ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.ส.แสงโฉม ศิริพานิช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวระหว่างการเสวนา "ระดมพลังร่วมกันยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อันตราย!!!" ในเวทีสานงานเสริมพลังร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า แต่ในการฉีดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชครั้งหนึ่ง 100 ก.ก. พบว่ามีโอกาสฉีดถูกแมลงเพียง 1 ก.ก.เท่านั้น ที่เหลือจะปลิวไปในอากาศ 30 ก.ก. ระเหยไป 10 ก.ก. พลาดแมลงเป้าหมาย 15 ก.ก. และตกค้างอยู่บนพืช อยู่ในดิน ในน้ำ อีก 41 ก.ก. ทำให้เกษตรกรได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ลูกหลานของเกษตรกรจำนวนหนึ่ง จึงประสบปัญหาสุขภาพตั้งแต่แรกคลอด เนื่องจากถ่ายทอดสารพิษจากแม่ไปยังลูก

น.ส.แสงโฉมกล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาในการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประเด็นสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่รัฐยังมีข้อมูลสุขภาพไม่เพียงพอ เนื่องจากคนมาแจ้งว่าใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้วเกิดผลเสียต่อสุขภาพ ไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสารเคมีชนิดใด บริษัทจึงยังขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อไปได้

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายสูง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น และเมโทมิล ขับเคลื่อนมานานแต่ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลและกลั่นกรองความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ ได้แจ้งกลับมายังกรมวิชาการเกษตรที่เสนอให้ยกระดับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงตามสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ทำให้ยังไม่สามารถยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้ ทั้งที่ในต่างประเทศล้วนยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดนี้แล้ว หากไทยยกเลิกได้ จะช่วยลดปัญหาส่งออกผลผลิตทางการเกษตรได้ถึง 1 ใน 3

ที่มา : นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 3 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง