ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายวิรไท สันติประภพ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการเสวนาไทยพลับลิก้า ฟอรั่ม ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "สุมหัวคิด...ฟิสิคัล คลิฟฟ หนี้รัฐบาลไทย!" โดยระบุว่า ขณะนี้มีปัจจัยเสี่ยงใน 5 ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเดินเข้าสู่ภาวะหน้าผาการคลังได้อย่างไม่รู้ตัว คือ ความเสี่ยงจากนโยบายประชานิยมของฝ่ายการเมืองที่นำออกมาใช้มากเกินไป จนทำให้สัดส่วนของงบประมาณการลงทุนน้อยลง จนไม่สามารถลงทุนได้ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมลดลงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพราะรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในอุตสาหกรรมของภาคเอกชนมากเกินไป ทั้งในอุตสาหกรรมข้าวและการเงิน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องภาวะผูกพันล่วงหน้า เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุข้างหน้า ซึ่งทำให้ภาครัฐมีรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ และส่งผลกระทบต่อการออมของภาคครัวเรือนที่ต้องนำเงินไปใช้เพื่อการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยมากขึ้น ทำให้ลดปริมาณเงินออม และการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ลดลงตามไป เช่นเดียวกับความเสี่ยงด้านความสามารถของผู้นำและกลไกราชการที่ไม่มีทิศทางชัดเจน เพราะขาดความสามารถ ไม่มีความเป็นผู้นำที่มีแนวคิดระยะยาว และปัจจัยเสี่ยงสุดท้าย คือ ประเทศไทยโดยเฉพาะภาครัฐ ไม่มีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ไม่มีภูมิคุ้มกันสำหรับอนาคต นำไปสู่วิกฤติของประเทศได้ในอนาคต

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ถ้าดูจากสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศในเวลานี้ยังไม่น่ากลัว ไทยยังไม่มีปัญหาหน้าผาการคลัง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึง เพราะป็นตัวที่ทำให้อนาคตของประเทศอาจเดินลงจากเขาไปเรื่อย ๆ และลงไปสู่เหวโดยไม่รู้ตัวโดยมีตัวอย่างจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โครงการรถคันแรก ขณะเดียวกันยังเห็นด้วยกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รอง นายกฯ และรมว.คลัง ที่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะเป็นเพียงแค่การกระตุ้น การบริโภคของภาคเอกชนในปัจจุบัน แต่จะกระทบกับการบริโภคในอนาคตให้ลดลง และยิ่งสร้างภาระหนี้ครัวเรือนในเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่อยากเห็นคือการมองในระยะยาวด้วยการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจโดยรวม การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจ การเร่งลงทุนในระบบโลจิสติกส์ และการปฏิรูปศักยภาพแรงงานไทย

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพี อยู่ที่ 44.2% หรือคิดเป็น 5.1 ล้านล้านบาท โดย 93% ของหนี้ทั้งหมด เป็นการก่อหนี้ในประเทศ ซึ่งได้มีการรวมแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศไว้แล้ว ทำให้มั่นใจว่า ยังสามารถรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ได้ในระดับหนึ่ง โดยภายในปี 2559 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะสูงสุด ไม่เกิน 50% ยังพอมี ส่วนเหลือไว้สำหรับการทำนโยบายการคลัง ในกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถก่อหนี้ได้ถึง 60% ต่อจีดีพี

 นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ภัทร จำกัด กล่าวว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ระดับ 44.2% ในปัจจุบัน ถือว่ายังสามารถบริหารจัดการได้ แต่มีความเป็นห่วงภาระหนี้นอกงบประมาณของรัฐบาล ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งแฝงอยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่จะใช้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งในโครงการรับจำนำข้าว และการลงทุนร่วมกันกับรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐบาลเข้าไปเผชิญความเสี่ยงเอง และภาวะผูกพันในระยะยาว ซึ่งมองว่า เป็นความเสี่ยงในอนาคตเช่น งบประมาณที่จะใช้ในกองทุนประกันสังคม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนหมู่บ้าน.

ที่มา --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง