯ และโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ในความร่วมมือ
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรปริญญาโท-เอก เป็นการศึกษาแบบนานาชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เน้นความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ พฤติกรรมของมนุษย์ และการวิจัยร่วมกันและหลักสูตรการพยาบาลระยะสั้น คำนวณคร่าวๆ ที่นี่สามารถผลิตพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุข เฉลี่ยปีละ 600 กว่าคน
สำหรับนักเรียน ม.ปลาย ที่สนใจแวะเยี่ยมชมบรรยากาศได้ทั้งที่ศาลายา และพญาไท หรือคลิกที่ http://nursing. mahidol.ac.th
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555
- 21 views