ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปาฐกถาเกียรติยศนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประจำปี 2555

เรื่อง จะต้องช่วยกันรักษาไว้

ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี

ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ

วันพุธที่  27  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2556

 

โดยนายแพทย์วิชัย  โชควิวัฒน

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

 

เดิมทีการประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 18 มกราคม ซึ่งเป็นวันจากไปของนายแพทย์สงวน  นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่อเป็นโอกาสในการรำลึกถึงคุณงามความดีของ “บุรุษรัตน์สามัญชนแห่งวงการสาธารณสุขไทย” ในยุคสมัยของพวกเราที่จากพวกเราไปในวัยเพียง 55 ปี แต่ได้สร้างคุณูปการอเนกอนันต์ให้แก่วงการสาธารณสุขของประเทศไทย

มนุษย์เราเหนือกว่าสัตว์โลกทั่วไปประการหนึ่ง คือสัตว์โลกทั่วไปเกิดได้เพียงครั้งเดียวแล้วก็ตายจากไป แต่มนุษย์มีโอกาสเกิดถึงสามครั้ง ครั้งแรกเกิดจากครรภ์มารดาเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย มนุษย์มีโอกาสเกิดครั้งที่สองคือ “เกิดทางพุทธิปัญญา” หรือการ “ได้ดวงตาเห็นธรรม” เห็นสัจธรรมแห่งชีวิต เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความไม่ใช่ตัวตนของตน และเห็นว่านอกจากตนจะ “ล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” แล้วยังสามารถช่วยเหลือ บรรเทา ขจัด หรือป้องกันทุกข์ของผู้คนได้ด้วย บุคคลใดได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วได้ทุ่มเทใช้ความเพียรพยายามอย่างไม่ลดละ เพื่อช่วยเหลือแก้ทุกข์ให้แก่ประชาชน เขาก็มีโอกาสเกิดครั้งที่สามคือ “เกิดในประวัติศาสตร์”

คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่เกิดในประวัติศาสตร์แล้วในฐานะผู้สร้างระบบหลักประกันสุขภาพอันงดงามขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย เป็นระบบประกันสุขภาพ “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” โดยแท้จริง สมควรที่พวกเราในฐานะที่เป็นประชาชนพลเมืองของประเทศจะต้องช่วยกันรักษาไว้

ระบบหลักประกันสุขภาพ คือหลักประกันว่าเมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาตามสมควร เรื่องดังกล่าวนี้เป็น “ความใฝ่ฝัน”  ของมนุษย์มาช้านาน ในประวัติศาสตร์อันใกล้ของประเทศไทย  ดร.ป๋วย       อึ๊งภากรณ์ ก็ได้เขียนไว้ใน “ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ตอนหนึ่งว่า “ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก”

ในญี่ปุ่น เรียวมะ วีรบุรุษสามัญชน ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากระบอบโชกุนคืนให้ระบอบจักรพรรดิ โดยไม่ต้องเกิดสงครามกลางเมือง และเกิดการปฏิรูปเมจิทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ ในการเคลื่อนไหวของเรียวมะ เขา “วาดฝัน” สังคมอุดมการณ์ของญี่ปุ่นข้อหนึ่งคือ คนญี่ปุ่นเมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาโดยสมควร ซึ่งทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นที่เข้มแข็งสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

หลังเหตุการณ์ที่มวลนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ออกมาแสดงออกถึงความรักและหวงแหนในระบอบประชาธิปไตย จนเสียสละได้แม้ชีวิต เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ก็ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2517 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “รัฐพึงให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า” ทำให้ปีต่อมารัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยการนำของ ม.ร.ว.  คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้เริ่ม “โครงการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยในด้านการรักษาพยาบาล” ด้วยการจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อนเพื่อการดังกล่าว และเริ่มประกาศเจตนารมณ์ให้มีโรงพยาบาลในทุกอำเภอด้วย โครงการดังกล่าว “โดนใจ” ประชาชน เพราะเป็นการตอบสนอง “ความต้องการอันจำเป็น” ของประชาชน รัฐบาลสมัยต่อๆ มา นอกจากไม่ล้มเลิกโครงการนี้ ยังจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยขยายการดูแลไปยังประชากรกลุ่มอื่นๆ เช่น เด็ก ผู้พิการ และบุคคลที่สังคมควรให้การช่วยเหลือเกื้อกูลอื่นๆ

ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี มีความพยายามที่จะพัฒนาโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ใช้เงินนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้ รวมทั้งบุคคลที่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลอื่นๆ อย่างทั่วถึง เช่น การทำบัตรสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยในด้านการรักษาพยาบาล รวมทั้งความพยายามทำโครงการ “บัตรสุขภาพ”ราคาย่อมเยา แต่ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

นับว่าโชคดีของประเทศไทยที่มีบุคคลอย่างนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่หมกมุ่นครุ่นคิดและลงมือทดลองปฏิบัติเพื่อให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานนับเป็นเวลาข้ามทศวรรษ เริ่มจากเข้าไปวางระบบบริการด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ระบบประกันสังคมจนเข้ารูปเข้ารอย สามารถ “ปฏิรูป” ระบบการเงินการคลังและการให้บริการแก่คนไข้ซึ่งเป็น “ผู้ประกันตน” ได้สำเร็จ เกิดผลดีอย่างชัดเจน คือ 1) ผู้ประกันตนสามารถไปรับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายเงินไปก่อนแล้วมาเบิกคืนภายหลังเหมือนระบบรักษาพยาบาลของข้าราชการขณะนั้น 2) สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ด้วยระบบ “เหมาจ่ายรายหัว” ทำให้กองทุนประกันสังคมนอกจากไม่ “ล้มละลาย” แล้ว ยังเพิ่มพูนขึ้นแม้รัฐบาลจะ “เบี้ยว” จ่ายเงินสมทบเป็นบางช่วง มีผลให้ผู้ประกันตนไม่ต้องเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบ

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมในการช่วยวางระบบด้านการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชนคนไทยจำนวนไม่น้อยในระบบประกันสังคม แต่คุณหมอสงวน ยังหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องนี้ต่อมาอย่างไม่หยุดยั้งโดยหาเงินสนับสนุนจากต่างประเทศคือ สหภาพยุโรปได้หลายสิบล้านมาทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป พร้อมสร้างทีมงานใน “กองทัพสุขภาพ” เพื่อให้สามารถ “ทำงานใหญ่” ในเวลาต่อมาได้

และแล้ว “หน้าต่างแห่งโอกาส” ก็เปิดขึ้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับข้อเสนอของคุณหมอสงวนที่ฝันจะสร้างระบบ “หลักประกันสุขภาพ” ให้แก่คนไทยทุกคน โดยประกาศเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคไทยรักไทยคือโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” และเมื่อชนะการเลือกตั้ง ก็รักษา “สัญญาประชาคม” นี้ ด้วยการลงมือ “เดินหน้า” โครงการนี้อย่างรวดเร็ว

พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนฉลาดปราดเปรื่องและมีความสามารถสูงในการบริหารประเทศ ขณะที่คุณหมอสงวน เป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษที่ข้าราชการโดยมากไม่มีหรือมีไม่เท่า นั่นคือ สามารถ “Command respect” จากผู้มีอำนาจได้ กล่าวคือ เป็นผู้ที่สามารถทำให้ผู้มีอำนาจให้ความนับถือและเกรงใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความนับถือและเกรงใจคุณหมอสงวนด้วยดี จึงเป็น “โชคดี” ของประเทศชาติและประชาชนคนไทยที่คุณหมอสงวนได้มีโอกาสทุ่มเททำงานสานฝันสุดท้ายนี้จนสำเร็จน่าพอใจ เป็นคุณูปการอเนกอนันท์ แก่สังคมไทย

ระบบหลักประกันสุขภาพที่คุณหมอสงวนมีส่วนสำคัญในการสร้างขึ้นไว้บนผืนแผ่นดินไทย มีคุณลักษณะที่สมควรจารึกไว้หลายประการ

