ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประชาชาติธุรกิจ -การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป หรือ FTA ไทย-อียู รอบ 2 ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แม้เจตนารมณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายต้องการให้เป็นการเจรจากันอย่างเงียบ ๆ แต่ไม่วายที่จะถูกภาคประชาสังคมในนามเครือข่าย 25 องค์กรจับตามองอย่างใกล้ชิด ด้วยการมาออกมาเคลื่อนไหวยื่นหนังสือแสดงท่าทีของภาคประชาชนในประเด็นความกังวลที่ว่า ไทยจะให้อำนาจผูกขาดทางการตลาดแก่เจ้าของข้อมูลยา (Data Exclusivity) เกินไปกว่าข้อตกลง TRIPs ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงยาของประชาชนและยามีราคาแพงขึ้น

หลังการเจรจาจบลง "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ นายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย เพื่อสรุปผลการเจรจารอบนี้

ภาพรวมการเจรจา

การเจรจารอบที่ 2 ทั้งสองฝ่ายได้ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง บางเรื่องที่เป็นเรื่องใหม่ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของทั้งสองฝ่าย เรายังไม่เคยเจรจาเรื่องนี้กับใคร ในประเด็นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการค้าเสรีที่จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนอียูสามารถเข้ามาขายสินค้าและบริการในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ อย่างไรก็ตาม รอบนี้ยังเพียงเป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงโครงสร้างของหน่วยราชการไทยว่า มีกี่ระดับ เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ไทยก็ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของหน่วยงานราชการในสหภาพยุโรปที่มีถึง 28 ประเทศด้วยว่าจะมีลักษณะอย่างไร

พร้อมกันนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือถือความคืบหน้าในหัวข้อเจรจา 14 ประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปิดตลาดสินค้า ก็ต้องดูรายการสินค้าว่าจะลดภาษีอย่างไร โดยมีเป้าหมายให้เปิดตลาดมากที่สุด และลดภาษีนำเข้าระหว่างกันลงได้มากที่สุด ส่วนการเจรจารอบที่ 3 จะเริ่มในเดือนธันวาคมนี้ที่บรัสเซลส์ ก็จะเริ่มลงลึกไปในกรอบการเจรจาแต่ละประเด็น เพื่อให้เสร็จสิ้นภายใน 7 รอบ หรือในปลายปี 2558

ความกังวลเรื่องยา

ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และความกังวลที่มีต่อประเด็นการขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่จะกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนนั้น เรายังคำนึงถึงการให้ความสำคัญกับประชาชนในการเข้าถึงยา โดยแนวทางการเจรจาจะยึดหลักความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (TRIPs) เป็นหลัก และจะมีความยืดหยุ่นตาม ปฏิญญาโดฮาเรื่องเกี่ยวกับ TRIPs และสาธารณสุข

ความยืดหยุ่นของโดฮาคืออะไร

ความยืดหยุ่นตามปฏิญญาโดฮา หมายถึง แต่ละฝ่ายพยายามเจรจาและทำความเข้าใจในข้อจำกัดซึ่งกันและกันในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ซึ่งไทยหมายถึงประชาชนผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงยา เรื่องนี้เราต้องมีข้อเสนอนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ ในรอบนี้เราได้เสนอว่า ควรจะมีความร่วมมือ-ร่วมลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านผลิตและการจัดจำหน่ายยาในไทยและอาเซียน ซึ่งอาจจะใช้พื้นฐานของโครงการที่อียูทำอยู่มาพัฒนาให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี จนสามารถผลิตเป็นเภสัชภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็น รูปธรรมและสอดคล้องกับบริบทของ ไทย ซึ่งทางอียูก็ยอมรับ

ทางคณะเจรจาได้ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตไทยและต่างประเทศ องค์กรเภสัชกรรม และทางผู้ผลิตยารายใหญ่จากสหภาพยุโรปมาพิจารณาร่วมกัน ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมจนกว่าจะแน่ใจว่าจะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิตยา และเมื่อผลิตสำเร็จแล้วจะต้องมั่นใจว่าจะมีการจำหน่ายจ่ายแจกยาให้กับประชาชนในราคาถูก

ใช่การส่งเสริมลงทุน (BOI) หรือไม่

FTA จะเป็นกรอบเชิญชวนให้มาลงทุนวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมาทำข้อตกลงว่า เสร็จแล้วจะแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร ต้องนำไปยื่นขอ BOI หรือทาง BOI ต้องออกกฎระเบียบอะไรเพื่อเอื้อต่อการลงทุนนี้ เช่นเดียวกับการขุดเจาะปิโตรเลียมต้องผ่านข้อตกลงกับกระทรวงพลังงานแล้วยังต้องมีเงื่อนไขของ BOI ด้วย เรื่องนี้ถือเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ ทางรัฐบาลไทยจำเป็นต้องดูแลผลประโยชน์ของคนไทย เราไม่ใช่ประเทศที่ต้องไปกราบกรานให้ต่างชาติ เข้ามาลงทุน เราเป็นประเทศที่มีรายได้ ปานกลาง ในหลายธุรกิจของเราก็ไปลงทุนในสหภาพยุโรป เช่น กลุ่ม CENTRAL TUF ดังนั้นประเทศไทยไม่ใช่ผู้รอรับการลงทุน แต่เรามีธุรกิจที่เข้มแข็งและพร้อมจะออกไปลงทุน การเจรจา FTA จะต้องเป็นประโยชน์กับนักลงทุนเราด้วย และต้องปกป้องคุ้มครองธุรกิจต่างประเทศที่มาลงทุนไทยควบคู่กันไป

การผูกขาดพันธุกรรม

การรักษาพันธุ์พืชที่เป็นภูมิปัญญาของไทย ผมยืนยันว่า ทางเรามีการดำเนินการแก้กฎหมายพันธุ์พืชเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนไทยอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้อียูมาเรียกร้องให้เราเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา UPOV 1991 การปรับปรุงพันธุ์พืชเราคำนึงถึงประโยชน์ของเรา ความต้องการของเรา ชาวบ้านจะต้องใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชได้มากกว่า ไม่ใช่ถูกจำกัด

เรื่องการคุ้มครองนักลงทุน

เราพยายามหารือกรณีที่มีข้อขัดแย้งว่า จะมี (Settle) กระบวนการแก้ไขปัญหา ข้อพิพาทอย่างไร เพราะวิธีการมีหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีแนวทางอื่นด้วย เช่น สามี-ภรรยาทะเลาะกัน ก็ไม่จำเป็นต้องจูงมือกันขึ้นศาล แต่มีบุคคลที่ 3 มาไกล่เกลี่ยก็ได้ เป็นต้น ส่วนประเด็นโทรคมนาคมซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มบริการ รอบนี้ยังไม่มีการหารือกัน คาดว่าจะมีการยื่นข้อเรียกร้องรายชื่อบริการที่ต้องการเปิดเสรีระหว่างกันในการเจรจารอบที่ 3

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 - 29 ก.ย. 2556