ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากนโยบายของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ในการแก้ปัญหาสภาพคล่องของหน่วยบริการ โดยให้มีการคำนวณต้นทุนต่อหน่วย เพื่อคำนวณรายรับ รายจ่าย และหาว่าต้นทุนของหน่วยบริการเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้นำมาวางแผนปรับระบบบริการให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดย สปสช.และสธ.ได้คำนวณต้นทุนต่อหน่วยจากข้อมูลตั้งแต่เดือน ก.ค.2555-มิ.ย.2556 จากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โดยจัดกลุ่มร.พ.เป็น 6 กลุ่มตามขนาดร.พ. เรียงลำดับแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ ก่อนวิเคราะห์ส่วนต่างรายได้ต่อรายจ่าย และใช้เป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของระบบบริการ โดยจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ดสปสช.) ต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า จากการคำนวณส่วนต่างรายได้ต่อรายจ่าย เฉพาะร.พ.ที่มีข้อมูลครบถ้วน 687 ร.พ. คิดเป็นร้อยละ 82.28 จาก 835 ร.พ. แบ่งเป็น 4 กลุ่ม พบว่า 1.กลุ่มร.พ.ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และได้รับความยากลำบากตามประกาศของ สธ. มี 161 แห่ง จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทันที ภาพรวมรายได้หักรายจ่ายติดลบอยู่ 1,625.07 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ในร.พ.ขนาด 10-30 เตียง 2.กลุ่มต้นทุนต่อหน่วยอยู่ลำดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ 0-50 จำนวน 275 แห่ง รายได้หักรายจ่ายภาพรวมเป็นค่าบวกสุทธิ 602.13 ล้านบาท 3.กลุ่มที่มีต้นทุนต่อหน่วยลำดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ 50-75 จำนวน 129 แห่ง เงินรายได้หักรายจ่ายภาพรวม ติดลบสุทธิ 1,305.16 ล้านบาท และ 4.กลุ่มที่มีต้นทุนลำดับช่วงเปอร์เซ็นต์ไทล์ 75-100 จำนวน 122 แห่ง เงินรายได้หักรายจ่ายภาพรวม ติดลบสุทธิ 1,697.72 ล้านบาท โดยพบว่าหน่วยบริการที่มีต้นทุนต่อหน่วยสูงอยู่ช่วงเปอร์เซ็นต์ไทล์มากกว่า 75 ขึ้นไป จะมีส่วนต่างรายได้หักรายจ่ายสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

"ภาพรวมทั้ง 687 แห่ง มีรายได้หักรายจ่ายติดลบ 4,025.82 ล้านบาท แต่เป็นตัวเลขประมาณการ ยังไม่ได้นำข้อมูลรายรับมาคำนวณ โดยตัวเลขดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของระบบต่อไป" รายงานข่าวระบุ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 20 สิงหาคม 2556