ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เอฟทีเอไทย-อียู ปิดฉากเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู รอบ 2 "โอฬาร" ยื่นข้อเสนอนอกรอบให้ 2 ฝ่ายร่วมลงทุนวิจัย-พัฒนา ผลิตและจำหน่ายยาร่วมกัน หวัง แก้ปัญหาการเข้าถึงยาที่มีราคาแพงของภาคประชาชน ตั้งเป้ามีการถ่ายโอนเทคโนโลยีผลิตจำหน่ายยาราคาถูก

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (FTA ไทย-อียู) ครั้งที่ 2 ระหว่าง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย กับ Mr.Joao Agular Machado รองปลัดกระทรวงการค้า คณะกรรมาธิการการค้ายุโรป หลังจากที่เจรจากันมาเป็นเวลา 5 วัน (16-20 กันยายน 2556) ท่ามกลางการจับตามองอย่างใกล้ชิดจากเครือข่ายภาคประชาสังคมไทย

หลังการเจรจารอบ 2 สิ้นสุดลง คณะผู้แทน ไทยได้ออกแถลงการณ์ผลเจรจารอบนี้มีสาระสำคัญ มีการเจรจากันหลายเรื่อง ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าและบริการ, การลงทุน, มาตรการสุขอนามัยและ สุขอนามัยพืช, อุปสรรคทางเทคนิค ทางการค้า, กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้า, พิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, ทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, มาตรการเยียวยาทางการค้า และการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนการเจรจาทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ การประชุมรอบนี้ คณะเจรจาฝ่ายไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนายา ซึ่งอาจจะใช้ พื้นฐานของโครงการที่สหภาพยุโรปได้ดำเนินการหรือมีความร่วมมือกับไทยอยู่แล้วมาพัฒนาให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนสามารถผลิตเป็นยาเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเจรจารอบนี้ บางเรื่องเป็นเรื่องใหม่ของทั้ง 2 ฝ่าย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของทั้งสองฝ่าย แต่จะเป็นส่วนหนึ่งในการค้าเสรี ส่วนหัวข้อการเปิดตลาดสินค้า กำลังดูรายการสินค้าว่าจะลดภาษีอย่างไร โดยมีเป้าหมายให้เปิดตลาดมากที่สุด และลดภาษีนำเข้าระหว่างกันลงได้มากที่สุด

สำหรับความกังวลเรื่องการขยาย ระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาจะกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนนั้น ฝ่ายไทยยังคงให้ความสำคัญกับประชาชนในการเข้าถึงยา โดยแนวทางการเจรจา จะยึดหลักความตกลง TRIPs เป็นหลักและจะมีความยืดหยุ่นตามปฏิญญาโดฮา

"คณะเจรจาฝ่ายไทยมีข้อเสนอ นอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ เราได้เสนอว่าควรจะมีความร่วมมือ ร่วมลงทุนวิจัยและพัฒนา ด้านผลิตและการจัดจำหน่ายยาในไทยและอาเซียน ซึ่งอาจจะใช้พื้นฐานของโครงการที่อียูทำอยู่มาพัฒนา ซึ่งทางอียูก็ยอมรับ"

โดยการเตรียมรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ทางคณะเจรจาฝ่ายไทยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตไทยและ ต่างประเทศ องค์กรเภสัชกรรม และทาง ผู้ผลิตยารายใหญ่จากสหภาพยุโรปมาพิจารณาร่วมกันให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมจนกว่าจะแน่ใจว่าจะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยี และเมื่อผลิตสำเร็จแล้วจะต้องมั่นใจว่าจะมีการจำหน่ายจ่ายแจกยานั้นให้กับประชาชนในราคาถูก

ส่วนการหารือในประเด็นการรักษาพันธุ์พืชที่เป็นภูมิปัญญาของไทย ดร.โอฬารกล่าวว่า รัฐบาลไทยมีการดำเนินการแก้กฎหมายพันธุ์พืชเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนไทยอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้สหภาพยุโรปมาเรียกร้องให้เราเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา UPOV 1991  ส่วนเรื่องการลงทุนที่ภาคประชาชนเสนอให้เป็นไปตามกรอบที่ผ่านรัฐสภา 8 กันยายน 2553 นั้น ทั้งสองฝ่ายมีการหารือกรณีที่มีข้อขัดแย้งว่าจะมี (Settle) กระบวนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทอย่างไร เพราะวิธีการมีหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีแนวทางอื่นด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) ได้ยื่นหนังสือต่อ Mr.Joao Aguiar Machado หัวหน้าคณะเจรจาสหภาพยุโรป ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2556 แสดงความไม่เห็นด้วยกับท่าทีสหภาพยุโรปที่กดดันประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยผ่านทางการเจรจา FTA ด้วยข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าการเจรจาเปิดเสรีใน WTO ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยา-การผูกขาดพันธุ์พืช-การระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ และการจำหน่ายเหล้า-บุหรี่โดยปราศจากการควบคุม

นายจักรชัย โฉมทองดี กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับท่าทีของ Mr.Machado ที่ไม่ได้แสดงออกมาเลยว่าจะยืดหยุ่นในประเด็นที่ไทยกังวล ทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา เมล็ดพันธุ์พืช การคุ้มครองการลงทุน และการเปิดตลาดสุรา โดยคณะเจรจาสหภาพยุโรปกลับโยนหัวข้อที่น่ากังวลเหล่านี้มาเป็นภาระให้ฝ่ายไทย อาทิ การระบุว่า "คนไทยกินเหล้าเยอะ ไม่ใช่เหล้านอก แต่เป็นเพราะเหล้าไทย จึงขอให้ไทยไปจัดการปัญหากันเอง" ส่วนเรื่องยาราคาแพงนั้น "ก็ไม่ใช่เพราะ อียู แต่เป็นเพราะภาษีนำเข้าและวิธีการจัดจำหน่ายยาในไทยต่างหาก"

ล่าสุดทางเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยได้ยื่นหนังสืออีกฉบับเรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบล ประเทศนอร์เวย์ เพิกถอนรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่มอบให้สหภาพยุโรปในปี 2555 เนื่องจากพฤติกรรมของสหภาพยุโรป (4 ข้อตามข้อเรียกร้องข้างต้น) ขัดกับบทบาทการเป็น ผู้ส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่ทำให้อียูได้รับรางวัลดังกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 - 25 ก.ย. 2556