ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ - ปัจจุบันผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ หรือต้องการทำการรักษาด้วยโรคต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้โรงพยาบาลทุกแห่งเกิดปัญหาเรื่องของการรักษาที่ไม่ทัน หรือ รักษาได้ล่าช้าลง เพราะจำนวนคนไข้ที่มากกว่าบุคลากรของโรงพยาบาล ซึ่งล่าสุดทางโรงพยาบาลนครพิงค์ได้มีการนำแอพพลิเคชั่นของโทรศัพท์ที่เรียกว่า "แอพพลิเคชั่น ไลน์" มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยทางไกล โดยลดภาระค่าใช้จ่ายในการส่งต่อผู้ป่วย รักษาผู้ป่วยได้รวดเร็ว และยังเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้กับแพทย์ในชุมชนด้วย

นายแพทย์วิรัช พันธ์พานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือเรียกว่า เซอร์วิส แพลน (Service ฮํโnฆ ขึ้นเพื่อดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชน ซึ่งในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แพร่ พะเยา ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน มีประชากรรวม 5 ล้านกว่าคน ซึ่งบางโรงพยาบาลนั้นจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการประสานงานกันอย่างดีเพื่อส่งต่อผู้ป่วยในการรักษาได้อย่าง รวดเร็ว และมีระบบการดูแลผู้ป่วยและประชาชนเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับพื้นฐานทั่วไป ขึ้นไปจนถึงระดับเชี่ยวชาญ สำหรับในปัจจุบันจะเห็นว่าเทคโนโลยีด้านการสื่อสารนั้นก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะเห็นว่ามีการนั่งแชตกันผ่านทางโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงคิดหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรในการนำมาใช้ได้บ้าง กระทั่งคิดถึงแอพพลิเคชั่น "ไลน์" (Line Application) ที่ทุกคนคุ้นเคยและมีกันอยู่แล้ว นำมาใช้ เพราะไลน์นั้นสามารถคุยกันได้ทั้งผ่านทางเสียง หรือส่งไฟล์ภาพ ไฟล์วิดีโอ ได้สะดวกด้วย จึงนำมาใช้ในการตั้งกลุ่มของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน โดยมีโรงพยาบาลนครพิงค์เป็นศูนย์กลาง ที่คอยให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งได้เน้นเรื่องของสาขาศัลยกรรมกระดูกเป็นหลัก เพราะว่าจะเห็นฟิล์มเอกซเรย์ได้ชัดเจนว่าบาดเจ็บตรงไหน กระดูกแตกหรือได้รับบาดเจ็บอย่างไร โดยมีแพทย์เข้าร่วมในปัจจุบันแล้ว 86 ราย และให้คำปรึกษาผ่านทางไลน์ไปแล้ว 73 คน และสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยจำนวน 42 ราย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งสะดวก รวดเร็วในด้านการรักษา ไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วย เพื่อเพิ่มภาระให้กับผู้ป่วย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวผู้ป่วยได้ปีละ 35 ล้านบาท เพราะการเดินทางมาครั้งหนึ่งต้องคิดถึงเรื่องของค่าเดินทาง แล้วยังต้องมีบุคลากรติดตามมาด้วย ก็จะทำให้บุคลากรขาดแคลนอีกในระหว่างนั้น แล้วเมื่อมีการปรึกษาผู้ป่วยในแต่ละครั้ง ผู้ที่รอคำตอบด้านการรักษาก็จะได้วิธีการรักษาที่ถูกต้อง และผู้ที่ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์เหมือนกับที่เกิดขึ้น ก็จะได้เรียนรู้ไปด้วยในตัวว่า หากมีผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลตนเองจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเป็นเหมือนกับการเรียนรู้เพิ่มเติมจากสถานการณ์จริงไปใน ตัวด้วย

ด้าน นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ โสภณ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยว่า ตนได้พร้อมกับ นายแพทย์พิรุณ คำอุ่น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ และนายแพทย์ สำราญ ภูฆัง นายแพทย์ชำนาญการของโรงพยาบาลนครพิงค์มีการปรึกษาร่วมกันมาตลอด กระทั่งได้มีการทดลองใช้ และเริ่มรวบรวมแพทย์ของโรงพยาบาลตั้งกลุ่มขึ้นมา ก่อนจะกระจายไปยังโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลในจังหวัดอื่นๆ เพราะเห็นว่าปัจจุบันแอพพลิเคชั่นไลน์ ถือว่าใช้สะดวกที่สุด แล้วอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นได้ทุกวัน วันหนึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก จากการประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะบนท้องถนน หรือพลัดตกจากที่สูง และอื่น ๆ ซึ่งการรักษาและให้คำปรึกษาผ่านทางไลน์นั้น เปรียบเสมือนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปรักษาเอง เพราะทางโรงพยาบาลชุมชนนั้น เมื่อก่อนหากไม่มั่นใจในเรื่องของการบาดเจ็บของผู้ป่วย ก็จะส่งต่อมา ทำให้เตียงของโรงพยาบาลนครพิงค์ไม่เพียงพอ แต่เมื่อมีการปรึกษาทางไลน์เกิดขึ้น แพทย์ในชุมชนต่าง ๆ ก็จะส่งภาพมาทางไลน์ พร้อมกับคำปรึกษา และข้อมูลของคนไข้ ที่จะบอกเพียงว่า เป็นชาย หรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ พร้อมอายุ โดยจะไม่บอกชื่อจริง เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของคนไข้ และป้องกันไม่ให้ประวัติคนไข้รั่วไหลออกไป พร้อมกับบอกว่าได้รับ บาดเจ็บอะไรบ้าง จากนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ก็จะเข้าไปดูภาพที่ส่งมา แล้วบอกว่าอาการหนักแค่ไหน จะต้องส่งต่อหรือไม่ หากรักษาได้โดยไม่ส่งต่อ ก็จะแนะนำวิธีการรักษาให้เพื่อรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนได้เลย แต่หากไม่ได้และจำเป็นต้องส่งต่อมาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ทางแพทย์ก็จะได้เตรียมอุปกรณ์เพื่อรองรับไว้ล่วงหน้า

นอกจากนี้การใช้แอพพลิเคชั่น "ไลน์" ยังมีผลดีในเรื่องของอุบัติเหตุขนาดใหญ่ เหมือนรถพลิกคว่ำ มีผู้บาดเจ็บหลายราย ก็จะสามารถประเมินสถานการณ์ของผู้บาดเจ็บจากที่เกิดเหตุได้ทันที เพราะแพทย์จะส่งภาพมาให้ว่าผู้บาดเจ็บนั้นแต่ละรายอาการเป็นอย่างไร รายไหนต้องส่งต่อไปที่ไหน ก็จะแนะนำได้ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วอีกด้วย ซึ่งในอนาคตก็จะได้เชิญอาจารย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์เฉพาะทางมาร่วมให้คำปรึกษากับแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนด้วย.--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันที่ 18 กันยายน 2556