ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มูลนิธิแพทย์ชนบทมอบรางวัลหมอดีเด่น สะท้อนปัญหาโรงพยาบาลชนบทขาดทั้งคน งบ อุปกรณ์ ระบุ แพทย์ 1 คน ต้องดูแลคนไข้สูงถึง 1 หมื่นคน ยอมรับเหนื่อยแต่ก็เต็มใจให้บริการ ฝากกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลชุมชน ด้านผอ.โรงพยาบาลมายอ จ.ปัตตานี พร้อมรักษาคนไข้อย่างดีที่สุด อย่างเป็นธรรม

ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นกองทุน นพ.กนกศักดิ์ พูลเกษร ประจำปี 2555 ให้แก่ นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผอ.โรงพยาบาลมายอ จ.ปัตตานี นพ.ไพโรจน์ รัตนะเจริญธรรม ผอ.โรงพยาบาลปากคาด จ.บึงกาฬ และ นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผอ.โรงพยาบาลมายอ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ความรุนแรงระดับสีแดง ปฏิบัติงานในพื้นที่มาตลอด 18 ปี กล่าวว่า ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะเพื่อนร่วมงานทุกคนดีมาก ส่วนตัวไม่อยากได้รางวัลอะไร อยากอยู่เงียบ ๆ มากกว่า เพราะถ้าดังอาจมีอะไรมาหาเร็วขึ้น รางวัลที่ได้เป็นรางวัลของบุคลากรทุกคน

"มีหลายคนถามว่าทำไมผมจึงอยู่โรงพยาบาลชุมชนที่นี่ได้นาน ทั้งที่ไม่ใช่คนพื้นเพที่นี่หรือเคยอยู่มาก่อน ผมชอบผู้คนที่นี่ ผมว่าคุณธรรมของศาสนากับวิถีชีวิตของคนที่นี่น่ารักมาก ไม่เปลี่ยนแปลงแม้เวลาจะเปลี่ยนไป ความรุนแรงเป็นสิ่งที่มาทีหลัง ดังนั้นก็พยายามทำหน้าที่ดูแลคนไข้ในพื้นที่อย่างดีที่สุด ไม่มีความขัดแย้งกับชาวบ้าน ไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง เช่น สร้างความไม่เป็นธรรมในการให้บริการ แต่ต้องให้บริการอย่างเป็นธรรม ดังนั้นการให้บริการแต่ละอย่างเราคิดมากขึ้น ถามว่าเจ้าหน้าที่ยังกลัวอยู่หรือไม่ ก็ยังกลัวอยู่ ซึ่งความกลัวเป็นปัญหาใหญ่มาก ส่วนปัญหาความขาดแคลนเรื่องคน งบประมาณ อุปกรณ์ องค์ความรู้ ก็ยังคงมีอยู่ เพราะเวลาจะเชิญใครไปบรรยายให้ความรู้กับบุคลากรฟังก็ไม่มีใครกล้าไป" นพ.นิรันดร์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวหรือไม่ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ไม่มีปืน เพราะถ้ามีปัญหาคงยิงไม่ถูก เสื้อเกราะก็ไม่มีเพราะถ้าคนร้ายยิงหัวก็ป้องกันไม่ได้อยู่ดี ตนมีเกราะอยู่ 2 อย่างคือ 1. ลดเงื่อนไขที่ไม่ดี เช่น เป็นคนไม่ดี พูดไม่ดี แต่ต้องดูแลคนไข้อย่างดีที่สุด 2. แต่ก่อนใช้เวลาว่างขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ไปตามที่ต่าง ๆ ตอนนี้ก็งดและอ่านหนังสือแทน

ด้าน นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การไปเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นการเดินตามอุดมการณ์ที่ต้องการทำงานให้กับเพื่อนมนุษย์ โดยไม่หวังอามิสสินจ้าง ไม่ต้องรู้ว่าคนไข้เป็นใคร ลำบากอย่างไร ได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้คนที่ลำบากจริง ๆ เพราะในชนบทขาดแคลนทุกอย่างทั้งบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล งบประมาณ ในขณะที่ต้องดูแลบุคลากรจำนวนมาก พอมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คนไข้ก็เพิ่มมากขึ้น แพทย์ต้องทำงานหนัก อย่างในภาคอีสานแพทย์ 1 คนดูแลคนไข้ 1 หมื่นคน เหนื่อยแต่ก็เต็มใจให้บริการ

ส่วน นพ.ไพโรจน์ รัตนะเจริญธรรม ผอ.โรงพยาบาลปากคาด จ.บึงกาฬ กล่าวว่า สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือ การส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลาประสานอีกทั้งโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ คือโรงพยาบาลบึงกาฬ ซึ่งกลายเป็นโรงพยาบาลจังหวัดภายหลังได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด ยังไม่มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยมากพอ นอกจากนี้ยังมีคนไข้จากประเทศลาวที่ข้ามมารักษาจำนวนมาก ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้คิดเป็น 5-6% ส่วนบุคลากรขาดแคลนทุกส่วน ดังนั้นอยากฝากให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลชุมชนด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มกราคม 2556