ประการแรก ได้เปลี่ยนปรัชญาการให้บริการของรัฐจากระบบ “การสงเคราะห์” มาเป็น “สิทธิของประชาชน” จึงแทนที่ประชาชนจะต้องคอยรอรับความกรุณาปรานีจากรัฐให้ “หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน” ซึ่งบ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับให้บริการประชาชนเหมือน “เปรตมาขอรับส่วนบุญ” ตามที่แพทย์อาวุโสท่านหนึ่งเคยเปรียบเปรยไว้ ในระบบใหม่นี้ประชาชนจึงสามารถมาใช้ “สิทธิ” นี้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ประการที่สอง ได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ใช้เงินในโครงการนี้จากภาษีอากรร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องบังคับให้จ่ายสมทบอย่างประกันสังคม และความจริงแล้วก็เป็นเพียงการใช้เงินแบบเดียวกับที่รัฐจ่ายให้แก่ระบบรักษาพยาบาลข้าราชการนั่นเอง น่าเสียดายที่มีนายกแพทยสภาคนหนึ่ง พูดในที่หลายแห่งว่าโครงการนี้ประชาชนมาใช้เงินภาษีโดยตัวเอง “ไม่เคยเสียภาษี” โดยลืมไปว่าประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยล้วนต้องจ่ายภาษีอย่างน้อยในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และคนยากจนจ่ายในอัตราภาษีสูงกว่าคนร่ำรวยเมื่อเทียบจากฐานรายได้ด้วย

ประการที่สาม ได้สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบโดยการตราเป็นกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จากเดิมที่ทำเป็น “โครงการ” มาเกือบสามสิบปี ทำให้ระบบนี้นอกจากมีความมั่นคงที่ใครจะมาล้มได้ยากแล้ว ยังสามารถรักษาอุดมการณ์และหลักการสำคัญไว้ได้ต่อเนื่อง เพราะมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำกับไว้

ประการที่สี่ ได้สร้างให้ระบบหลักประกันสุขภาพ “เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” อย่างแท้จริง

เป็นของประชาชน เพราะประชาชนมีส่วนสำคัญในการรวบรวมรายชื่อกว่า 6 หมื่นชื่อ เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้

โดยประชาชน เพราะโครงสร้างการบริหารกำหนดให้ประชาชนมีส่วนสำคัญในคณะกรรมการบริหาร ได้แก่ตัวแทนประชาชนจาก 5 กลุ่ม ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้แทนสภาวิชาชีพ ซึ่งโดยหลักการต้องมุ่งรักษาประโยชน์ของประชาชน

เพื่อประชาชน โดยกำหนดหลักการให้หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิ์ของประชาชน ที่รัฐต้องมีหน้าที่จัดให้ดังกล่าวแล้ว

โครงสร้างบริหารของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ แท้จริงแล้วพัฒนาขึ้นจากโครงสร้างคณะกรรมการบริหารโครงการสงเคราะห์ประชาชนที่ควรช่วยเหลือเกื้อกูล ที่พัฒนามาจากโครงการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยในด้านรักษาพยาบาล คุณหมอสงวนได้เข้าไปดูแลโครงการนี้แล้วพบว่าผู้มีอำนาจพยายามจะนำเงินก้อนนี้ไปใช้โดยไม่ถูกต้อง จึงพยายามสร้างกลไกป้องกันด้วยการขอให้กระทรวงการคลังออกเป็น “ระเบียบกระทรวงการคลัง” กำหนดให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปร่วมเป็นกรรมการดูแล ไม่เป็นแค่ “ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข” ซึ่งจะถูกแก้ไขได้ง่ายกว่า ระเบียบดังกล่าวทำให้ผู้มีอำนาจที่ทำการทุจริตยาโครงการ 1,400 ล้าน “เจอตอ” นี้ จนต้องไปหาลู่ทางอื่น และทิ้งร่องรอยการทุจริตไว้ โครงสร้างคณะกรรมการตามระเบียบกระทรวงการคลังนี้เอง ได้พัฒนามาเป็นโครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเวลาต่อมา

ประการที่ห้า ได้สร้างระบบการเยียวยากรณีเกิดความเสียหายจากการรับบริการ คือ มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545  ซึ่งอัตราการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น เริ่มจาก 5 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 4 แสนบาทในปัจจุบัน ระบบดังกล่าว     น่าเสียดายที่ผู้นำในแพทยสภาที่ไม่มี “หัวใจของความเป็นมนุษย์” ขัดขวางทำให้สิทธิดังกล่าวยังจำกัดอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพราว 48 ล้านคนเท่านั้น ไม่สามารถขยายครอบคลุมผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและข้าราชการได้

ประการที่หก นอกจากระบบการชดเชยกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายแล้ว ยังมีระบบการจ่ายค่าเสียหายกรณี “ผู้ให้บริการ” ได้รับความเสียหายจากการให้บริการด้วย เช่น กรณีไปส่งผู้ป่วยแล้วเกิดอุบัติเหตุ หรือ ติดโรคร้ายจากผู้ป่วย หรือถูกผู้ป่วยทำร้าย เช่น กรณีผู้ป่วยโรคจิต เป็นต้น    

ประการที่เจ็ด ได้ขยายระบบหลักประกันให้ครอบคลุมบริการด้านการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพด้วย ขณะที่ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และประกันสังคม เริ่มต้นและพัฒนามานานกว่า แต่ยังจำกัดวงอยู่แต่เรื่องการรักษาพยาบาลเท่านั้น

ประการที่แปด ได้สร้างระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรับส่งผู้ป่วยที่ “ป่วยฉุกเฉิน” ทั้งกรณีอุบัติเหตุ และเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น เป็นลมหมดสติ ตกเลือด หัวใจขาดเลือด ฯลฯ โดยสร้างระบบการขนส่งที่ได้มาตรฐาน เช่น รถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ ที่มีเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลระหว่างทาง รวมทั้งมีระบบสื่อสารสามารถแจ้งให้โรงพยาบาลเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และต่อมาขยายเป็นการขนส่งทางเรือและเครื่องบินได้ด้วย โดยประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ระบบดังกล่าวเป็นปัญหามานานในประเทศไทย มีความพยายามสร้างระบบนี้มาหลายสิบปี แต่ไม่สำเร็จ มาสำเร็จในปีแรกของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเจียดเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวมาเพียง 10 บาทต่อคน พัฒนาระบบจนเข้มแข็ง และปัจจุบันได้แยกระบบออกไปโดยกฎหมายเฉพาะต่างหาก ขยายการบริการครอบคลุมประชาชนทุกคน นั่นคือครอบคลุมข้าราชการและประกันสังคมด้วยแล้ว

ประการที่เก้า ได้สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น ได้แก่ กองทุนสุขภาพชุมชนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมทบ และให้ท้องถิ่นและชุมชนร่วมกันบริหาร กับการสร้างศูนย์รับเรื่องร้องเรียนภาคประชาชน ให้ประชาชนมีช่องทางการร้องเรียนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาระบบ ต่อมามีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสภาพในระดับจังหวัดขึ้นด้วยแล้ว

ประการที่สิบ ได้สร้างกลไกบริหารกองทุน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่คุณหมอสงวนได้วางโครงสร้างองค์กร วางระบบงาน และข้อสำคัญคือการเชิญชวนบุคคลเข้ามาทำงาน แล้วหล่อหลอมให้คนมุ่งทำงาน “ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์” ท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนมนุษย์ จาก “Homo sapiens sapiens” ซี่งแปลว่า “ผู้มีปัญญายิ่ง” หรือ “ผู้มีปัญญาเลิศ” (sapiens แปลว่า ปัญญา)  ให้กลายเป็น Homo economicus ซึ่งมีผู้แปลว่า “สัตว์เศรษฐกิจ”

คุณหมอสงวนได้สร้างระบบ “ธรรมาภิบาล” อันเข้มแข็งให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อเข้าไปทำงานใหม่ๆ มีคนนำเงินไปให้คุณหมอสงวนถึง “หนึ่งล้าน” ไว้จับจ่ายใช้สอย คุณหมอสงวนแสดง “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” คืนเงินจำนวนนั้นไปทันที เหมือนที่เคยปฏิเสธเมื่อครั้งมีผู้นำไปให้สมัยที่ยังอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเกิดกรณี “คอมพิวเตอร์ฉาว” ที่นักการเมืองพยายามโกงกินจากระบบไอทีของสำนักงานหลักประกันสุขภาพวางเงินสองร้อยล้าน คุณหมอสงวนใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมและความชาญฉลาดดึงตัวให้พ้นจากความเน่าเหม็น และวางระบบให้คนที่ตั้งใจจะโกงกินต้อง “ส่งของ” ที่มีคุณภาพดีให้ สปสช. จนเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาว และในที่สุด สปสช. ก็ได้ของดีไปใช้จนได้

นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ที่เป็นคำตอบว่า ทำไมคุณหมอสงวนจึงสามารถสร้างความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้มีอำนาจได้

·       เพราะคุณหมอสงวนเป็นผู้ยึดถืออุดมคติอย่างแน่วแน่มั่นคงไม่คลอนแคลน

·       เพราะคุณหมอสงวนมีความตั้งใจ ทุ่มเททำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

·       เพราะคุณหมอสงวนมีบารมีที่สามารถสร้างทีมงานให้มีศรัทธา และทุ่มเททำงานร่วมกับคุณหมอสงวนได้ โดยคุณหมอสงวนสามารถ “อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น”

·       เพราะคุณหมอสงวนมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและสามารถสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรได้อย่างเข้มแข็ง

·       เพราะคุณหมอสงวนมุ่งทำงานเชิงยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่ติดในเรื่องเล็กน้อย

·       และเพราะคุณหมอสงวนมีความรู้ความสามารถทำงานให้สำเร็จ เป็นผลงานของผู้มีอำนาจได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นชิ้นเป็นอัน

ด้วยระบบและโครงสร้างที่วางไว้ดีแล้ว ข้อสำคัญมีคุณหมอสงวนเป็นเลขาธิการ สปสช. คนแรก

ประกอบกับบรรดา “เหลือบ” ที่คอยจ้องจะเข้าไปสูบเลือดหากินจากระบบยังเพิ่งเริ่มตั้งตัว ทำให้คุณหมอสงวนและคณะสามารถพัฒนาระบบหลักประประกันสุขภาพได้อย่างน่าพอใจ สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญของระบบที่ตราไว้ในกฎหมายได้ในระดับค่อนข้างสูง คือ “ความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และคุณภาพ” ข้อสำคัญ คือให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”   อย่างแท้จริง ที่สำคัญคือ

·       สามารถขยายบริการครอบคลุมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์ การล้างไตแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ การให้เคมีบำบัดแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง การรักษาผู้ป่วยฮีโมฟิเลีย การขยายการผ่าตัดต้อกระจก การขยายการผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจ ฯลฯ

·       สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายมิให้บานปลาย โดยสามารถพัฒนากลไกการบริการให้มีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น เช่น การใช้ระบบวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group : DRG) ในผู้ป่วยในโดยระบบปลายปิด

ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย นับว่าได้พัฒนาจนลงรากปักฐานได้อย่างมั่นคงและงดงามพอสมควร จนเป็นที่ยกย่องชื่นชมในระดับนานาชาติ เช่น จากการประชุมวิชาการรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลเมื่อปีที่แล้ว ข้อสำคัญ หลังจากเริ่มโครงการนี้ไม่กี่ปี มีการประเมินพบว่า แต่เดิมมีประชาชนคนไทยที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวแต่ละปีจำนวนไม่น้อย ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 เกิดจากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง แต่บัดนี้คนที่สิ้นเนื้อประดาตัวจนต้องขายทรัพย์สิน เช่น ไร่นา วัวควายหรือต้องขายแม้แต่ลูกสาว หรือไปกู้หนี้ยืมสินด้วยดอกเบี้ยแพงลิบลิ่วเพื่อมารักษาตัวเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ที่จริงควรจะหมดไปด้วยซ้ำ แต่ไม่หมดเพราะมีบางคนไม่รู้จักสิทธิ์ของตัว หรือไม่ไปใช้สิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพของตัว แต่ “หลงใหล” ในกระแสค่านิยมจอมปลอม เข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนที่ไร้มนุษยธรรมจนสิ้นเนื้อประดาตัวก็ยังมีอยู่

อย่างไรก็ดี ระบบหลักประกันสุขภาพของเรายังต้องการการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพและความเท่าเทียมในขณะที่คนอย่างคุณหมอสงวนก็จากพวกเราไปแล้ว โดยก่อนเสียชีวิตคุณหมอสงวนล้มป่วยด้วยโรคร้าย คือ มะเร็ง ขณะที่ประเทศไทยยังมีปัญหาที่ถูกครอบงำโดยระบบทุนนิยมสามานย์ และระบอบประชาธิปไตยที่ล้มเหลว ขณะที่ฝูงเหลือบที่คอยจ้องสูบเลือดหาประโยชน์จากระบบที่วางไว้ดีแล้ว ยังมีอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องดูแลรักษาและพัฒนาระบบนี้ มิให้ผู้มีอำนาจฉ้อฉลและบรรดาเหลือบร้ายเข้ามาหาประโยชน์จนเกิดการบ่อนเซาะทำลายได้

ปัญหาใหญ่ที่เป็นภัยคุกคามจากระบบการเมืองที่ล้มเหลวภายใต้ระบอบทุนนิยมสามานย์คือ แทนที่จะมุ่งพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและประเทศชาติยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้มีอำนาจกลับมุ่งใช้อำนาจเพื่อฉวยโอกาสหาเสียงหรือหาประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางลบที่จะติดตามมา ปัญหาใหญ่ของระบบในปัจจุบัน คือ ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม (Equity) และปัญหาเรื่องคุณภาพ (Quality) ที่ยังต้องการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เรากลับพบความพยายามในเรื่องอื่น เช่น

·       การส่งเสริมการรับบริการข้ามขั้นตอน

·       การส่งเสริมนโยบายเมดิคัลฮับ ขณะที่จำกัดค่าเหมาจ่ายรายหัว และไม่มุ่งพัฒนาระบบบริการในชนบทอย่างจริงจัง

·       การพยายามให้มีระบบร่วมจ่าย (Copayment) ในขณะที่ช่องว่างรายได้ของประชาชนยังถ่างกว้างอย่างมาก ซึ่งจะมีผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพเสื่อมสภาพกลายเป็นระบบ “อนาถา”

·       การพยายามกลับมาเก็บ 30 บาท ขณะที่ระบบสวัสดิการราชการยังต้องใช้เงินภาษีมากกว่าหลายเท่า และไม่ต้องจ่าย 30 บาท

·       นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกที่ ซึ่งปรากฏว่าระบบที่เข้ามาใช้บริการมากที่สุดกลับเป็นระบบสวัสดิการข้าราชการ โดย สปสช. ต้องแบกรับภาระเพิ่ม

·       การแทรกแซงการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. โดยมีใบสั่ง ทำลายระบบคุณธรรมและทำให้องค์กรอ่อนแอลง  เปิดทางให้ง่ายกับการแทรกแซงการบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพปีละนับแสนล้านบาทและออกนโยบายเอื้อกลุ่มผลประโยชน์ตามมา

 

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ต้องการทั้ง สติ ปัญญา ความสุจริต ของทุกฝ่ายในการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

คือ ความตื่นรู้ และสมัครสมานสามัคคีของภาคประชาชน / ประชาสังคม

ประชาชนจะต้องไม่งอมืองอเท้าทำตัวเป็น “ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน” แต่จะต้องเป็น “พลเมือง” ที่แท้จริง ทั้งนี้ พล หรือ พละ แปลว่า กำลัง พลเมืองคือ “กำลังของเมือง” เราจะต้องเป็นพลเมืองของประเทศ เพื่อรักษาระบบหลักประกันสุขภาพของเราให้ยังเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ตลอดไป