ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ระบบสาธารณสุขไทยมีการพัฒนาอย่างมากในช่วง 10 ปีนี้ ซึ่งด้านหนึ่งทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น แต่อีกด้านคือทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในระบบจนแน่น

"โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล" เป็นแนวคิดที่เริ่มมาในระยะหนึ่งแล้ว โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงพื้นที่เพื่อดูร.พ.ตัวอย่างที่มีการดำเนินโครงการลดความแออัดแล้ว โดยเลือกร.พ.สมเด็จพระญาณสังวร อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เป็นร.พ.ชุมชนขนาด 30 เตียง ที่ห่างจากอำเภอเมืองเพียง 15 กิโลเมตร ซึ่งเปิดให้ร.พ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นร.พ.ใหญ่ มีผู้ป่วยจำนวนมากทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน

คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีก่อน เคยมีคดีที่ทำให้แพทย์ร.พ.ชุมชนเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพราะศาลตัดสินให้แพทย์และ โรงพยาบาลมีความผิด จากการผ่าตัดโดยไม่มีวิสัญญีแพทย์ ทำให้หลังจากนั้นร.พ.ชุมชนเกือบทั่วประเทศหลีกเลี่ยงการผ่าตัด ทำให้ห้องผ่าตัดไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังระบบสาธารณสุขไทยที่บุคลากรแพทย์ยังขาดแคลน

กรณีผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาเพื่อผ่าตัด นพ.พิชัย พงศ์มั่นจิต ศัลยกรรมทั่วไป ร.พ.เชียงรายประชานุเคราะห์ แพทย์ที่เดินทางมาผ่าตัดบอกว่า ที่ร.พ.ศูนย์ ถือว่ามีความแออัดมาก ดังนั้น แต่ละกรณีจะใช้เวลาในการรอคิวผ่าตัดนาน ตั้งแต่ 3-8 เดือน ซึ่งบุคลากรในร.พ.ศูนย์มีเพียงพอ แต่ห้องผ่าตัดต้องเวียนกันใช้ในแต่ละหน่วยแพทย์ หากสามารถนำคนไข้ที่ยังรอคิวได้ กระจายมาผ่าตัดในร.พ.ชุมชน ซึ่งไม่ได้ใช้ห้องผ่าตัด จะช่วยลดคิวลงจากเดือนเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์

กรณีที่นำมาผ่าตัดในร.พ.ชุมชน แพทย์จะพิจารณาแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงในการรอคิว เช่น ผู้ป่วยโรคไส้เลื่อน แม้จะมีความเสี่ยง ลำไส้อุดตัน ไส้เน่า แต่ก็น้อยและยังรอได้ หรือผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดช่องท้องเพื่อวางสายล้างไตผ่านหน้าท้อง (CAPD) หรือการผ่าตาต้อกระจก เป็นต้น การมีห้องผ่าตัดแบบแบ่งกันจึงถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า

การกระจายผู้ป่วยเพื่อลดความแออัด เช่น การผ่าต้อกระจก ทำหมัน ผ่าไส้เลื่อน ผ่าซีสต์ ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ไม่มีความเสี่ยงมาก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. อธิบายว่าในอนาคตระบบสาธารณสุขจะกระจายทรัพยากรเพื่อใช้ให้คุ้มค่าโดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายและร่วมกันแบ่งปันทรัพยากรและใช้ร่วมกันอย่างคุ้มค่า เพราะร.พ.ใหญ่ห้องผ่าตัดจะใช้หลายโรคร่วมกัน หากขยายมายังร.พ.ชุมชนได้ถือเป็นการเพิ่มห้องโดยลงทุนต่ำ และประชาชนได้รับประโยชน์เต็มที่ แต่อนาคตการเพิ่มศักยภาพร.พ.ชุมชนให้ประชาชนมั่นใจ จะช่วยลดความแออัดร.พ.ใหญ่ลงได้เช่นกัน

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยบรรเทาปัญหาระบบสาธารณสุขได้อีกเปลาะ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง