ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง คือสโลแกนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่จะดีกว่านั้นถ้าทุกเสียงบ่นแปรมาเป็นการสนับสนุนเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคด้วยกันเอง

"เรามีความคาดหวังไม่ต่างจาก องค์กรผู้บริโภคทั่วโลก  เราอยากเห็นว่า ผู้บริโภค เป็นคนสาคัญ ที่สนับสนุน การทางานขององค์กรผู้บริโภคเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้บริโภคมากว่า 20 ปี ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ"

แต่ทันทีที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบความปลอดภัยของข้าวถุง ชื่อของ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็กลับมาอยู่ในสปอตไลท์อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ คือผลตอบแทนจากการทำงานแบบตรงไปตรงมาที่ไม่ได้เกินความคาดหมาย แต่ถ้าถามถึงคาดหวังในใจของหญิงเหล็กแห่งวงการผู้บริโภคคนนี้ เธอบอกว่า คือการจับมือกันของผู้บริโภคในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองอย่างเข้มแข็งและเป็นอิสระ

เริ่มจับงานผู้บริโภคมานานเท่าไหร่แล้วคะ    

จริงๆ ทำงานด้านผู้บริโภคมาตั้งแต่ปี 2532 ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน หรือ คปอส. กระทั่งจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคปี 2539 ก็ได้ทำงานเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น

ตอนแรกที่ทำงานเป็นองค์กรด้านสุขภาพ องค์กรเรื่องผู้บริโภคมันมีจำกัด เรียกว่ายังไม่มีองค์กรทำงานเรื่องนี้โดยตรง หรือแม้กระทั่งการที่เราจะใช้คำว่าผู้บริโภคตอนนั้นก็ยังไม่มีใครใช้คำว่าผู้บริโภคเลยด้วยซ้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อาจจะมีองค์กรที่ทำงานอยู่ เช่น กลุ่มอาสาสมัครเพื่อผู้บริโภค หรือมีองค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค แต่ส่วนใหญ่มันจะเป็นการทำงานเฉพาะด้าน เช่นด้านสุขภาพต่างๆ แต่พอเรามาทำงานเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค ก็อาจจะเรียกได้ว่าทำทุกด้านที่เป็นปัญหาของผู้บริโภค โดยงานสำคัญๆ เช่น การพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค กลไกการคุ้มครองผู้บริโภค งานด้านข้อมูลเผยแพร่ความรู้ผ่านนิตยสารของมูลนิธิก็คือ ฉลาดซื้อ สุดท้ายก็เป็นงานนโยบาย งานที่จะพัฒนาข้อเสนอและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหลังจากก่อตั้งมูลนิธิได้ 4 ปี เราก็ได้รับเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตามประกาศของกระทรวงการคลัง ก็คือถ้าใครบริจาคก็จะได้ยกเว้นภาษี           

ปัญหาของผู้บริโภคเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แตกต่างจากปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน         

ก็พอสมควรนะ อย่างเช่นตอนนั้น ตอนเราทำครั้งแรกใช้สโลแกนว่า "ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง" เพราะเราไม่แน่ใจว่าคนจะร้องทุกข์ไหม คนจะใช้สิทธิไหม คนจะร้องเรียนหรือเปล่า ซึ่งเราพยายามทำให้คนรู้สึกว่าการร้องเรียนเป็นเรื่องง่าย อย่าบ่น เราพยายามคล้ายๆ ว่าเชียร์ให้ผู้บริโภคใช้สิทธิของตนเอง ซึ่งถ้ามาเปรียบเทียบดูในปัจจุบัน คิดว่าความเปลี่ยนแปลงใน 20 กว่าปีนี้มันเห็นชัด คนให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ผู้บริโภคก็ใช้สิทธิของตนเองมากขึ้น

ในส่วนของประเด็นปัญหาแตกต่างกันหรือไม่         

แตกต่างนะ คือต้องบอกว่าตอนนี้ความตื่นตัวมากขึ้น แต่ว่าสิ่งที่ยังเหมือนกันก็คือผู้บริโภคยังถูกหลอก ถูกโกงเหมือนกันไปออกกำลังกายก็ยังถูกโกง ขึ้นรถตู้ก็ไม่มีมาตรฐานถ้าเป็นสมัยก่อนก็เป็นรถเมล์ที่ต้องเสี่ยง เพราะฉะนั้นมาตรฐานคุณภาพชีวิตหรือการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม มันอาจจะเรียกว่าตามไม่ทันกับการใช้สิทธิของผู้บริโภค คิดว่าอย่างนั้น         

ประเด็นผู้บริโภคค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน บ้านคอนโด ไปจนถึงเรื่องพลังงาน แบ่งงานกันอย่างไร        

 เดิมเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องรู้ทุกเรื่อง เวลารับร้องทุกข์ต้องแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่เดี๋ยวนี้มูลนิธิเองก็พยายามออกแบบท่ามกลางคนที่จำกัด ว่าคนนี้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนะ คนนี้เชี่ยวชาญเรื่องรถโดยสารนะ อีกคนเชี่ยวชาญเรื่องอาหารปลอดภัยนะ ซึ่งเราก็พยายามออกแบบ จริงๆ อาจไม่ใช่เฉพาะตัวเจ้าหน้าที่อย่างเดียวแต่เรายังมีกรรมการ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ซึ่งต้องบอกว่าในหลายๆ ปีที่ผ่านมา มูลนิธิไม่ได้ทำงานคนเดียว เราทำงานกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ซึ่งเริ่มจาก 8 จังหวัด ขยายมาเป็น 19 จังหวัด 21 จังหวัด 30 จังหวัด ปีที่ผ่านมาเราทำงานถึง 72 จังหวัด โดยให้แต่ละจังหวัดทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคของตนเอง แล้วมูลนิธิก็ทำงานกับกลไกภาคกับจังหวัดอะไรแบบนี้       

ที่ผ่านมาปัญหาผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องปรับการทำงานเยอะไหมคะ         

ก็เปลี่ยนไปนะ เช่นในอดีตเราเน้นว่าให้คนใช้สิทธิ ซึ่งขณะนี้คนใช้สิทธิเป็นเราก็ไม่จำเป็นต้องไปรณรงค์ให้คนมาใช้สิทธิ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนที่มาใช้สิทธิรู้สึกว่าเวลาเขามาใช้สิทธิแล้วมันมีความหมายทั้งตัวเขาด้วยทั้งต่อสังคมต่อนโยบายต่อกลไกของรัฐทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก ฉะนั้นจากเรื่องของคนคนเดียวจะทำอย่างไรให้เป็นปัญหาของผู้บริโภคโดยรวม

ขณะนี้ปีที่ผ่านมาเราใช้เทคนิคที่เรียกว่า ร้องเรียนแบบกลุ่ม อย่างเรื่องแคลิฟอร์เนีย ว้าว เนี่ย เราเชื่อว่าไม่ได้มีคนเดือดร้อนคนเดียวหรอก ก็ประกาศเลยว่าถ้าใครเดือดร้อนเรื่องนี้ให้มาที่เราภายในวันที่เท่านี้ ซึ่งก็ได้ผู้ร้องตั้งเกือบ 700 คน พอได้ผู้ร้อง 700 คน ก็แบ่งสายเลยแล้วก็มีคนเป็นแกนซึ่งเราเชื่อว่าอันนี้คือทิศทางการทำงานที่สำคัญ คือเราต้องทำให้ผู้บริโภคเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาของตนเอง เข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาจัดการกับเรื่องที่เป็นปัญหาของเขาเอง เพราะเขาต้องรู้ว่าถ้าปล่อยปัญหาของเราให้เป็นเรื่องของคนอื่น เราไม่มีวันได้รับการคุ้มครองแน่นอน เพราะฉะนั้นมูลนิธิก็จะเน้นเรื่องการรวมกลุ่ม การให้ข้อมูลผู้บริโภค เพื่อให้คุณสามารถใช้พลังของคุณได้ เพื่อจะไปกำหนดการผลิตของผู้ประกอบการ หรือบริการของผู้ประกอบการ

ในส่วนของการให้ข้อมูลก็ต้องเพิ่มมากขึ้นด้วย?         

จริงๆ เราก็ทำมานาน อย่างนิตยสารฉลาดซื้อเราทำมาตั้งแต่ปี 2537 มีการให้ข้อมูล มีการทดสอบสินค้า เพียงแต่ว่าการทดสอบสินค้าเมื่อก่อนเราอาจจะทำไม่ได้กว้างขวางมาก แต่อย่างเรื่องอาหารเราทำต่อเนื่อง ทดสอบสินค้าบางอย่างอาจมีข้อจำกัดเรื่องห้องทดลองในประเทศ เช่น พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าเราก็อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างคือเราต้องการให้ผู้บริโภค หนึ่ง มีข้อมูลที่พอสอง คุณต้องรู้ว่าคุณมีสิทธิที่จะเลือกสาม เมื่อคุณใช้สินค้าพวกนั้นคุณต้องได้รับความปลอดภัย ถ้าคุณมีปัญหาเหล่านี้คุณมีสิทธิได้รับการเยียวยาความเสียหาย หรือว่าคุณไปทำสัญญาต่างๆ คุณก็ควรได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้บริโภคยังไม่มีข้อมูลหรือยังไม่เท่าทันอีกมาก ปัญหาเรื่องถูกหลอกถูกโกงมันถึงยังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นเรื่องร้องทุกข์ เวลาคนมาร้องทุกข์ปุ๊บ เราก็จะวิเคราะห์ผ่านประเด็นหลักๆ 2-3 ประเด็น เช่น เป็นปัญหาที่เราไม่บังคับใช้กฎหมายไหม อย่างเรื่องบัตรเติมเงินที่บอกว่า หมดอายุไม่ได้ แต่ก็ยังกำหนดวันหมดอายุกันเยอะแยะ เป็นเพราะไม่ได้บังคับใช้กฎหมาย หรือเรื่องนี้ยังไม่มีข้อกฎหมายเลย มันเป็นช่องว่างอยู่ อันนี้ก็มาช่วยกันคิดว่า แล้วจะทำข้อกฎหมายอะไร อันที่สามเป็นเรื่องที่ตัวผู้บริโภคเองไหม คือไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ไม่เท่าทัน เราก็พยายามวิเคราะห์เรื่องที่คนมาร้องเรียนผ่านบริบทพวกนี้

ปีที่ผ่านมาพอเราทำงานกับ 72 จังหวัด พบว่ามีเรื่องร้องเรียนทั้งหมดประมาณ3,803 เรื่อง ซึ่งอันนี้ไม่นับรวมที่โทรศัพท์มาคุยเป็นหมื่นๆ สาย ในจำนวนนี้เราแยกเป็น 7 ด้านที่สำคัญ เช่น เรื่องการเงินการธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ สินค้าและบริการทั่วไปซึ่งอันนี้กว้างมากนะ ต้องบอกว่าตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ สินค้าชิ้นเล็กๆ ไม่กี่บาทไปจนถึงมูลค่าแพงๆ อันที่สี่คือบริการสาธารณะ ไฟฟ้า น้ำประปา เรื่องสื่อและโทรคมนาคม เรื่องสินค้าสุขภาพทั้งหลาย อาหารที่ไม่ปลอดภัย แผนของปีนี้ก็คือเราจะดูว่าปัญหาอะไรที่อยู่ในท็อปทรี แล้วมาทำเป็นชุดข้อมูล ส่วนหนึ่งจะทำ Q&A ง่ายๆ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของเรา หนังสือของเรา โซเชียลเน็ตเวิร์ค อีกส่วนจะทำเป็นคู่มือให้กับองค์กรผู้บริโภคที่อยู่ตามต่างจังหวัด เพื่อให้เขาสามารถตอบคำถามของผู้บริโภคได้ อันนี้เรียกว่าเป็นทั้งการยกระดับและการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรผู้บริโภคในต่างจังหวัด

อันหนึ่งที่สำคัญมากก็คือว่า เราได้เสนอให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มันกำหนดให้มีตั้งแต่หลังใช้รัฐธรรมนูญหนึ่งปี เรามีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 50 ตอนนี้จะ 6 ปีแล้วยังไม่เกิดเลย เพราะฉะนั้นเราก็ไม่รอ ขณะนี้เรานำร่องเดินหน้าให้มีคณะกรรมการชุดภาคประชาชน ซึ่งมี 15 คน, 7 คน เป็นนักวิชาการ, 8 คน เป็นตัวแทนองค์กรผู้บริโภค เราคิดว่าตรงนี้จะเป็นปีกของความเชี่ยวชาญที่จะมาสนับสนุนงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน        

ในส่วนของการทดสอบผลิตภัณฑ์ หลังๆ ค่อนข้างหลากหลายมากขึ้น กังวลเรื่องผลกระทบที่จะตามมาไหม         

จริงๆ เรื่องทดสอบผลิตภัณฑ์เดิมเราทดสอบได้จำกัด แต่พอเราพัฒนาขึ้นขณะนี้ฉลาดซื้อเล่มหนึ่งเราทดสอบได้อย่างน้อย 4 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่เราทดสอบเองในประเทศ และเรื่องของต่างประเทศรวมทั้งเรื่องการทำโพลการสำรวจ ถ้าถามว่ากังวลมั้ย ไม่กังวล เพราะหนึ่งเราเป็นกลาง มูลนิธิมีนโยบายชัดเจนว่าเราไม่รับโฆษณา ไม่รับสปอนเซอร์จากบริษัท เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เลือกปฏิบัติกับใคร แล้วทุกครั้งที่เราซื้อสินค้า เราจะยึดหลักว่าจะพยายามซื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะซื้อได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด หัวใจที่สองก็คือเราไม่ได้คิดว่าเราจะเล่นงานเจ้าใดเจ้าหนึ่ง แล้วเราก็ส่งห้องทดลองที่ได้มาตรฐาน จากนั้นก็เผยแพร่ผลการทดลอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการที่เขาจะได้รับข้อมูลในการที่เขามีสิทธิที่จะเลือก ในการที่เขาจะได้รับความปลอดภัย

เหมือนอย่างเราทดสอบขนมปังเนี่ยสิ่งที่เราบอกคือ ขนมปังที่เราทดสอบมี 6 ยี่ห้อที่ไม่มีสารกันบูดเลย ซึ่งมันมีความหมายมากนะ มันหมายความว่าเราบอกบริษัททั้งหลายว่า ขณะนี้เราอยากซื้อของที่ไม่มีสารกันบูด  แต่บางทีวงการสื่อมวลชนเองอาจจะยังไม่ชิน ไม่กล้าเปิดเผยบ้าง กลัวถูกฟ้อง หรือบางทีก็เลือกที่จะเปิดเฉพาะยี่ห้อที่มันไม่ดี เหมือนอย่างที่เราทดสอบข้าวเหมือนกัน เราคิดว่าคนมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูล เมื่อรู้แล้วเขาก็มีสิทธิที่จะเลือก และการเลือกของเขามันเป็นการบอกผู้ประกอบการกลายๆ ว่าฉันไม่ยอมให้ข้าวฉันรมควันนะ ฉันอยากกินข้าวที่ไม่รมควัน

หรือขณะนี้เรายอมรับให้มีการรมควันได้หลังรมควันแล้วก็ไม่ควรตกค้างเกินมาตรฐาน ซึ่งนี่คือเสียงจากผู้บริโภคที่จะบอกไปถึงผู้ผลิตผู้ประกอบการเลย ซึ่งมันมีพลังในการเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ผู้บริโภคก็สามารถบริโภคได้อย่างที่ตัวเองต้องการ ตรงนี้เป็นพลังที่สำคัญมาก พลังของผู้บริโภคจะเกิดขึ้นได้ ก็คือพลังของการซื้อ หรือการไม่ซื้อ         

ที่ผ่านมาเคยถูกเจ้าของสินค้าฟ้องร้องบ้างหรือไม่         

เราเคยถูกบริษัทบางบริษัทยื่นโนติซว่าข้อมูลของเราไม่ถูกต้องขอให้เราขอโทษต่อสาธารณะ ซึ่งอันนี้มาจากการที่เขาคิดว่าเราทำงานไม่มีหลักวิชาการ แต่ปรากฏว่านั่นคือความผิดพลาดของเขาเอง เขาไม่รู้ว่าการใช้สารกันบูดในขนมปังที่ใช้สองตัวไม่สามารถใช้ได้เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโล ปรากฏว่าเขาใช้เกิน แต่เขาบอกว่าเขามีสิทธิใช้ได้ถึง 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง แล้วเขาก็ยื่นโนติซมาหาเรา เราก็หาหนังสือหาเอกสารมายืนยัน แล้วสำนักงานอาหารและยาก็มาสนับสนุนเราว่าคุณใช้เกิน 1,000 ไม่ได้นะ ผิดกฎหมาย ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นก็คือ ขนมปังของคุณ ซึ่งคุณติดฉลากว่าไม่ใส่สารกันบูด เราพบว่ามีสารกันบูดเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด เพราะฉะนั้นถึงคุณยื่นโนติซมาหาเราก็ไม่มีปัญหาอะไร ทำอะไรเราไม่ได้อยู่แล้ว เพราะข้อมูลเราถูกต้อง ซึ่งอันนี้มาจากการที่เรายึดหลักเรื่องไม่เลือกปฏิบัติ สุ่มตรวจทุกสินค้าเท่าที่สามารถทำได้ หรือไม่ก็มีหลักเกณฑ์ในการสุ่ม เช่น สินค้าที่ขายดี เป็นสินค้าที่มีงบโฆษณามาก อะไรอย่างนี้เป็นต้น          

การเลือกว่าจะทดสอบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อะไร มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร         

มีอยู่ 3 หลักเกณฑ์ หนึ่งคือเป็นแผนที่เรากำหนดตั้งแต่ต้นปี ซึ่งอันนี้จะดูว่าในรอบหนึ่งปีเราทดสอบอะไร แล้วมีปัญหาอะไรบ้าง อาจจะตรวจสอบซ้ำ สองคือเรื่องที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา หลักเกณฑ์ที่สามก็คือเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหาตามสถานการณ์ของผู้บริโภคที่สำคัญ

การตรวจสอบข้าวก็เป็นส่วนหนึ่ง?         

กรณีข้าวเนี่ย มีทั้งคนขอให้มูลนิธิตรวจสอบ มีคนโทรศัพท์มาบอกให้ช่วยหน่อยถ้าคุณไม่ทดสอบมันไม่มีใครเชื่อถือ อะไรแบบนี้ ผู้สื่อข่าวก็มีบทบาทมาก บอกให้ช่วยตรวจหน่อย ให้มันรู้ไปว่าตกลงมันอย่างไร ซึ่งเราก็ได้ซื้อตรวจแล้วก็สุ่มตรวจสองวัน

คิดไหมคะว่าจะถูกโยงไปเรื่องการเมือง         

คือการตรวจข้าวของเรา ตอนแรกเลยเนื่องจากคนร้องเรียน สองเราถูกเรียกร้องให้ทำเรื่องนี้มาก และไม่คิดว่าเรื่องผลของคุณภาพข้าวจะเป็นเรื่องการเมือง เพราะนี่เป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค แต่มันก็ถูกเอาไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ซึ่งเราคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นข้อเท็จจริงผลทางวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นมันบิดเบือนกันไม่ได้อยู่แล้ว แล้วมูลนิธิเราก็ทำงานมามากกว่า 20 ปี เพราะฉะนั้นเราไม่เอาชื่อเสียงซึ่งเราทำงานสั่งสมมาทำให้เสียภายในหนึ่งปีที่มีปัญหาเรื่องข้าวกัน แล้วต้องบอกเลยว่าเราส่งห้องทดลองที่ดีที่สุดในเมืองไทย          

แต่ในที่สุดก็ถูกตั้งคำถามจากโฆษกพรรคเพื่อไทย?         

มองว่ามันเป็นการเบี่ยงประเด็นที่จะจัดการปัญหาคุณภาพข้าวมากกว่า เพื่อที่จะทำให้คนมาสนใจเรื่องห้องทดลอง คนมาสนใจเรื่องว่าเราทำจริงมั้ย หรือคนสนใจว่าเราเอาเงินจากไหนมาทำการทดสอบขนาดนี้ จริงๆ ก็ต้องบอกเลย เรายินดีเปิดเผย มูลนิธิมีเงินมาจากสามส่วนหลักๆ ที่สำคัญ หนึ่ง คนที่เป็นสมาชิกของมูลนิธิแล้วก็บริจาคเงินสนับสนุนผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ส่วนที่สอง คือคนที่มาใช้สิทธิจำนวน 3,803 ราย คนกลุ่มนี้เป็นคนที่บริจาค หลังจากที่เขาชนะหรือประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาของตัวเอง ส่วนที่สามนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนเบื่อมากในองค์กร ก็คือการทำโครงการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐและยังต้องทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องบอกว่าขณะนี้เราจึงไม่ได้เป็นอิสระซะทีเดียว

เรามีความคาดหวังไม่ต่างจากองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เราอยากเห็นว่าผู้บริโภคเป็นคนสำคัญที่สนับสนุนการทำงานขององค์กรผู้บริโภค เราอยากเห็นว่าคนเป็นสมาชิกของมูลนิธิมากขึ้น เป็นสมาชิกของนิตยสารมากขึ้น ซึ่งขณะนี้เราก็พยายามขยายช่องทาง เช่นคุณสามารถสมัครนิตยสารฉลาดซื้อได้เลยที่เซเว่นอีเลฟเว่น ก็น่าจะทำให้เราได้สมาชิกมากขึ้น ซึ่งการเป็นสมาชิกมันมีความหมายนะ นอกจากคุณจะได้มีข้อมูลในเรื่องการบริโภค ยังเป็นการทำให้เสียงของผู้บริโภคดังขึ้น อย่างในขณะนี้เรามีสมาชิกไม่มาก เวลาพูด เสียงอาจจะไม่ดัง แต่ถ้าเรามีสมาชิกเหมือนบางประเทศที่มีเป็นแสนเป็นล้าน อย่างอเมริกามีสมาชิก 7 ล้านคนนะ เขาซื้อรถมาขับชนได้เลย ปีที่แล้วมีคน เล่าให้ฟังว่าเขาซื้อรถมาทดสอบ 64 คัน เพื่อที่จะบอกว่าผู้บริโภคควรเลือกรถยี่ห้ออะไร

แล้วมันจะทำให้องค์กรผู้บริโภคเป็นอิสระ สมมติว่าเราให้หน่วยงานใดหน่วยงาน หนึ่งทดสอบ ที่ผ่านมาก็เห็นว่าเขาอาจจะไม่กล้าเปิดเผย กลัวกระทบกับนโยบายของรัฐบาล อะไรต่ออะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ควรจะเป็นจริงๆ คือ ต้องเป็นอิสระ และต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคเอง

เห็นว่าจะมีการจัดคอนเสิร์ตระดมทุนด้วย?         

เราได้รับความกรุณาจากอาจารย์ หลี่หยาง หลี่ฮุย ผ่านการช่วยเหลือของ กรรมการมูลนิธิคือ คุณปนัดดา เลิศล้ำอำไพ และคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง สองท่านนี้รู้จักอาจารย์หลี่หยางเป็นการส่วนตัว แล้วอาจารย์ หลี่หยางบอกว่าอยากช่วย ท่านเองก็ไม่ได้จัดคอนเสิร์ตมานาน ก็มาเจอกัน แล้วอาจารย์ก็กรุณาเล่นให้ 4 วัน คือตั้งแต่วันที่ 5-8 สิงหาคม เวลา 19.30 น.ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยรายได้ทั้งหมดหักค่าใช้จ่ายแล้วอาจารย์ให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหมดเลย เพราะฉะนั้นถ้าใครไปดูก็จะได้มีโอกาสสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิ คือ เราคิดว่าตรงนี้สำคัญนะ เอ็นจีโอก็ดี องค์กรผู้บริโภคก็ดี มักจะถูกกล่าวหาเสมอว่าเรารับเงินต่างชาติมาเล่นงานรัฐบาล ซึ่งอันนี้มันเป็นข้อกล่าวหาที่มีอยู่เนืองๆ แต่ต้องบอกเลยนะว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเราไม่รับเงินต่างประเทศเลยมามากกว่า 20 ปี คือสมัยที่เป็นคปอส. เราเคยรับเงินจากองค์กร bread for the world แต่หลังจากปี 2530 ที่เราเริ่มทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจริงจัง ก็รู้สึกว่าเราทำงานกับคนที่มีอันจะบริโภค คนที่มีกำลังซื้อน่ะ เราเชื่อว่าผู้บริโภคเห็นความสำคัญก็จะมาสนับสนุนกิจกรรมของเราเอง         

ตอนนี้ช่องทางในการหลวกลวงผู้บริโภคมีมากขึ้น คิดว่าองค์กรที่มีอยู่ไล่ตามแก้ปัญหาทันไหม          

เราคาดหวังว่าหน่วยงานของรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ต้องมีมาตรการเชิงลงโทษบ้าง ไม่ใช่ปรับอยู่อย่างนี้ ยังไง ก็อยู่แค่นี้ไม่ได้ อย่างเช่นเรื่องโฆษณา จริงๆ เราก็เสนอไปสักสองปีได้แล้ว เพราะเราเคยสำรวจร่วมกับเครือข่ายต่างจังหวัด เรื่องโฆษณาทั้งในวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม พบว่า 90% โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ขออนุญาต แล้วที่เขาโฆษณาก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย เกินจริงบ้าง เป็นเท็จบ้าง โอ้อวดบ้าง หลอกลวงบ้าง อะไรอย่างนี้ หรือโฆษณาผิดกฎหมาย เช่น เป็นอาหารแต่โฆษณาเป็นยา อะไรแบบนี้

เราส่งข้อมูลชุดนี้ไปให้กสทช. แล้วเราก็เสนอไปว่า อย่างน้อยสิ่งที่คุณควรจะทำคือ เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ ครั้งแรกยอมรับได้ถ้าคุณจะเตือน ครั้งที่สองต้องปรับอย่างแรง ปรับสูงสุดเท่าที่กฎหมายอนุญาต ครั้งที่สามถ้ายังทำผิดซ้ำขอให้ปิดรายการ แต่ถ้ายังมีอีกขอให้ปิดสถานี เพราะไม่อย่างนั้น คุณไม่มีวันตามทันเคเบิ้ลทีวี 400 ช่อง เดี๋ยวจะมีดิจิทัลอีก 48 ช่อง วิทยุชุมชนอย่างน้อยจังหวัดละ 200 สถานี คุณจะเอาแรงงานที่ไหนไปเฝ้าฟัง ถ้าไม่จัดการให้ทุกคนเห็นว่า สิ่งที่กำลังทำนับจากนี้จะเด็ดขาด ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายต้องตรงไปตรงมา เข้มแข็ง เข้มงวด          

ทัศนคติของผู้บริโภคเองเป็นอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน         

บางทีเรื่องผู้บริโภคก็ไปเกี่ยวข้องกับกิเลสของมนุษย์ เรื่องอยากสวย อยากรวย อยากผอม มันเป็นกันทุกคน เพียงแต่ว่ามันจะฉลาดหรือเท่าทันได้อย่างไร แล้วก็ไม่ใช่ปล่อยให้เว่อร์มากจนรับกันไม่ได้ เช่น เคสที่เราเจอแรงที่สุดก็คือ คนดูโฆษณาแล้วเชื่อแล้วก็กินแล้วก็เสียชีวิต อันตรายต่อผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องลักซ์ชัวรี่ เรื่องชอยซ์เป็นเรื่องที่ตามมา         

พอจะมีคาถาให้ผู้บริโภคใช้ในการดูแลตัวเองไหมคะ         

 ผู้บริโภคต้องอย่ารอคนอื่น ผู้บริโภคต้องใช้ข้อมูลให้มาก พึ่งตัวเองท่ามกลางข้อจำกัดของหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หาข้อเท็จจริงให้มากในเรื่องนั้นๆ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ดูแลตัวเอง แล้วถ้ามีปัญหา อย่าเฉย ต้องจัดการ จะได้ป้องกันไม่ให้คนอื่นเจอแบบเรา ที่สำคัญต้องสนับสนุนพลังของผู้บริโภคด้วยกัน

อยากจะบอกว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่ในปัจจุบันมันเป็นความทุกข์ร่วมกันของทุกคน มันจะทำให้คนหลุดพ้นจากความเป็นขั้ว เพราะไม่ใช่ว่าพอขั้วนี้ของเราแล้วเราไม่ทำอะไร เราไม่ตรวจสอบ สิ่งที่พวกองค์กรพัฒนาเอกชนทำงานในประเด็นที่เป็นเรื่องราวต่างๆ ทางสังคม ไม่มีขั้ว เรายืนอยู่บนความทุกข์ ในเรื่องนั้นๆ แต่ละประเด็น เพราะฉะนั้น ต้องมาช่วยกัน ไม่ใช่เรื่องสี เรื่องขั้ว แต่เป็นเรื่องความทุกข์ของคนในสังคมบริโภคปัจจุบัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 กรกฎาคม 2556